โหราศาสตร์

“ความเชื่อ” คือ ความรู้สึกที่คล้อยตาม หรือเห็นด้วย หรือเห็นเป็นจริงเช่นนั้นด้วย ความเชื่อของมนุษย์ส่วนมากเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ทั้งให้คุณประโยชน์และให้โทษ แล้วมนุษย์ไม่สามารถค้นหาสาเหตุมาอธิบายได้หรือไม่สามารถค้นพบคำตอบในสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ทำให้เกิดความหวาดกลัวธรรมชาติพยายามสร้างจินตนาการเพื่อจะได้นำมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความเชื่อนั้น ๆ โดยความเชื่อเหล่านั้นได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษถึงรุ่นลูกหลาน

ความเชื่อเหล่านั้น ถ้าหากมีการนำไปปฏิบัติสืบทอดกันอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ก็จะกลายเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อ และจะถูกนำมากล่าวอ้าง ในที่สุดจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปเป็นพิธีกรรมประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติที่หลากหลายจนถึงปัจจุบันนี้

ดังนั้น ความหมายของความเชื่อ น่าจะมีความหมายถึง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ได้ให้การยอมรับนับถือ ทั้งที่มีให้เห็นปรากฏเป็นตัวเป็นตนมีอยู่จริงหรือไม่ปรากฏเป็นตัวตน และการยอมรับนับถือนี้ อาจจะมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้หรืออาจจะไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นเป็นจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นเลยก็ได้”

ซึ่งบริบทของสังคมไทยในทุกภาคส่วนมีความเชื่อที่หลากหลาย อันเป็นที่มาของความเชื่อและพิธีกรรมตามประเพณี มีธรรมเนียมและรูปแบบการปฏิบัติที่แปลกและแตกต่างกันสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภท ดังนี้

ประการแรก คือ ความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาทางพระพุทธศาสนา เป็นความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม ว่ามนุษย์เราเกิดมาในภพภูมิที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ทำไว้ จิตที่ได้รับการอบรมแล้วถ้าหากหมดสิ้นกิเลส

ประการที่สอง คือ ความเชื่อที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ และมีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่ยืดถือนำมาเกี่ยวโยงเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิต เมื่อมนุษย์มีความเชื่อเกิดขึ้นก็ต้องกำหนดเป็นรูปแบบของพิธีกรรมเกิดขึ้นตามมา

การที่ความเชื่อของคนแต่ละชุมชนมีแนวทางยึดถือและปฏิบัติที่แปลก แตกต่างอาจจะคล้ายกันหรือเหมือนกัน จากการกำหนดสร้างรูปแบบปฏิบัติขึ้นเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อในวิถีชีวิตของตนเองภายในชุมชนสืบต่อกันมา โดยระยะแรกเริ่มอาจเกิดขึ้นเพียงในกลุ่มความเชื่อกลุ่มเล็ก ๆ ค่อย ๆ กระจายไปสู่คนกลุ่มอื่นในชุมชนอื่น ๆ หรือต่างชุมชน ที่อาจจะมีความเชื่อที่เห็นคล้อยตามรับเอาความเชื่อ และแนวการปฏิบัติทางพิธีกรรมนำไปใช้ในชุมชนของตน จึงเกิดการแพร่กระจายสู่ชุมชนขยายวงกว้างจากชุมชนสู่ชุมชน จากสังคมในระดับท้องถิ่นไปสู่สังคมในระดับชาติ และความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มของความเชื่อ ดังนี้

1.ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เนื่องจาก คนไทยนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ความเชื่อจึงมุ่งเน้นพระรัตนตรัยและหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ

1.1 ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม : ใครทำกรรมใดไว้ ผลกรรมนั้นจะตามสนอง ซึ่งมีความเชื่อว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่วไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ดังตัวอย่างคำกลอนจากหนังสือคู่มือสอนวิชาภาษาไทย ประถมปีที่ 2 เล่ม 2 ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษา พ.ศ. 2521

“อันคุณความดีที่มีในตน นั้นช่วยนำผลเสริมตนให้ได้ดี

คนที่ทำชั่วเมามัวราคี นั้นไม่มีวันที่ผลดีจะตอบแทน

จำใส่ใจจำใส่ใจให้แน่นแฟ้น ผลกรรมทดแทนทุกทางตลอดไป

ประดุจเงาประดุจเงาของเราไซร์ อยู่แห่งใดล้วนไปทุกถิ่นทาง”

1.2 ความเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ : สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดวัฏสงสาร ตามผลแห่งกรรมของตน เป็นความเชื่อตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ดังตัวอย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ 16 ข้อ 219 สังยุตตนิกาย “ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเวียนว่ายตายเกิดเปรียบเสมือนท่อนไม้ที่โยนขึ้นไปในอากาศ บางครั้งก็ตกลงทางโคน บางครั้งก็ตกลงทางกลาง บางครั้งก็ตกลงทางปลาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไปท่องเที่ยวไปอยู่ บางครั้งก็ไปสู่โลกอื่นจากโลกนี้ บางครั้งก็มาสู่โลกนี้จากโลกอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้มีที่สุดอันตรายไปไม่พบ ไม่ปรากฏเงื่อนไขในเบื้องต้นเบื้องปลายของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น ตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไปท่องเที่ยวไปอยู่ ควรเพื่อจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในสังขารทั้งปวงควรที่จะพ้นไปเสีย”

1.3 ความเชื่อเรื่องกฎแห่งธรรมชาติ : ก็ยังคงเป็นคำสอนตามหลักทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า หัวใจของพระพุทธศาสนาหรือคาถาของพระอัสสชิ ตอบคำถาม พระสารีบุตรได้ถามถึงใจความของพระพุทธศาสนาว่า มีอยู่อย่างไรโดยย่อที่สุด “สิ่งเหล่าใดเกิดมาเพราะมีเหตุทำให้เกิดพระคถาคตเจ้าแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้น เพราะหมดเหตุ : พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้” (จากหนังสือคู่มือมนุษย์ หน้า 21 พุทธทาสภิกขุ, กรมศาสนา พ.ศ. 2552) เป็นปรากฏการณ์ทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนเป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็นเหตุเป็นความเลื่อนไหลไปไม่มีหยุด เพราะอำนาจธรรมชาติที่มีลักษณะไม่หยุดปรุง สิ่งต่าง ๆ จึงปรุงแต่งกันไม่หยุด ไม่มีใครจะไปหยุดธรรมชาติได้

1.4 ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ : เป็นความเชื่อตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในพระไตรปิฏก เล่มที่ 22 ข้อ 191 ปัญจกนิบาตร อังคุตตรนิกาย “ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 5 อย่าง ย่อมขึ้นสวรรค์เหมือนถูกนำตัวไปวางไว้ ธรรม 5 อย่าง คือ 1) ผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ 2) ผู้เว้นจากการลักทรัพย์ 3) ผู้เว้นจากการประพฤติผิดในกาม 4) ผู้เว้นจากการพูดปด 5) ผู้เว้นจากการตั้งอยู่ในความประมาทด้วยการดื่มน้ำเมา คือ สุราเมรัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 5 อย่างเหล่านั้นแล ย่อมขึ้นสวรรค์เหมือนถูกนำตัวไปวางไว้ (จากพระไตรปิฏก ฉบับสำหรับประชาชน สุชีพ ปุญญานุภาพ, หน้าที่ 100 มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2524)

2.ความเชื่อเกี่ยวกับวิทยาคม เป็นความเชื่อเรื่องสิ่งลึกลับที่เหนือธรรมชาติ ไม่สามารถพิสูจรน์ทราบได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แยกออกได้เป็น 2 เรื่อง คือ

2.1 ความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา : เป็นจำพวกตัวอักษรหรืออักขระที่ผูกเป็นข้อความถือว่า มีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ เมื่อนำไปใช้ตามที่กำหนด เช่น นำไปบริกรรม เสกเป่าหรือสวด เชื่อว่า จะเกิดความศักดิ์สิทธิ์หรือเกิดความขลัง ปัดเป่าป้องกันสิ่งชั่วร้าย หรือดลบันดาลให้เป็นตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น คาถามหานิยมของหลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ ฯลฯ ที่คนในสังคมยอมรับ ปัจจุบันความเชื่อประเภทนี้ได้ลดน้อยลง ด้วยเหตุความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่

สำหรับในความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา วิทยาคม และสิ่งที่มีอำนาจลึกลับของมนุษย์นั้นมาลินไนล์สกี้ อธิบายว่า “เป็นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์เมื่อรู้สึกตัวว่า ไม่มั่นคงและปลอดภัย จากสิ่งที่เกิดหรือเหตุการณ์ที่มนุษย์มีความรู้และความเข้าใจในสิ่งนั้น หรือเหตุการณ์นั้นน้อย จึงต้องแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยว เช่น เวทมนตร์คาถา เพื่อเป็นกำลังใจที่จะแก้ปัญหาและเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ

2.2 ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง : เป็นความเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เชื่อว่า สามารถป้องกันอันตราย ยิง แทง ฟันไม่เข้า ตัวอย่างเช่น เหล็กไหล เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือ ฯลฯ

3.ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อประเภทนี้น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยสังคมไทยมาแต่อดีตในทุกชุมชน กระทั่งไม่สามารถแยกจากกันได้ บ้างก็ถือเป็นสิ่งประจำบ้านประจำหมู่บ้าน ประจำเมืองเกือบจะทุกหมู่บ้าน ถือว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองก็คงจะไม่ผิด ส่วนมากจะพบเห็นได้จากพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง รูปเหมือนพระสงฆ์ที่เคารพนับถือเป็นเกจิอาจารย์ของชาวบ้าน หรืออาจจะกล่าวรวมไปถึงศาลปู่ตา ศาลหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อ ศาลเจ้าแม่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านมีความเชื่อร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อสักการะบูชา เป็นเครื่องยืดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยเชื่อว่า สามารถดลบันดาลให้ในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการได้ และในการที่จะได้ในสิ่งที่ต้องการก็ต้องมีรูปแบบของพิธีกรรม ในการอ้อนวอน ร้องขอ และการจัดสิ่งตอบแทนด้วยสิ่งของต่าง ๆ ความเชื่อในประเภทนี้ยังคงมีปรากฏให้เห็นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน เป็นบ่อเกิดของการหลอกลวงประชาชนโดยทุจริตชน หากประชาชนขาดภูมิคุ้มกันทางความเชื่อที่ดีเพียงพอ

4.ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ผีสางเทวดา คนในสังคมไทย หมายถึง สิ่งลึกลับที่มองไม่เห็นตัวตน ถือว่า มีอิทธิฤทธิ์และอำนาจเหนือมนุษย์ สามารถให้คุณและให้โทษก็ได้ โดยที่ชุมชนต่าง ๆ ได้มีการแบ่งแยกออกตามความเชื่อว่า มีผีดี คือ ผีที่ให้คุณกับมนุษย์ ได้แก่ จำพวกเทวดา ผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย ฯลฯ และผีไม่ดีหรือผีร้าย คือ ผีที่ให้โทษกับมนุษย์ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ผีปอบ ผีโขมด ผีกองกอย ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาบทสรุปได้แน่ชัดว่า มีจริงหรือไม่ บางครั้งในสิ่งที่เกิดขึ้นก็มีเหตุอันน่าเชื่อถือ

5.ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ : หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยดาราศาสตร์เป็นหลัก ความเชื่อเช่นปรากฏแพร่หลายไปทุกชนชั้นของสังคมไทย จนกระทั่งถือเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่มีการเรียนการสอน สืบทอดอย่างเป็นทางการ และมีการยึดถือเป็นอาชีพ

ที่มาบทความ พิธีกรรมและประเพณี กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม https://www.nabon.go.th/news/doc_download/a_100717_140422.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *