ถูกกฎหมายถูกหลักอนามัยในการเปิดร้านขายอาหาร แผงลอย

เนื่องจาก การจำหน่ายอาหารเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นทั้งที่เป็นลูกค้า หรือผู้ที่ตั้งบ้านเรือนติดกับร้านอาหารนั้น ๆ ทั้งสิ้น ถ้าอาหารที่จำหน่ายไม่สะอาด วัตถุดิบไม่ปลอดภัย ลูกค้าก็อาจเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เกิดพิษภัยจากอาหารได้ง่าย ๆ ขณะเดียวกัน ถ้าร้านไม่ดูแลของเสียที่เป็นผลจากการปรุง ประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นขยะ เศษอาหาร น้ำเสีย หรือแม้แต่กลิ่นควันก็จะมีผลกระทบต่อชุมชนที่รายล้อมร้านอาหารได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลชุมชนที่เรียกว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา ที่จะต้องรับรู้ถึงการเกิดขึ้นของร้านอาหารในชุมชน ซึ่งกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานของท้องถิ่นในการกำกับดูแลร้านอาหาร คือ “พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535”

หากผู้ใดคิดจะเริ่มประกอบกิจการร้านอาหารสักวัน สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ต้องตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมาย และต้องต้องตามสุขลักษณะ

ถูกต้องตามกฎหมาย คือ ต้องไปติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อขออนุญาตหรือจดแจ้ง หากร้านอาหารมีพื้นที่จำหน่ายรวมกับพื้นที่ปรุง ประกอบไม่เกิน 200 ตารางเมตร ผู้ประกอบการต้องติดต่อขอหนังสือรับรองการแจ้งจากท้องถิ่น แผงลอยต้องอนุญาตก่อนและต้องขายในเขตพื้นที่ที่อนุญาตเท่านั้น โดยนำหลักฐานที่ท้องถิ่นกำหนด เช่น ใบคำขอหนังสือรับรองการแจ้งสำเนาบัตรประจำตัวและสำเนาทะเบียนบ้านหรืออื่น ๆ ไปติดต่อแจ้งกับท้องถิ่น เมื่อแจ้งแล้วผู้ประกอบการสามารถดำเนินการจำหน่ายอาหารได้ทันที และภายใน 7 วันหากหลักฐานที่ส่งไปครบถ้วนทางท้องถิ่น จะต้องออกหนังสือรับรองการแจ้งให้

หน้าที่ของผู้ประกอบการ คือ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการแจ้งตามอัตราและเวลาที่ท้องถิ่นกำหนด ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดปีละครั้ง หนังสือรับรองการแจ้งนี้ไม่ต้องแจ้งต่ออายุรายปีแต่ต้องแจ้งเมื่อจะเลิกกิจการ แต่ถ้าเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่พื้นที่มากกว่า 200 ตารางเมตร มีโอกาสในการก่อผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคและชุมชนมากกว่าร้านเล็ก จึงต้องผ่านการตรวจสภาพจากท้องถิ่นและได้รับการอนุญาตก่อนเริ่มประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการต้องไปยื่นคำขออนุญาตที่ท้องถิ่นพร้อมหลักฐานที่ท้องถิ่นกำหนดเช่นกัน จากนั้น ภายใน 30 วัน ท้องถิ่นจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสภาพความเหมาะสมของสถานที่ประกอบการความถูกสุขลักษณะ เพื่อพิจารณาให้ใบอนุญาต ใบอนุญาตในการจำหน่ายอาหารนี้ กฎหมายกำหนดให้มีอายุ 1 ปี ดังนั้น ทุกปีก่อนถึงวันสิ้นอายุใบอนุญาตผู้ประกอบการต้องไปขอต่อใบอนุญาตพร้อมชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่ท้องถิ่นกำหนดด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *