ความเป็นมาและกำเนิดศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู คือ คำสั่งสอนของพระวิษณุเป็นเจ้า

ในสมัยโบราณตั้งแต่แรกเริ่มศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ได้เรียกกันว่า “สนาตนธรรม” ซึ่งแปลว่า “ศาสนาสนาตน” และคำว่า “สนาตน” มีความหมายถึง “เป็นนิตย์” คือ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้จักตาย เรื่อย ๆ เสมอ ๆ นอกจากนั้น ยังสามารถแปลได้อีกอย่างหนึ่ง เมื่อได้แยกพยางค์ออกแล้ว คือ “สนา” แปลว่า ไม่รู้จักตาย หรือเป็นนิตย์ กับ “ตน” แปลว่า กาย เมื่อรวมกันเข้าแล้ว แปลตามศัพท์หรือแปลโดยพยัญชนะว่า การอันไม่รู้จักตาย แปลเอความหมายถึง พระวิษณุ หรือกายอันไม่รู้จักตาย กล่าวคือ พระวิษณุ เพราะฉะนั้น สนาตนธรรม จึงเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “วิษณุธรรม” คือ คำสั่งสอนของพระวิษณุเป็นเจ้า นั่นเอง ครั้งเวลาล่วงเลยมาหลายพันปี ศาสนานี้ได้มีชื่อเรียกกันในหลายชื่อว่า “ไวทิกธรรม” อารยธรรม” “พราหมณธรรม” “ฮินดูธรรม” หรือ “หินทูธรรม”

ปัญหาชื่อว่า “สนาตนธรรม” เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยไหนนั้น ความจริงในโลกนี้ยังไม่เคยมีใครสามารถตอบได้อย่างถูกต้องถ่องแท้ เลยได้แต่สันนิษฐานและอภิปรายให้ความเห็นกันไปต่าง ๆ ตามทรรศานุทรรศนะแห่งตน ๆ ในคัมภีร์พระเวทตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สนาตนธรรม” เป็นธรรมทั้งอนาทิและเนติ แปลว่า ไม่มีต้น หรือไม่สามารถหาตอนปลายได้ หรือไม่รู้จบ กล่าวสรุปให้ง่าย สนาตนธรรม คือ ธรรมะอันไม่มีต้นและไม่มีปลายด้วย

แต่อย่างไรตาม ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เชื่อถือกันว่า “สนาตนธรรม” เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มต้นสร้างโลกแล้ว ซึ่งนับว่า เป็นเวลาที่นานแต่กระนั้นก็ยังนับจำนวนปีได้ถึงเลข 15 คือ 155, 528, 643, 893, 085 (หนึ่งร้อยหาสิบห้าล้านห้าแสนสองหมื่นแปดพันหกร้อยสี่สิบสามล้านแปดแสนเก้าหมื่นสามพันแปดสิบห้า) ตามหลักในคัมภีร์โหราศาสตร์ “สุริยสิทธานตะ” การนั้นเช่นนี้ในภาษาฮินดีเป็นภาษาราษฎรภาษา คือ ภาษากลางแห่งชาติของประเทศอินเดีย

ความเป็นมาของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

ศาสนาฮินดูมีจุดเริ่มต้นเมื่อชาวอารยะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศอินเดียบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ฮินดู” เมื่อประมาณ 3,500 กว่าปีมาแล้ว แม่น้ำสินธุปัจจุบันมีต้นน้ำที่เกิดจากภูเขาหิมาลัยในเขตประเทศอินเดีย ไหลผ่านประเทศปากีสถานไปลงที่ทะเลอาหรับ ซึ่งชาวอารยะมีคัมภีร์ทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเรียกว่า “เวทะ หรือพระเวท” แต่แรกทีเดียวมีเพียง 3 คัมภีร์ ประกอบด้วย ฤคเวท สามเวท และยชุรเวท และต่อมา มีคัมภีร์อถรรพเวทเพิ่มขึ้นอีกคัมภีร์ ซึ่งเชื่อกันว่า คัมภีร์พระเวทไม่ใช่คัมภีร์ที่มนุษย์แต่งขึ้น แต่เป็นคัมภีร์ที่พวกฤษีได้ยินมาโดยตรงมาจากพระเป็นเจ้า คัมภีร์นี้จึงมีชื่อเรียกรวม ๆ กันว่า ศรุติ คือ “การได้ยิน” ซึ่งผู้ที่ได้ยิน คือ ฤษีผู้มีญาณวิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดา

อย่างไรก็ตาม ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่สืบทอดมาจากศาสนาที่นับถือคัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ดังนั้น จึงเป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดาเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาเหมือนกับศาสนาอื่น ๆ ทั่วไป ในบางครั้งชาวฮินดูจะเรียกศาสนาของตนเองว่า “สนาตนธรรม” ซึ่งแปลว่า ศาสนาที่มีมาแต่นิรันดร์กาล คือ มีมาแต่ดั้งเดิมไม่มีใครรู้ว่า ว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ ซึ่งศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอินเดียนับถือ

คัมภีร์ หลักความเชื่อ หลักคำสอนของศาสนา

คัมภีร์ที่ผู้นับถือศาสนาฮินดูนับถือมีคัมภีร์จำนวนมากมาย ซึ่งไม่สามารถจะกล่าวได้ทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้เกิดการรับรู้กันอย่างกว้าง ๆ ขอกล่าวเฉพาะคัมภีร์ที่สำคัญใน 3 สมัย คือ

  1. สมัยพระเวท คัมภีร์ที่สำคัญ คือ ฤคเวท สามเวท ยชุรเวท อถรรพเวท พรหมณะ อารัณยกะ และอุปนิษัท
  2. สมัยอติหาสะ มีคัมภีร์ 2 คัมภีร์ คือ รามายณะและมหาภารตะ แต่ในคัมภีร์มหาภารตะมีคำสอนของพระกฤษณะแทรกอยู่ คำสอนดังกล่าวมีชื่อว่า “ภควัทคีตา” เป็นคำสอนที่ชาวฮิดูไม่ว่าจะอยู่นิกายใดให้ความนับถืออย่างสูง
  3. สมัยปุราณะ มีความสำคัญที่สุดสำหรับศาสนาฮินดู ซึ่งคัมภีร์ปุรณะแบ่งเป็นมหาปุราณะและอุปปุราณะ
    • มหาอุปราณะมีทั้งหมด 18 คัมภีร์ คือ วิษณะปุราณ ศิวปุราณ มัตสยปุราณ ภาควตปุราณ ครุฑปุราณ สกันทปุราณ พรหมาณฑปุราณ พรหมไววรตปุราณ ภวิษยปุราณ มารกันณเฑยปุราณ อัคนิปุราณ วายุปุราณ ปัทมปุราณ กูรมปุราณ พรหมปุราณ ลิงคปุราณ วราหปุราณ และวามนปุราณ และ
    • คัมภีร์อุปปุราณะ ซึ่งมีจำนวนนับร้อย ในยุคนี้ศาสนาฮินดูแบ่งออกเป็นสองนิกายอย่างชัดเจน คือ นิกายที่นับถือพระศิวะว่าเป็นพระเจ้าสูงสุด เรียกว่า “ไศวะ” และนิกายที่นับถือว่า พระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุด เรียกว่า “ไวยณวะ” ข้อแตกต่างระหว่างสองนิกาย คือ ฝ่ายไศวะบูชาศิวลึงค์ (ศิวลิงค หรือ ศิวลึงค์ เป็นวัตถุทรงกลมอาจะทำด้วยหิน โลหะ หินมีค่า ไม้ ดิน ตั้งอยู่บนฐานที่เรียกว่า “โยนิ” ศิวลึงค์เป็นวัตถุสัญลักษณ์ที่ชาวฮินดูไศวนิกายถือว่า เป็นสิ่งศักดิ์ที่สุด จะประดิษฐานไว้ในเทวาลัย ตรงส่วนที่เรียกว่า ครรภคฤหะ อันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ หรือสัญลักษณ์ทางศาสนาที่สำคัญที่สุด) ส่วนฝ่ายไวษณวะบูชาอวตารปางต่าง ๆ ของพระวิษณุ ปางที่ได้รับการเคารพนับถือมากที่สุด คือ พระรามและพระกฤษณะ ชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักพระองค์ในนามว่า “พระนารายณ์” ผู้นับถือศาสนาฮินดูไวษณวนิกาย ถือว่า พระองค์เป็นพระเจ้าสูงสุด แต่พระวิษณุในรูปที่ต้องเกี่ยวข้องกับโลกเป็นหนึ่งในตริมูลรติ (วิษณุ ศิวะ พรหม) มีหน้าที่รักษาจักรวาลที่พระพรหมาได้สร้างขึ้นก่อนที่จะถูกพระศิวะทำลายในที่สุด

คัมภีร์ใน 3 สมัยนี้ เป็นคัมภีร์ที่ใช้ภาษาสันสกฤตทั้งสิ้น ผู้ที่รู้ภาษาสันสกฤตและสามารถประกอบพิธีทางศาสนาฮินดู คือ พราหมณ์เท่านั้น ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ได้มีการแต่งคัมภีร์และบทสวดบูชาพระเป็นเจ้าและเทพเจ้าด้วยภาษาท้องถิ่นเพื่อให้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ มีความเข้าใจศาสนาที่ตนนับถือได้ง่ายขึ้น คัมภีร์ที่สำคัญหลักยุคปุราณะ คือ คัมภีร์รามจริตมานัส ซึ่งเป็นเรื่องรามเกียรติ์ที่แต่งด้วยภาษาอวธี ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูนิกายไวษณวะจะให้ความเคารพนับถือคัมภีร์นี้มาก

หลักความเชื่อของศาสนาฮินดู

ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่เชื่อในพระเจ้า พระเจ้ามีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตว่า พฺรหมฺ หลักธรรมคำสอน หลักปฏิบัติพื้นฐานจุดมุ่งหมายของชีวิตตามแนวทางของศาสนาฮินดูมี 4 ประการ คือ

  1. อรถะ หรืออรรถะ การแสวงหาทรัพย์เพื่อการดำรงชีวิตภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา
  2. ธรมะ หรือธรรมะ การดำรงชีวิตภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา
  3. กามะ การแสวงหาความสุขทางโลก ภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา
  4. โมกษะ ในที่สุดต้องแสวงหาความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

จุดมุ่งหมาย 3 ข้อแรก ต้องการให้ศาสนิกดำรงชีวิตทางโลก เต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนาของตนแต่เมื่อมีความสุขอย่างมีศีลธรรมในระดับโลกแล้ว ศาสนิกจะต้องแสวงหาเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต คือ ความพ้นไปจากการตายแล้วเกิด ซึ่งเป็นผลของกรรมหรือการกระทำทุกอย่างในโลกต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ทุกอย่างในดลกเป็นสิ่งไม่คงอยู่ชั่วนิรันดร อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่ว่า เกิดขึ้นคงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ในที่สุดก็สูญสลายไป สิ่งที่เป็นนิรันดร คือ ความเจริญสูงสุด หรือพระเป็นเจ้า

ขอขอบคุณที่มาบทความ ชาตรี ชุมเสน เรื่อง ศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยราภัฎอุดรธานี

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/niksads

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *