ความเชื่อในอำนาจลึกลับ ไสยศาสตร์ วิญญาณ ภูตผี การทำเสน่ห์ การใช้คาถาอาคม

ความเชื่อและการนับถือของมนุษย์เมื่อผ่านมาหลายยุคหลายสมัยก็มีการพัฒนาเป็นระบบพิธีกรรมและผู้ประกอบพิธีกรรมมีกฎห้าม และธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งปฏิบัติต่อมาเพื่อความสงบสุขของสังคมตามความเชื่อ ซึ่งความเชื่อในสิ่งลึกลับต่าง ๆ เช่น วิญญาณ ภูตผี ปีศาจ หมอผี การบวงสรวงด้วยเลือด การใช้คาถาอาคม การทำเสน่ห์ การฝังศพและการบูชายัญนั้น เป็นความเชื่อในอำนาจลึกลับหรือไสยศาสตร์ เกิดก่อนศาสนาโดยมนุษย์ต้องการความช่วยเหลือจากอำนาจลึกลับโดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนตามลักษณะพิธีกรรม หรือการบวงสรวงสังเวย ซึ่งอำนาจลึกลับหรือไสยศาสตร์นั้น มีทั้งฝ่ายธรรมะ เป็นฝ่ายที่ให้ความช่วยเหลือ ช่วยให้สมปรารถนา บันดาลให้เกิดสิ่งที่ดี เช่น การขอกำลังพลังอำนาจ เทพวิญญาณที่ดี ซึ่งมนุษย์ได้มีการพัฒนาการปฏิบัติพิธีกรม เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของความเชื่อในอำนาจลึกลับ หรือไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์เกิดมาเพื่อช่วยให้มนุษย์สมความต้องการ เมื่อใดมนุษย์ต้องการทำในสิ่งที่เหนือความสามารถ ต้องการคุ้มครอง ต้องการหลุดพ้นทุกข์ มนุษย์จะหันหน้าเข้าหาไสยศาสตร์ ซึ่งเขาเชื่อว่า จะช่วยให้บันดาลให้ได้ เพราะเชื่อว่า ไสยศาสตร์มีอำนาจไร้ขอบเขตจำกัด

ทั้งนี้ มีนักปรัชญาทางด้านปรัชญาและเทววิทยา ได้ศึกษาเปรียบเทียบและให้ทัศนะไว้ เช่น ไทยเลอร์ได้ให้ทัศนะไว้ว่า การบูชาผีสางเทวดา เป็นเชื่อของสังคมดั้งเดิมในเรื่องของวิญญาณ เพราะความเชื่อในเรื่องวิญญาณจะช่วยอธิบายความสงสัยให้ปรากฏการณ์บางอย่างได้ เช่น ความตาย ความฝัน และเรื่องวิญญาณออกจากร่างท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ ไทยเลอร์เห็นว่า ความคิดเกี่ยวกับเรื่องของวิญญาณนี้สามารถนำไปอธิบายเรื่องลึกลับต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้[i]

ในขณะที่เฟรเซอร์ ได้ศึกษาสัมพันธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องไสยศาสตร์จนถึงวิทยาศาสตร์ ได้พบว่า ไสยศาสตร์เป็นเรื่องเชื่ออันดับแรกที่เกิดขึ้นและมีติดต่อกันมานาน เช่น การดื่มเลือดของแพะ วัวหรือกินสมองลิง การกินดีงู หรือในเรื่องฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม เป็นต้น และเดอร์ไคม์ เชื่อว่า การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น การใช้รูปแกะสลัก การบูชายัญ เป็นสิ่งเร้าความรู้สึก และอารมณ์อย่างสูงที่ทำให้เกิดพฤติกรรมร่วม การเคารพยึดถือในวัตถุสิ่งเดียวกัน ก่อนให้เกิดความสามัคคีในหมู่มวลเหล่าสมาชิก วัตถุนั้นมีค่าเพราะเป็นที่ยอมรับของสังคมนั้น พิธีกรรมและความเชื่อสะท้อนให้เห็นถึง การกระทำที่อยู่ในขอบเขตศีลธรรม ซึ่งเป็นรากฐานของการจัดระเบียบของสังคม

ได้มีการจัดแบ่งความเชื่อของมนุษย์ออกเป็นลัทธิ ได้ 2 ลัทธิ คือ ลัทธิธรรมชาตินิยม และลัทธิวิญญาณนิยม

ลัทธิธรรมชาตินิยม

ลัทธินี้นับถือธรรมชาติ เมื่อมนุษย์เกิดขึ้นมาก็มีธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ความมืด ความสว่าง ความร้อน ความหนาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ฟากฟ้า แม่น้ำ เกิดขึ้นอยู่ข้างเคียงให้มนุษย์ได้เห็น ได้สัมผัสมนุษย์ ได้รับความรู้สึกจากสิ่งเหล่านั้น เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ทำให้มนุษย์คิดว่า ธรรมชาติมีอำนาจ สามารถบันดาลความสุข ความทุกข์แก่ตน จึงเชื่อและถือว่า ธรรมชาตินั้น ๆ มีอำนาจอยู่เหนือธรรมชาติของมนุษย์ จึงเกรงกลัวกราบไหว้ นับถือบูชาสืบต่อกันมาตลอดชั่วลูกชั่วหลาน

มนุษย์เชื่อว่า มีอำนาจหรือพลังพิเศษยิ่งใหญ่ในธรรมชาติซึ่งควบคุมธรรมชาติ เชื่อว่า ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติเกิดจากพลังอำนาจนี้เอง เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น มนุษย์จึงเกิดความเกรงกลัวอำนาจดังกล่าว และเรียกพลังอำนาจนี้ว่า “มานา” หมายถึง วิญญาณซึ่งเป็นพลังอำนาจแห่งธรรมชาติ

ลัทธิวิญญาณนิยม

ลัทธินี้เป็นการนับถือผีสางเทวดา และวิญญาณต่าง ๆ ความมืด ความสว่าง ความร้อน ความหนาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฟากฟ้า แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ใหญ่สามารถดลบันดาลให้เกิดภาวะผันแปรไปได้ต่าง ๆ ในธรรมชาติ หรือบันดาลให้เกิดความสุขความทุกข์แก่ตนนั้น มีอำนาจอะไรสักอย่างหนึ่งสิงสถิตอยู่ สิ่งนั้น เรียกว่า “สปิริต” หรือ “วิญญาณ” อาจเป็นผีสางมารร้าย หรืออาจเป็นเทวะ กลายเป็นความเชื่ออำนาจผีสางเทวดา เชื่อว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนมีวิญญาณ สามารถบันดาลความสุข ความทุกข์ให้แก่มนุษย์ได้แต่ละอย่างตามอำนาจ และความกรุณาที่มีอยู่ เชื่อต่อไปว่า วิญญาณนั้นต้องมีร่างกาย แต่ไม่สามารถจะเห็นได้ จึงเริ่มสร้างภาพเอาด้วยความนึกคิดของตนเอง ภาพที่ตนนึกคิดสร้างขึ้นมานับถือนั้น เรียกว่า “ผีสางเทวดา” หรือ “พระเจ้า”

วิญญาณนิยมเป็นการแสดงถึงความเชื่อถือในสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถจะมองเห็นได้ แต่มีความฝังจิตใจในสิ่งนั้นอยู่จนไม่สามารถจะลบล้างออกจากจิตใจได้แล้วก็ยึดถือ จะเป็นความเชื่อถือที่จัดเป็นความเคยชินอันติดเป็นนิสัยขึ้นมา และความเชื่อเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ แต่ก็อาจจะถือว่า เป็นความเชื่อถือเพื่อชดเชยอารมณ์ และเกิดความรู้สึกกลัว และหวาดระแวง

ตามปกติมนุษย์มีความเชื่อถือในสิ่งที่มองไม่เห็นตัวตน แต่ถือและเข้าใจว่า มีฤทธิ์ หรืออำนาจเหนือตน อาจบันดาลให้ดีหรือร้าย หรือให้คุณและโทษแก่ตนเองได้ ความเชื่ออย่างนี้ เรียกว่า ลัทธิผีสางเทวดา อันเป็นคติทางศาสนาที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมของมนุษย์ ก่อนจะมีวิวัฒนาการมาเป็นคติทางศาสนาอันประณีตขึ้นในปัจจุบัน ลัทธิผีสางเทวดาแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ[ii]

  1. นับถือผีที่เป็นเทวดาอารักษ์ เช่น รุกขเทวดา เจ้าทุ่ง เจ้าป่า เจ้าเขา เป็นต้น ถือว่า มีเทพเจ้าประจำอยู่ทุกแห่ง
  2. ลัทธิบูชาบรรพบุรุษ นับถือผีปู่ย่า ตา ยาย และผีเรือน หรือผีบรรพบุรุษ ถือว่า บรรพบุรุษล่วงลับไปแล้ว วิญญาณมาอยู่ร่วมกันในร่มไม้ชายคาเดียวกันกับลูกหลาน นับถือผีวีรบุรุษ เช่น นับถือผีเจ้าพ่อกวนอู พระร่วง พระนเรศวร ขุนแผน เป็นต้น
  3. นับถือผีร้าย เช่น ผี ห่า (โรคต่าง ๆ) หรือ ซาตานต่าง ๆ
  4. ไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา ทำคุณไสย พ่อมดหมอผี และพระ หมอยา หรือหมอผู้วิเศษ ซึ่งมีความสามารถทำพิธีติดต่อกับพระเจ้าและวิญญาณได้ ทำนายรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้

จากการนับถือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติและผีสางเทวดาต่าง ๆ ด้วยความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ มีอำนาจมีพลังจะบันดาลสิ่งต่าง ๆ ทั้งดีและทั้งร้ายให้แก่มนุษย์ได้นี้เอง จึงสร้างเรื่องราวตำนานเรื่องปรัมปรา เทพนิยาย เรื่องลึกลับ ไสยศาสตร์ คาถาอาคม เครื่องราง ของขลัง ฯลฯ เล่าสืบต่อกันมาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ สู่ลูกหลาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ แม้จะขาดเหตุผลและพิสูจน์ไม่ได้ แต่นักศึกษาวิทยาศาสนา และนักศึกษาศาสนาที่มีชื่อเสียงหลายคน ก็เชื่อว่า มีส่วนในการเกิดศาสนาแบบเทวนิยมในเวลาต่อมา

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/vectorpouch


[i] สุพัตรา สุภาพ, 2520. สังคมกับวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

[ii] นงเยาว์ ชาญณรงค์. 2531. วัฒนธรรมและศาสนา. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้น่วนจำกัด สำนักพิมพ์.

ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง ศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยราภัฎอุดรธานี ชาตรี ชุมเสน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *