ความเป็นมาการสืบทอดพิธีกรรมและประเพณี

ประเทศไทยมีวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ เช่น พิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราพมณ์อย่างแยกแยะไม่ได้ ผู้นำในการประกอบพิธีต่าง ๆ ของท้องถิ่นตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ชุมชนให้ความนับถือเมื่อมีการจัดพิธีดังกล่าวขึ้น คนในชุมชนที่มาร่วมพิธีจะเกิดความรักความสามัคคีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองและสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ชุมนุมอย่างดียิ่ง ปัจจุบันวัฒนธรรมและประเพณีแบบโบราณกำลังเลือนหายไป ซึ่งคนสมัยใหม่มักจะละเลย แม้จะมีการนำมาปฏิบัติอยู่บ้าง แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจขั้นตอนในเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ จึงทำให้มีการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากหน่วยงานหรือส่วนราชการที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบไม่เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง อาจทำให้วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามมีความเสื่อมถอยไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะเลือนหายไปตามกาลเวลา

วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ถือว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรวบรวมให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะพิธีกรรมเป็นเรื่องหลักที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจโดยถ่องแท้

“พิธีกรรม” คือ การกระทำที่คนเราสมมติขึ้น เป็นขั้นเป็นตอน มีระเบียบวิธี เพื่อให้เป็นสื่อหรือหนทางที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวังไว้ ซึ่งทำให้เกิดความสบายใจและมีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เช่น พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา หรืออีกนัยหนึ่ง “พิธีกรรม” หมายถึง พฤติกรรมที่มนุษย์พึ่งปฏิบัติต่อความเชื่อทางศาสนาของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ๆ ก็ตามต่างก็มีการปฏิบัติต่อศาสนาของตน ตามความเชื่อและความศรัทธาของตนเองในแต่ละศาสนา จึงก่อให้เกิดเป็น “พิธีกรรม” ทางศาสนาด้วยความเชื่อและความศรัทธาของตนเองในแต่ละศาสนา จึงก่อให้เกิดเป็น “พิธีกรรม” ทางศาสนาด้วยความเชื่อและความศรัทธา

ประเพณีตามพจนานุกรมภาษาไทยฉบับบัณฑิตสถาน ได้กำหนดความหมายประเพณีไว้ว่า ขนบธรรมเนียมแบบแผน ซึ่งสามารถแยกคำต่าง ๆ ออกได้เป็น “ขนบ” มีความหมายว่า ระเบียบแบบอย่าง “ธรรมเนียม” มีความหมายว่า ที่นิยมใช้กันมา และเมื่อนำมารวมกันแล้วก็มีความหมายว่า ความประพฤติที่คนส่วนใหญ่ยึดถือเป็นแบบแผนและได้ทำการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นต้นแบบที่จะให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ประพฤติปฏิบัติตามกันต่อไป หรืออีกนัยหนึ่ง “ประเพณี” หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้น ๆ ฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคม ลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติ มีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแผกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น ประเพณีล้วนได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคม รับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานในการดำเนินชีวิต ประเพณีจึงเรียกได้ว่า เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคม โดยเฉพาะศาสนา ซึ่งมีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่าง ๆ ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย และชี้ให้เห็นว่า ชาวไทยให้ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนาด้วยศิลปกรรมที่งดงามเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล ได้แก่

  1. จารีตประเพณี หมายถึง สิ่งซึ่งสังคมใดสังคมหนึ่งยึดถือและปฏิบัติสืบกันมาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่า เป็นผิดเป็นชั่ว จะต้องถูกตำหนิหรือได้รับการลงโทษจากคนในสังคมนั้น เช่น ลูกหลานต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อท่านแก่เฒ่า ถ้าใครไม่เลี้ยงดูถือว่า เป็นคนเนรคุณหรือลูกอกตัญญู
  2. ขนบประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่สังคมได้กำหนดไว้แล้ว ปฏิบัติสืบต่อกันมาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทางตรง ได้แก่ ประเพณีที่มีการกำหนดเป็นระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติอย่างชัดแจ้งว่า บุคคลต้องปฏิบัติอย่างไร ทางอ้อม ได้แก่ ประเพณีที่รู้กันโดยทั่ว ๆ ไป โดยไม่ได้วางระเบียบไว้แน่นอน แต่ปฏิบัติไปตามคำบอกเล่า เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การตาย การแต่งงาน ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตหรือประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล ตรุษ สารท การขึ้นบ้านใหม่
  3. ธรรมเนียมประเพณี หมายถึง ประเพณีเกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกคนควรทำ ไม่มีระเบียบแบบแผนเหมือนขนบประเพณี หรือความผิดถูกเหมือนจารีตประเพณี เป็นแนวทางที่ทุกคนปฏิบัติกันทั่วไปจนเกิดความเคยชินและไม่รู้สึกเป็นภาระหน้าที่ เพราะเป็นสิ่งที่มีมานานและใช้กันอย่างแพร่หลาย ธรรมเนียมประเพณีเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำ ผู้ฝ่าฝืนหรือทำผิดก็ไม่ถือว่า เป็นเรื่องสำคัญแต่อาจถูกตำหนิว่า เป็นคนไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีมารยาท ไม่รู้จักกาลเทศะ

พิธีกรรมและประเพณีจัดเป็นจารีตประเพณี คือ แนวทางปฏิบัติสืบทอดกันมา นับว่า เป็นสมบัติที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง จำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติให้รู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างชัดเจน โดยเผยแพร่ความรู้แก่เยาวชนและองค์กรภาครัฐทุกส่วนให้สามารถนำไปปฏิบัติเองได้ หมายความว่า ทำให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เกิดความชำนาญ และแนะนำผู้อื่นได้ ที่สำคัญ คือ การปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เยาวชน ประชาชนในท้องถิ่น มีความรู้ในการทำพิธีอย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีความหลากหลายให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ส่งผลให้สังคมไทยจึงมีจารีตขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม โครงการดังกล่าวที่กรมการศาสนาจัดขึ้น จึงเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชาติให้ดำรงอยู่สืบไป ที่นอกเหนือภารกิจหลักสำคัญยิ่ง คือ การรับสนองงานพระราชพิธี งานพระราชกุศล และงานรัฐพิธีตามหมายรับสั่ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงปฏิบัติงานด้านศาสนาพิธีตามที่กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่าง ๆ ขอความร่วมมือ ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงต่อพันธกิจกระทรวงวัฒนธรรม คือ การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ สนองงานของสถาบันชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ ให้มีการสืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่มาบทความ พิธีกรรมและประเพณี กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *