ทฤษฎีการลงโทษและอาชญากรรม

ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control) เป็นทฤษฎีที่มุ่งเน้นด้านประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ทฤษฎีนี้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อการบังคับใช้กฎหมายจะต้องมีความรวดเร็ว และแน่นอน (ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน หรือหากมีการหลุดรอดไปต้องให้มีจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้)[1]

ทฤษฎีการลงโทษ แนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการลงโทษในปัจจุบัน มี 3 ทฤษฎี ดังนี้

  1. ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน (Retribution) ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนเป็นทฤษฎีที่มีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยวัตถุประสงค์ในการลงโทษผู้กระทำความผิดตามทฤษฎีแก้แค้นทดแทน เพื่อแก้แค้นทดแทน หรือทดแทนให้กับผู้เสียหายและสังคม เป็นการลงโทษเพื่อให้สอดคล้องกับความรู้สึกของผู้เสียหายและสังคม กล่าวคือ โดยทั่วไปเมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้นผู้เสียหายและสังคม มักจะต้องการให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษอย่างสาสมกับความผิดที่ได้กระทำขึ้น ตามหลัก “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ดังนั้น ความรุนแรงของการลงโทษต้องได้สัดส่วนกับการแก้แค้นผู้กระทำผิดเอง แต่ต่อมา รัฐเข้ามาเป็นผู้ลงโทษผู้กระทำผิดเสียเอง เนื่องจาก การแก้แค้นกันเองก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม เพราะมีการแก้แค้นกันไปมาไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยผู้ที่อ่อนแอ ซึ่งไม่สามารถแก้แค้นผู้กระทำผิดด้วยตนเองได้ให้ได้รับความยุติธรรมเช่นเดียวกัน[2]
  2. ทฤษฎีการลงโทษเพื่อการข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence) ทฤษฎีนี้เชื่อว่า การลงโทษผู้กระทำความผิดให้บุคคลอื่นเห็นเป็นตัวอย่างสามารถยับยั้ง หรือข่มขู่ผู้กระทำความผิด และบุคคลอื่นให้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้ากระทำความผิด เนื่องจากเกรงว่า จะได้รับโทษ ดังนั้น การลงโทษผู้กระทำความผิด จึงมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อยับยั้งหรือข่มขู่ผู้กระทำความผิดมิให้กระทำผิดซ้ำอีก เพราะเกรงกลัวว่า จะได้รับโทษเช่นเกี่ยวกับที่ตนเคยได้รับมาแล้ว และประการที่สอง เพื่อยับยั้ง หรือข่มขู่ผู้อื่นมิให้กระทำความผิด เนื่องจากเกรงว่า จะได้รับโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ดี การลงโทษเพื่อการข่มขู่ยับยั้งมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำที่มีประสิทธิภาพ ควรมีลักษณะ 3 ประการ คือ
    1. ประการที่ 1 การลงโทษต้องทำความรวดเร็ว
    2. ประการที่ 2 ต้องมีความแน่นอนในการลงโทษ หมายความว่า เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น ผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอนไม่มีการยกเว้น
    3. ประการที่ 3 การลงโทษต้องมีความรุนแรงเพียงพอ หมายความว่า ผลร้ายที่เกิดจากการลงโทษผู้กระทำความผิดต้องมากกว่าผลดีที่ผู้กระทำความผิดได้รับจากการกระทำความผิด[3]
  3. ทฤษฎีการลงโทษเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด (Rehabilitation) ตามทฤษฎีนี้วัตถุประสงค์ในการลงโทษผู้กระทำความผิด เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้กลับตัวเป็นคนดีของสังคม โดยวิธีการในการลงโทษตามทฤษฎีนี้ต้องเริ่มจากการหาสาเหตุของการกระทำความผิด หลังจากนั้น จึงหามาตรการในการแก้ไขให้เหมาะสมกับผู้กระทำความผิด โดยหลักการลงโทษผู้กระทำความผิดโดยการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดมีหลายประการ เช่น การหลีกเลี่ยงการลงโทษจำคุกระยะสั้น เพราะการจำคุกระยะสั้น นอกจาก จะไม่สามารถแก้ไขผู้กระทำความผิดให้กลับตัวเป็นคนดีได้แล้ว ยังส่งผลเสียต่อผู้กระทำความผิดด้วย เนื่องจาก ผู้กระทำความผิดอาจเข้าไปเรียนรู้วิธีการก่ออาชญากรรมจากเรือนจำได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงโทษจำคุกระยะสั้น โดยอาจใช้วิธีการกักขัง หรือรอการลงโทษ หรือการคุมประพฤติ เป็นต้น นอกจากนั้น ระยะเวลาในการลงโทษต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ให้ในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด และเมื่อผู้กระทำความผิดสามารถกลับตนเป็นคนดีแล้วให้หยุดการลงโทษ เพราะไม่มีประโยชน์ในการลงโทษอีกต่อไป โดยผู้กระทำผิดที่สามารถกลับตนเป็นคนดีแล้วควรที่จะได้รับการพักการลงโทษ (Parole)[4]

[1] สุพิศาล ภักดีนฤนาค. 4 dimensions การบริหารงานสืบสวน : กองปราบปราม. นนทบุรี : กรีนแอปเปิ้นกราฟ ฟิคปริ้นติ้ง. 2556. หน้า 33.

[2] รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์. มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2543 หน้า 36.

[3] รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์. มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2543 หน้า 37.

[4] รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์. มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2543 หน้า 38.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *