จะหย่าจะแต่งจะต้องรู้ไว้ “สินสมรส – สินส่วนตัว”

ถ้าเป็นคุณจะเสียใจยกกำลังสองหรือไม่ ถ้าเกิดต้องหย่าร้างกับสามี (ภรรยา) เวลาแบ่งสินสมรสกัน ปรากฏว่า ทรัพย์สินที่พ่อแม่เรายกให้ตั้งแต่ก่อนแต่งงานแท้ ๆ กลับต้องมา “หารสอง” แบ่งให้อีกฝ่ายครึ่งหนึ่ง เพราะกลายเป็นสินสมรสไปเสียเรื่องเช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ อย่ากระนั้นเลยก่อนแต่งงานจดทะเบียนสมรส แม้จะรักกันขนาดไหนก็สมควรศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสินสมรสและสินส่วนตัวเอาไว้เพื่อความรอบคอบ และไม่ต้องมัวเหนียมกันอยู่ คุยกันตรง ๆ แบบคนที่จะมาร่วมหุ้นส่วนชีวิต เพราะทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจัง แม้ความตั้งใจเมื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร แต่ทองเคและเพชรรัสเซียก็มีเยอะนะ

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๗๔ ว่าด้วย “สินสมรส”
  • สินสมรสครอบคลุมเฉพาะสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย
  • ที่ดินและบ้านที่ได้มาระหว่างสมรสถือเป็น “สินสมรส”
  • เรื่องทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

เรื่องสินสมรส สินส่วนตัวที่กล่าวมา จัดแบ่งเป็นข้อ ๆ ไม่ยุ่งยากในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือสนใจ หลักสำคัญก็คือ โอนกรรมสิทธิ์ก่อนจดทะเบียนสมรส และเรื่องทุกเรื่องต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด แม้ในวันนี้รักมากแทบขาดกันไม่ได้ แต่ถ้าพอมีสมบัติพัสถานอยู่บ้าง จัดการให้หมดจดโดยเฉพาะเรื่องที่ดินโอนกรรมสิทธิ์เสียก่อนแต่ง แต่ถ้าพ่อแม่ยกให้ก็กราบเรียนท่านไว้ว่า กรุณาอย่าออกปาก หรือระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ไว้สร้างครอบครัว เพราะแม้โอนกรรมสิทธิ์เป็นของเรา ฝ่ายเดียวก็ยังเป็นสินสมรสได้ เรื่องนี้ปล่อยให้เป็นสิทธิของเราดีกว่า ไหน ๆ ก็จะให้เราแล้วนี่ ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกว่า ชีวิตนี้หยาบกร้านเหลือเกิน แต่ก็ช่วยให้มีภูมิต้านทาน และมีความทนทานแข็งแกร่งยามเผชิญมรสุมชีวิต ในทางปฏิบัตินั้นสินส่วนตัวเอาไปเป็นสินสมรสสร้างครอบครัวไม่ยาก แต่สินสมรสนำกลับมาเป็นสินส่วนตัวเมื่อไร ต้องหารสองเสมอ อย่าลืม ต้องเหลือทางถอยให้ตนเอง แม้ว่า จะมุ่งมั่นสร้างอนาคตที่ได้ให้ครอบครัวใหม่ของเราก็ตาม พึ่งตนเองให้ได้ ถึงจะสามารถช่วยเหลือคนอื่น เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๗๔ ว่าด้วย “สินสมรส”

มาเริ่มกันที่ “สินสมรส” อ้างถึงกฎหมายเพื่อการค้นคว้าต่อสักนิด คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๗๔ ที่บัญญัติสินสมรสไว้ว่า ได้แก่ ทรัพย์สิน

  1. ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
  2. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรม หรือหนังสือยกให้ระบุว่า เป็นสินสมรส
  3. ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ความหมายก็คือ ทรัพย์สินที่เข้าลักษณะของทั้ง 3 ประการดังกล่าวถือว่าเป็น “สินสมรส” และก็มีแถมว่า ในกรณีที่สงสัยว่า จะเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นสินสมรส (เว้นแต่ว่าจะมีหลักฐานระบุว่า เป็นทรัพย์สินเดิม หรือทรัพย์สินส่วนตัว) ปกติเวลาจะจดทะเบียนสมรส พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องมีคำถามที่ว่า จะระบุอะไรเป็นทรัพย์สินเดิมหรือไม่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางให้แต่ละฝ่ายแสดงเจตจำนงเป็นครั้งสุดท้าย แต่ในสภาวการณ์เช่นนี้ ใครกันละจะมามัวแจกแจงกันว่า ทรัพย์สินนี้เป็นของฉัน ทรัพย์สินนี้เป็นของเธอ จริงไหม ถ้าใครคิดว่า จะขอทำ ก็ต้องทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๖ ได้กำหนดไว้ว่า สัญญาก่อนจะสมรสเป็นโมฆะถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนจะสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส และหรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และหรือได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ และสัญญาที่ว่านี้จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเองไม่ได้นะ ซึ่งนอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล ดังนั้น ในเมื่อยามรัก น้ำต้มผักยังว่า หวานใยจะมามัวทำบัญชีทรัพย์สินเดิมกันอยู่ ให้เสียบรรยากาศหมดและเสียเวลา แล้วจะสร้างความรอบคอบให้ตัวได้อย่างไร ถึงจะไม่ตกอยู่ในภาวะ “ความรักทำให้คนตาบอด” ขอย้ำอีกครั้งว่าความรักเป็นเรื่องที่ดีงามสดสวย ในด้านที่ดีงามของความรักมีมากมาย

สินสมรสครอบคลุมเฉพาะสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย

มาเรื่อง “สินสมรส” กันต่อ ตามกฎหมายท่านว่า สินสมรสนั้นครอบคลุมเฉพาะสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีการจดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น จุดทำความเข้าใจเรื่องนี้ คือ วันเวลาก่อนและหลังจดทะเบียนสมรส เพราะหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว สามีและภรรยาถือว่า เป็นหุ้นส่วนชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างหลังจากนี้ต้องแบ่งปัน

มาเรื่องทรัพย์สินที่จะมีปัญหามักจะเป็นทรัพย์สินที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ส่วนแก้วแหวนเงินทองโอกาสเกิดความยุ่งยากไม่มากนัก จากเส้นแบ่งเวลา เราเริ่มกันที่ กรณีที่ดินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส มีหลักเกณฑ์ซึ่งมาจากตัวบทกฎหมายโดยตรงและคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือกันเป็นแนวทางตัดสินของศาล ดังนี้

  1. ถ้าซื้อบ้านและที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อนจดทะเบียนสมรส ถือเป็นสินส่วนตัว
  2. ถ้าช่วยกันผ่อนแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือว่า แบ่งกันคนละครึ่ง แต่มิใช่สินสมรส
  3. ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นสามีภรรยากันเป็นผัวเมียอยู่กินด้วยกันเฉย ๆ ไม่ได้จดทเบียน แม้ช่วยกันทำมาหากิน ให้แบ่งกันละครึ่ง ถือว่า เป็นเจ้าของร่วม (ฎีกาที่ ๒๘๖๘/๒๕๓๐)
  4. แต่ถ้าได้มาฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่เกี่ยว ถือว่า เป็นสินส่วนตัว ไม่วาจะได้มาโดยพินัยกรรมหรือการยกให้อย่างหนึ่งอย่างใด (ฎีกาที่ ๕๑๕/๒๕๑๙)
  5. ได้กรรมสิทธิ์ก่อนจะจดทะเบียนสมรส ซึ่งไม่ใช่สินสมรส ไม่ว่าจะได้มาโดยการซื้อ หรือการครอบครองปรปักษ์ และการครอบครองที่ดินมือเปล่าแม้จะออก นส.๓ ในภายหลังก็ตาม (เทียบตามนัยฎีกาที่ ๑๗๔๓/๒๕๒๐, ๒๓๗๕/๒๕๓๒, ๘๑๒/๒๕๓๓) แต่ก็มีหลักเกณฑ์ข้อต่อไปนี้ ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้ภายหลังก็ได้ นั่นก็คือ การยกที่ดินและบ้านเพื่อให้เป็นของขวัญแก่คู่ที่แต่งงาน แม้ว่า จะจดทะเบียนเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ก็ถือได้ว่า เป็นสินสมรส (ฎีกาที่ ๒๒๕๙/๒๕๒๙) การจะยกให้เป็นของขวัญแก่คู่แต่งงานนี้ แม้ว่า จะยกให้ก่อนแต่งงานแต่ถ้าได้มีการระบุชัดเจนว่า เป็นทรัพย์สินส่วนตัว เอาไว้สำหรับเป็นที่พึ่งพิงยามยาก หรือจะยกที่ดินให้ลูกหลานก็ควรระบุไว้เลยว่า เป็นสินส่วนตัว เป็นป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า และเผื่อการเลือก “หุ้นส่วนชีวิตเกิดมีปัญหา” ซึ่งภาษาละครทีวีหลังข่าว ก็คือ ป้องกันการถูกปอกลอกยักยอกทรัพย์สินผ่านการแต่งงาน

ที่ดินและบ้านที่ได้มาระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรส

อันดับต่อไป ก็คือ ที่ดินได้มาหลังจากที่จดทะเบียนสมรสแล้ว เป็นการย้ำหลักการของกฎหมายและสังคมกันอีกครั้งก็คือ สามีภรรยาที่จดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็ถือว่า ทั้งคู่เป็นหุ้นส่วนชีวิต และมีลูกก็ถือเป็นหุ้นส่วนแห่งทรัพยากรมนุษย์ทรัพย์สินที่ได้มาก็ต้องถือได้ว่า เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ที่ดินและบ้านที่ได้มาระหว่างการสมรสถือเป็น “สินสมรส” ซึ่งกฎหมายจะครอบคลุมไว้อย่างกว้างขวางมาก ดังนี้

  1. ไม่ว่าในความจริง การซื้อที่ดินนั้นใช้ ใครเป็นคนผ่อน ใครซื้อก็ไม่สำคัญ สามีซื้อและผ่อน หรือภรรยาซื้อก็ตาม ถือว่า เป็นสินสมรสหมด (ตรงนี้เองที่คู่ชีวิตจะออดอ้อนกันว่า ขายที่ดินของคุณเถอะ แล้วมาซื้อแปลงใหม่ เงินไม่พอพี่หรือน้องช่วยออกให้ ที่ดินแปลงใหม่นี่แหละมักจะถูกอ้างว่า เป็นสินสมรส) แม้จะพอมีแนวทางต่อสู้ก็คือ ใช้มาตรา ๑๔๗๒ ที่ระบุว่า สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่น หรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว แต่ก็ต้องพิสูจน์หลักฐานกันจนแจ่มชัด
  2. ที่ดินต่อให้ผ่อนซื้อมาก่อนแต่งงานจะกี่ปีก็ตาม แต่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หลังแต่งงานแล้ว ก็ถือว่า เป็นสินสมรส (ฎีกาที่ ๑๒๘๘/๒๕๓๓) ดังนั้น ให้จำไว้ ถ้าอยากให้เป็นสินทรัพย์เดิมต้องโอนก่อนแต่ง แต่อาจจะไม่ได้แต่งงาน เพราะว่ากว่าจะเรียนจบมีงานทำ อายุ ๒๒ ปี ผ่อนบ้านที่ดินอีกเอาสัก ๑๕ ปี เป็นอายุ ๓๗ ปี แฟนที่จับคู่จีบดูใจกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยหรือบางทีก่อนนั้น เขาจะรอเหรอ แต่ถ้าผ่อนบ้านจัดสรรครบและโอนกรรมสิทธิ์ก่อนสมรสแล้ว แม้จะโอนชื่อมาจะอยู่อาศัยหลังสมรสก็ถือว่า ไม่ใช่สินสมรส (เทียบฎีกาที่ ๙๐๓/๒๕๓๖)
  3. การจะซื้อที่ดินหลังการจดทะเบียนสมรส จะคิดแยบยลใส่ชื่อคนอื่นก็ไม่ได้สำคัญ เพราะกฎหมายยังถือว่า เป็น “สินสมรส” (ซึ่งหมายความว่า การจะยืมชื่อผู้อื่น อาทิ พ่อแม่ มาเป็นเจ้าของที่ดิน หากบุคคลท่านนั้นไม่มีรายได้ หรือจะพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีกำลังเงินที่จะซื้อ ที่ดินก็ยังเป็นสินสมรส)
  4. ที่ดินที่ซื้อหลังจดทะเบียนสมรส จะใส่ชื่อใคร-สามีหรือภรรยาเป็นเจ้าของในโฉนดเพียงชื่อเดียว ก็ถือเป็นสินสมรสทั้งนั้น มิใช่เป็นสินส่วนตัวของผู้มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว
  5. ที่ดินซื้อตอนแต่งและโอนกรรมสิทธิ์หลังหย่าก็เป็น “สินสมรส” ใครจะผ่อนที่ดินอยู่เห็นอนาคตว่า คงจะต้องหย่ากันแน่ ดึงเรื่องไว้และไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ ไว้หย่าแล้วค่อยไปโอนกรรมสิทธิ์ เสียใจกับแผนการเจ้าเล่ห์นี้ เพราะกฎหมายก็ยังถือว่า เป็นสินสมรส
  6. ได้กรรมสิทธิ์หลังหย่าไม่เป็นสินสมรส ใช้ในกรณีครอบครองปกปักษ์ ๑๐ ปี แต่อย่ากันก่อนครบ ๑๐ ปี หรือยกให้ด้วยวาจา แต่โอนให้หลังหย่า ไม่ถือเป็นสินสมรส การครอบครองปรปักษ์เมื่อหย่า ฝ่ายที่ย้ายออกไปก็ขาดตอนการครอบครองย่อมไม่มีสิทธิ์ (ฎีกาที่ ๑๐๓๖/๒๕๐๙)

เรื่องทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

แถมตอนท้ายสักนิด เรื่องทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว มีเงื่อนไขใดบ้างถือว่า เป็น “สินสมรส”

  1. กรณีฝากเงินส่วนตัวก่อนสมรส แต่ดอกเบี้ยงอกเงยระหว่างสมรส ดอกเบี้ยเป็นสินสมรส (เงินต้นเป็นสินส่วนตัว ดอกเบี้ยเป็นสินสมรส)
  2. แต่ที่ดินส่วนตัวโอนกรรมสิทธิ์ก่อนสมรส หลังสมรสที่ดินราคาซื้อขายได้กำไร ส่วนกำไรไม่ได้ถือเป็นสินสมรส (ฎีกาที่ ๑๗๗๕/๒๕๑๒)
  3. ในขณะเดียว ผลของการที่เป็นสินสมรสผูกพันต่อเนื่อง อาทิ ที่ดินสินสมรสจะแปรสภาพอย่างไร ขายไปได้เงินซื้อที่ดินแปลงใหม่ขายไปซื้อใหม่หรือเอาเงินนั้นรับซื้อฝากที่ดินแล้ว ได้ที่ดินหลุดมาเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นก็เป็นสินสมรสอยู่ดี

ขอขอบคุณที่มาบทความ โดยนายพินิจ พงษ์เขตกิจ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย กรมสรรพามิต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *