โหราศาสตร์ในสังคมล้านนาไทย

ในวิถีชีวิตของชาวล้านนาไทย คนส่วนมากเชื่อในโหราศาสตร์ เชื่อการทำนายทายทักว่า อนาคตของตนจะเป็นอย่างไร โดยผู้มีบทบาทสำคัญในการทำนายของโหรเป็นความจริงที่ต้องเชื่อถือในวรรณกรรมทั้งหลายของล้านนาไทย กล่าวถึงโหราศาสตร์ไว้หลายแห่ง นับว่า ปุโรหิตาจารย์มีความสำคัญมากต่อราชสำนักและต่อมวลชน การทำนายทายทักในวรรณกรรมต่าง ๆ กลายเป็นค่านิยมทางความเชื่อถือสำหรับคนล้านนาไทย ความเชื่อในฤกษ์ยามเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เป็นความเชื่อที่อาศัยการคำนวณทิศทางของดวงดาวว่า จะมีผลต่อชีวิตมนุษย์ ในเวลาที่มีการกระทำมงคลหรือจะออกเดินทางมักนิยมดูฤกษ์ยามเสียก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคลและมีโชคปราศจากภยันตรายทั้งปวง ความเชื่อเรื่องโชคชะตาเรามักจะเชื่อกันว่า คนจะโชคดีหรือโชคร้าย ขึ้นอยู่กับชีวิตของตน โหรจะเป็นผู้มีบทบาทในการทำนายโชคชะตา สิ่งนี้ จึงฝังอยู่ในใจของคนล้านนาไทยตลอดมาก รวมถึงการทำงานทุกอย่างต้องหาฤกษ์ยามและเกี่ยวข้อกับโชคชะตาเสมอ จะเห็นได้จากตำราโหราศาสตร์ของชาวล้านนา ซึ่งปรากฏในเอกสารใบลานและพับสาหลายฉบับด้วยกัน เช่น ตำราสุริยยาตรา เป็นตำราที่เกี่ยวกับการคำนวณวิธีการนับปฏิทิน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียมีเนื้อหาเกี่ยวกับการคำนวณปฏิทินแบบสุริยคติ เป็นต้น

พื้นฐานความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนาก่อนที่จะมีพุทธศาสนาเข้ามา คือ ความเชื่อเรื่องผีหรือสิ่งเส้นลับที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในโลก ล้วนมาจากผีเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดขึ้น โดยผีแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ ผีที่ปกปักรักษาตัวบุคคลพ่อเกิดแม่เกิดรวมไปถึงความเชื่อเรื่องขวัญในตัวบุคคล ผีกลุ่มที่สอง คือ ผีที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมในวิถีชีวิต เช่น ผีบ้าน ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ ผีป่าเขา ผีต้นไม้ ผีในน้ำ ผีกลุ่มที่สาม คือ ผีฟ้าหรือเรียกกันว่า ผีแถน ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อคนทั่วไปในเรื่องของความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ลมพายุ ฝนตก ฟ้าร้อง แสงแดด ฯลฯ เมื่อศาสนาพุทธเข้ามาพร้อมกับโหราศาสตร์รวมถึงวิทยาการต่าง ๆ ที่เป็นหลักการ และเป็นที่ยอมรับจากชนชั้นปกครอง ก่อนที่จะแพร่กระจายลงสู่ชาวบ้าน ผีจึงถูกจัดระบบระเบียบใหม่ให้เข้ากับหลักการใหม่ ทำให้คนล้านนานับถือพุทธศาสนาเป็นสรณะที่พึ่งแต่ก็ยังอยู่ร่วมกับผีได้

เมื่อพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ในสังคมล้านนา ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับวิชาโลกธาตุ ทำให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาถึงเรื่องดาราศาสตร์ไปด้วย และเป็นการง่ายที่จะต่อยอดศึกษาในเรื่องโหราศาสตร์ พระสงฆ์ที่เรียนส่วนใหญ่จะศึกษาไว้เพื่อใช้ช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งจะเห็นได้ว่า บทบาทพระสงฆ์กับโหราศาสตร์ในล้านนานั้นมีการผสมกลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออกทั้งทางตรงและทางอ้อมกล่าวคือ พิธีกรรมทางพุทธศาสนาในล้านนานั้นมักจะพบว่า พิธีกรรมบางอย่างเป็นพิธีที่มีเฉพาะถิ่นล้านนา ไม่ใช่วิถีพุทธเถรวาทแบบลังกาวงศ์ทั่วไป เช่น พิธีสืบชะตาสะเดาะเคราะห์ พิธีบวชนาค พิธีถอนขึดต่าง ๆ พิธีที่เกี่ยวข้องกับงานศพหรือภูตผี พิธีต่าง ๆ เหล่านี้ พระสงฆ์ล้วนมีบทบาทในการประกอบพิธี ซึ่งหลายพิธีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคติความเชื่อเดิม คือ การนับถือผี และคติทางโหราศาสตร์

ในประวัติศาสตร์ล้านนาจะพบพระสงฆ์ในบทบาทของโหราจารย์ผู้พยากรณ์เหตุการณ์โดยตรง เช่น กำเนิดทิพย์ จักรวงศ์ ในเมืองลำปางนั้น เกิดจากการคำนวณโหราศาสตร์เพื่อหาผู้ที่จะกอบกู้บ้านเมืองจากท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูน โดยตำนานกล่าวว่า ผู้คำนวณเลขโหรนั้น คือ ครูบาวัดพระแก้วชมพู นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายรูปที่มีชื่อเสียงทางด้านดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ เช่น ครูบาวัดหนองเงือกลำพูน ครูบาญาณสมุทรวัดศาลา ครูบาอาโนชัย ธรรมจินดามุนีวัดปงสนุกเหนือ ครูบาโสภา วันฝ่ายหิน ครูบาเถิ้ม วัดแสนฝาง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า โหราศาสตร์ในสังคมล้านนามีต้นกำเนิดมาจากการได้อิทธิพลทางด้านพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้าไปสู่สังคมล้านนา หรือมองโดยกว้างแล้วก็คือ ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียในสมัยก่อน โดยผ่านทางตำราคำสอนต่าง ๆ ในพระคัมภีร์พระพุทธศาสนา เมื่อพระสงฆ์ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในคัมภีร์ซึ่งมีความรู้มากมายกว้างขวาง ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์ไปด้วย เมื่อความเป็นพระพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิมในสังคมล้านนาประยุกต์เข้าด้วยกัน จึงมีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่แตกต่าง ๆ ไปพุทธในถิ่นอื่น เมื่อพระสงฆ์เป็นผู้ศึกษาและทำพิธีกรรมทำให้มีความรู้และเชี่ยวชาญ ดังนั้น โหราจารย์ในยุคเริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระภิกษุสงฆ์

โหราศาสตร์ในสังคมล้านนามีการนำมาใช้กันอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักของดวงดาวและหลักพรหมชาติ ปรากฏรายละเอียดดังนี้

ความเชื่อเรื่องดาวฤกษ์ของชาวล้านนา

ความเชื่อเรื่องดาวฤกษ์ของชาวล้านนา เป็นความเชื่อในปรากฏการณ์ของท้องฟ้า ดวงดาว ดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญในการใช้โหราศาสตร์ โดยความเชื่อของดาวฤกษ์ตามหลักโหราศาสตร์ชาวล้านนา มีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้

จักรราศี

คำว่า “จักรราศี” มาจากภาษากรีก หมายถึง “สัตว์” เป็นแถบสมมติบนท้องฟ้าที่มีขอบเขตประมาณ 8 องศา ค่อนไปทางเหนือและใต้ของแนวเส้นทางที่ดวงอาทิตย์ปรากฏเคลื่อนผ่าน (สุริยะวิถี) ซึ่งครอบคลุมแนวเส้นทางปรากฏของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลอีก 7 ดวง คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ส่วนดาวพลูโตนั้น ความเอียงของวงโคจรมีค่ามาก ดาวพลูโตจึงมีเส้นทางปรากฏห่างจากสุริยะวิถี

จักรราศี คือ ทางเดินของดาวเคราะห์ทั้งหลาย เนื่องจาก โหราศาสตร์ดวงดาวเป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ที่ใช้โลกทรรศน์แบบโบราณ คือ โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตำแหน่งดาวเคราะห์ทั้งหลายที่เคลื่อนที่ไปจึงเป็นตำแหน่งที่เทียบกับโลก เส้นทางที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า เรียกว่า “สุริยะวิถี หรือ วิมรรค” (ecliptic) ดาวเคราะห์ ๆ ก็เคลื่อนอยู่ในแถบบริเวณสุริยะวิถี จักรราศีจะแบ่งวงโคจรของดวงดาวทั้งหมดออกเป็น 12 ส่วน โดยแบ่งออกเป็นส่วนละ 30 องศา เรียกว่า 1 ราศีรวมทั้งหมดมี 12 ราศีก็จะเป็นวงกลม 360 องศาพอดีหรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มนักษัตร” เป็นการแบ่งเพื่อการคำนวณ เวลา และฤดูกาล ราศีทั้ง 12 ราศีมีชื่อกำกับซึ่งเป็นที่มาของชื่อเดือนต่าง ๆ เรียงตามลำดับแบบสากล คือ

ราศีเมษ (Aries)รูปแกะ
ราศีพฤษภ (Taurus)รูปโค
ราศีเมถุน (Gemini)รูปคนคู่
ราศีกรกฏ (Cancer)รูปปู
ราศีสิงห์ (Leo)รูปสิงโต
ราศีกันย์ (Virgo)รูปหญิงสาวถือรวงข้าว
ราศีตุลย์ (Libra)รูปคนถือตราชั่ง
ราศีพิจิก (Scorpio)รูปแมงป่อง
ราศีธนู (Sagittarius)รูปคนโก่งคันศร
ราศีมกร (Capricorn)รูปมกรหรือแพะทะเล
ราศีกุมภ์ (Aquarius)รูปคนเทน้ำ
ราศีมีน (Pisces)รูปปลาคู่

ความต่างในเรื่องของราศีในตำราล้านนานั้นมีความผิดเพี้ยนไปจากสากลทั่วไปบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ รูปสัญลักษณ์ของราศีมีความต่างกัน จากคัมภีร์สุริยยยาตรา ฉบับวัดชมพูหลวงได้ระบุว่า ราศีเมษมีรูปแพะ ราศีประสบมีรูปวัว ราศีเมถุนมีรูปบ่าวสาวกอดกัน ราศีกรกัฏมีรูปปลาและปู ราศีสิงห์มีรูปเสือและสิงห์ ราศีกันย์มีรูปสาวกับแม่ร้างปั่นฝ้าย ราศีตุลย์มีรูปชั่งกับยอย ราศีประจิกมีรูปปลาเป้า ราศีธนูมีรูปคนยิงธนู มังกรมีรูปนาคแลมังกร ราศีกุมภ์มีรูปไหดอกไม้ ราศีมีนมีรูปฟองน้ำสมุทร ส่วนเนื้อหารายละเอียดอื่น ๆ นั้นเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป

การแบ่งจักรราศีออกเป็นหน่วยย่อย

จะเห็นได้ว่า แต่ละราศีจะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน ๆ ละ 10 องศา เรียกว่า ตรียางค์ ดังนั้น 1 ราศีจะเท่ากับมี 3 ตรียางค์ ใน 1 ตรียางค์แบ่งย่อยออกเป็น 3 นวางค์ 1 นวางศ์ เท่ากับ 3 องศา 20 ลิปดา 1 องศา เท่ากับ 60 ลิปดา 1 ลิปดาเท่ากับ 60 ฟิลิปดา ในสมัยโบราณกาลบันทึกวันเวลา มิได้มีปฏิทินสำเร็จรูปดังปัจจุบัน ผู้บันทึกต้องมีความเข้าใจเรื่องดาราศาสตร์เป็นเบื้องต้น มักจะเขียนบันทึกวันเวลาตามตำแหน่ง ดวงดาวบนท้องฟ้าจริง ยกตัวอย่างเช่น ยามกองงายวัน 1 เดือนกิตติกาเป็ง ปีกัดเป้า คำว่า เดือนกิตติกา หมายถึง ชื่อเดือนที่มาจากกลุ่มดาวฤกษ์ที่สถิตตายตัวอยู่ในราศีต่าง ๆ หากระบุว่า เป็นเดือนกิตติกา แสดงว่า ช่วงเวลานั้นพระอาทิตย์กำลังเข้าเสวยฤกษ์กิตติยา อยู่ในราวช่วงเดือน 8 เหนือ ในราศีพฤกษ์ ขณะที่บางตำราจะบันทึกว่าเป็น เดือนวิสาขะ ด้วยเหตุผลว่า โดยปกติแล้ววันที่พระจันทร์เพ็ญเต็มดวง พระอาทิตย์  และพระจันทร์จะต้องอยู่ราศีตรงข้ามกันเสมอ ด้วยเหตุนี้เดือน 8 เป็ง พระจันทร์จะต้องอยู่ในราศีตรงข้ามพระอาทิตย์ตามกฎเมื่ออาทิตย์ อยู่สถิตร่วมกับดาวกิตติกา ในราศีพฤกษา พระจันทร์จึงจะต้องอยู่ในราศีพิจิก ซึ่งเป็นราศีตรงข้าม โดยพระจันทร์จะเสวยฤกษ์วิสาขะพอดี จึงได้บันทึกเป็นเดือนวิสาขะ ดังนั้น ต้องพึงสังเกตเสมอว่า ผู้บันทึกตั้งใจระบุเดือนจากตำแหน่งพระอาทิตย์หรือเดือนพระจันทร์

ฤกษ์หลวง

ฤกษ์หลวงมี 9 ฤกษ์ คือ การจัดหมวดหมู่ กลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 ตัวให้เข้าหมวดหมู่ตามความหมายของดาวฤกษ์นั้น ๆ มักจะใช้เป็นตัวเลือกหลัก ในการหาฤกษ์ยาม ในการทำการมงคลโดยมีความหมายต่าง ๆ ตามฤกษ์ ดังนี้

  1. ทลิทโทฤกษ์ หรือตำราล้านนาบางฉบับเรียก อัตตะโนฤกษ์ รวมเอาฤกษ์บนกลุ่มที่ 1 10 และ 19 หมายถึง ฤกษ์แห่งผู้ขอ หรือขอทาน ผู้มักน้อย ผู้ที่มีความมานะบากบั่นด้วยตนเอง สร้างฐานะด้วยตนเอง ฤกษ์นี้นิยมใช้กับการเจรจาความ การร้องทุกข์การกู้ยืม การสู่ขอแต่งงาน สมัครงาน เป็นต้น
  2. มหัทธโนฤกษ์รวมเอาฤกษ์บน กลุ่มที่ 2 11 และ 20 คือ ฤกษ์ แห่งพ่อค้าคหบดีเศรษฐีผู้รุ่งเรือง เป็นฤกษ์ที่นิยมใช้กับงานมงคลต่าง ๆ เช่นขึ้นบ้านใหม่เปิดร้าน บางแห่งใช้ เป็นฤกษ์แต่งงาน หรือลาสิกขาบท เป็นต้น
  3. โจโรฤกษ์รวมเอาฤกษ์บน กลุ่มที่ 3 12 และ 21 คือ ฤกษ์แห่ง ผู้ปล้น ขโมย นักเดินทาง ผู้ค้นหา ไม่นิยมให้เป็นฤกษ์การมงคลเท่าไหร่นัก สมัยโบราณใช้ฤกษ์นี้ในการออกรบ ชิงบ้านเมืองหรือปล้นค่าย ฤกษ์นี้ดูผิวเผิน จะเป็นฤกษ์เสียแต่ก็ให้คุณใน ด้านการขนส่ง การเดินทาง การค้นคว้า นักวิจัย เป็นต้น
  4.  ภูมิปาโลฤกษ์รวมเอาฤกษ์บน กลุ่มที่ 4 13 และ 22 หมายถึง ผู้รักษาแผ่นดินเป็นฤกษ์ที่นิยมใช้กับการเกษตร การซื้อที่ดิน ก่อสร้างยกศาลพระภูมิ เป็นต้น
  5. เทศาตรีฤกษ์หรือบางตำราเรียกว่า เทศสันถีรวมเอาฤกษ์บน กลุ่มที่ 5 14 และ 23 คือ ฤกษ์แห่งนักท่องเที่ยว หญิงบริการ นักบริกรต่าง ๆ นักร้อง นักแสดง นักดนตรี ฯลฯ เป็นฤกษ์ที่ใช้กับโรงมหรสพ ร้านอาหาร ร้านเหล้า สถานบริการ ด้านต่าง ๆ หรือตลาด เป็นต้น
  6. เทวีฤกษ์ รวมเอาฤกษ์บน กลุ่มที่ 6 15 และ 24 หมายถึง นางพญา ความงาม ความหรูหรามีเสน่ห์ นิยมใช้กับการเปิดร้านเสริมสวย หรือเข้าหาผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิง คนที่เกิดในฤกษ์นี้หากเป็นหญิงจะสบายหากเป็นชายก็จะเรียกว่า นารีอุปถัมภ์นั่นเอง
  7. เพชฌฆาตฤกษ์รวมเอาฤกษ์บน กลุ่มที่ 7 16 และ 25 คือ ฤกษ์แห่งนักฆ่าเหมาะสำหรับผู้ที่ขายเนื้อสัตว์ หรือทหารตำรวจ หมอ พยาบาล ไม่นิยมใช้กับงานมงคลแต่ใช้ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การตัดสินคดีความ การเดินทัพในสมัยโบราณ หรือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
  8. ราชาฤกษ์รวมเอาฤกษ์บน กลุ่มที่ 8 17 และ 26 คือ ผู้เป็นใหญ่ พระเจ้าแผ่นดิน เหมาะสำหรับงานของบ้านเมือง ราชพิธี การเข้ารับตำแหน่งใหม่ หรือเข้าหาผู้ใหญ่ เป็นต้น
  9. สมโณฤกษ์รวมเอาฤกษ์บน กลุ่มที่ 9 18 และ 27 หมายถึง ฤกษ์แห่งนักบวชผู้ที่ชอบสันโดษ หรือถูกกักขังก็ได้ ฤกษ์นี้นิยมใช้กับ งานบวช งานวัด หรือพิธีกรรมในศาสนา เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *