ชะตาไม่ดี ชะตาขาดควรจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาต่ออายุเสีย

พิธีสืบชะตา เป็นพิธีกรรม มีความสุข การสืบชะตา เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ที่เชื่อกันว่า เป็นการต่ออายุหรือต่อชีวิตของคนให้ยืนยาว ให้ชีวิตกลับจากร้ายกลายเป็นดี เป็นพิธีกรรมที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการสืบต่ออายุให้ยืนยาว และเสริมสร้างความสุข ความเจริญ และสิริมงคลให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของชะตา ตลอดจนเป็นการขจัดภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย คำว่า “สืบชะตา” จึงหมายถึง การต่ออายุ การเกิด สืบชีวิตให้ยืนยาวออกไป

การสืบชะตา เพื่อให้เป็นสิริมงคลต่ออายุให้ยืนยาว และปัดเป่าสิ่งที่ชั่วร้ายหรือเภทภัยต่าง ๆ ที่ไม่ดีให้ออกไปจากบุคคล หรือสถานที่ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากธรรมเนียมของพราหมณ์ ซึ่งได้นำมาผสมผสานกับพิธีกรรมของพุทธศาสนาได้อย่างกลมกลืน

การสืบชะตาคน มีวิธีการที่อาจแตกต่างกันไปบ้างในเครื่องพิธีบางอย่าง และชื่อของเครื่องในพิธีเท่านั้น สถานที่จะจัดทำพิธีสืบชะตาจะทำในห้องโถง หากเป็นวัดก็จะจัดในพระวิหาร หรือที่ “หน้าวาง” คือ ห้องรับแขกของเจ้าอาวาส ถ้าเป็นบ้านก็จัดทำ “บนเติ๋น” คือ ห้องรับแขก ซึ่งต้องใช้ห้องกว้าง เพราะให้เพียงพอสำหรับแขกที่มาร่วมงาน หากเป็นวัดก็มีพระภิกษุสามเณรรวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ถ้าเป็นบ้านก็ต้อนรับญาติมิตรแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน แขกที่มาร่วมงานนี้โดยมากจะเป็นญาติพี่น้องลูกหลาน บางครั้งก็มีผู้สนิทสนมคุ้นเคยมาร่วมด้วย นับเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ชาวไทยนิยมทำกันในหลายโอกาส เช่น เนื่องในวันเกิด วันได้ยศศักดิ์ตำแหน่ง วันขึ้นบ้านใหม่ กุฏิใหม่ หรือไปอยู่ที่ใหม่ บางครั้งเกิดเจ็บป่วย เมื่อหมอดูทายทักว่า ชะตาไม่ดี ชะตาขาดควรจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาต่ออายุเสีย จะทำให้แคล้วคลาดจากโรคภัย และอยู่ด้วยความสวัสดีต่อไป

สถานที่ประกอบพิธีใช้บริเวณบ้านของผู้สืบชะตา โดยจะใช้ห้องโถง ห้องรับแขก ลานบ้าน ก็ได้สำหรับสิ่งของที่ต้องใช้ ไม้ง่ามขนาดเล็กนำมามัดรวมกัน มีจำนวนมากกว่าอายุผู้สืบชะตา 1 อัน, ไม้ค้ำศรียาวเท่ากับความสูงของผู้เข้าพิธี 3 ท่อน นอกจากนี้ มีกระบอกข้าว กระบอกทราย กระบอกน้ำ สะพานลวด เงิน – ทอง เบี้ยแถว (ใช้เปลือกหอยแทน) หมากแถว มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย หมอน เสื่อ ดอกไม้ธูปเทียน และมีเทียนชัยเล่มยาว 1 เล่ม ในการจัดสถานที่ใช้ไม้ค้ำศรีนำมาทำเป็นกระโจมสามเหลี่ยม ตรงกลางจะเป็นที่ว่างสำหรับวางสะตวง สิ่งของเครื่องใช้ในพิธีจะจัดที่ว่างใกล้ ๆ และกระโจมจะเป็นที่นั่งสำหรับผู้เข้าไปรับการสืบชะตา แล้ววนด้ายสายสิญจน์ สามรอบ แล้วโยงกับเสากระโจมทั้ง 3 ขา แล้วนำไปพันรอบองค์พระพุทธรูป และพระที่สวดทำพิธี

โดยปกติการสืบชะตาคนโดยทั่วไปใช้พระสงฆ์ประกอบพิธี 9 รูป ส่วนการสืบชะตาคนพร้อมกับขึ้นบ้านใหม่ใช้พระ 5 รูปขึ้นไป เพื่อสวดพระปริตร สวดชยันโต ให้ศีลให้พร ฟังเทศน์สังคหะและเทศน์สืบชะตา ตัวแทนที่เข้าไปนั่งในสายสิญจน์ คือ ผู้นำครอบครัวหรือผู้ที่อาวุโสสูงสุดในครอบครัว เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและครอบครัว

พิธีสืบชะตา พิธีกรรมพื้นบ้านเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการพบปะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างกันผ่านการให้คุณค่าของสัญลักษณ์นิยมที่เป็นปรากฏการณ์ สถานที่ และสิ่งของโดยเป้าหมายของการใช้สัญลักษณ์เหล่านี้ มักจะมุ่งหวังให้หาย หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย หลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ตนเองไม่พึงประสงค์ และตอบสนองต่อความต้องการสิ่งที่ตนเองประสงค์ มักจะให้การตอบแทนโดยการเลี้ยงขอบคุณ ซึ่งเป็นหนึ่งในการเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้คนให้มีความหวังจากการช่วยเหลือของสิ่งที่ตนศรัทธา บางครั้งอาจจะแฝงด้วยผลประโยชน์ที่เป็นสิ่งของหรือเงินที่ผู้นำกิจกรรมเก็บจากเครื่องเซ่นสังเวยต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความพึงพอใจของแต่ละบุคคล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *