การพยากรณ์ดวงชะตาและบทบาทของ “โหร” “หมอดู” “พระหมอดู”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความของคำว่า “โหราศาสตร์” ไว้ว่า “วิชาว่าด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นหลัก” (ราชบัณฑิตสถาน, 2556) ทั้งนี้ ธีระนันท์ วิชัยดิษฐ์, 2561) อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “โหราศาสตร์” สรุปได้ว่า โหราศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการสังเกตการณ์โคจรของดวงดาวในจักรวาล ซึ่งในสมัยโบราณนั้นผู้คนได้สังเกตการโคจรของดวงดาวต่าง ๆ ในจักรวาล แล้วนำมาบันทึกเป็นสถิติว่า การโคจรของดวงดาวส่งผลต่อธรรมชาติและวิถีชีวิตมนุษย์อย่างไร เมื่อได้ข้อมูลเชิงสถิติที่แน่นอนแล้ว จึงตั้งเป็นหลักเกณฑ์เพื่อใช้พยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก

ชนชาติแรกที่ศึกษา “โหราศาสตร์” นั้นมีการสันนิษฐานว่า เป็นชนชาติในอารยะธรรมเมโสโปเตเมีย เนื่องจาก สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะแก่การสังเกตการโคจรของดวงดาว นอกจากนี้ ในอารยธรรมอียิปต์ก็มีความสนใจในวิชาโหราศาสตร์ เพื่อคำนวณหาเวลาน้ำขึ้นน้ำลงของแม่น้ำไนล์ในการเตรียมการเพื่อเพาะปลูก รวมถึงการสร้างปฏิทินที่ต่อมาชาวกรีก โรมัน รวมถึงประเทศในอารยธรรมยุโรปได้นำแนวคิดดังกล่าวไปพัฒนาจนกลายเป็นปฏิทินสากลที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ประเทศในแถบเอเชียที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับโหราศาสตร์นั้นประกอบด้วย ประเทศจีนและประเทศอินเดีย โดยชาวจีนได้ศึกษาการโคจรของดวงดาวเพื่อสร้างปฏิทิน และใช้ในการเดินเรือ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาความรู้ทางโหราศาสตร์โดยใช้หลักธาตุทั้ง 5 เพื่อพยากรณ์ลักษณะบุคคล อีกทั้งยังใช้หลักทางโหราศาสตร์เพื่อใช้ในการรักษาโรคอีกด้วย

ด้านประเทศอินเดียนั้นสันนิษฐานว่าการศึกษาทางโหราศาสตร์เกิดขึ้นในยุคพระเวทราว 3,000 – 4,000 ปีมาแล้ว โดยโหราศาสตร์อินเดียได้เชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูที่ต่อมาได้พัฒนาไปสู่การประกอบพิธีกรรมที่ต้องอาศัยหลักทางโหราศาสตร์ด้วย ทั้งนี้ โหราศาสตร์ของอินเดียมีลักษณะเด่น คือ การพยากรณ์เรื่องราวของบุคคล ซึ่งแนวคิดโหราศาสตร์ของอินเดียได้ส่งอิทธิพลไปยังลังกา รวมถึงดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในสังคมไทยนั้นสันนิษฐานว่า ได้รับวิชาโหราศาสตร์มาจากชมพูทวีป (อินเดียและลังกา) ตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลังกาผ่านกลุ่มพระสงฆ์ กล่าวคือ พญาลิไททรงมีความรู้ทางโหราศาสตร์จนทรงคำนวณและเรียบเรียงพระตำราพรรษา มาส สุริยุปราคา จันทรุปราคา ทินวาร และนักษัตร อีกทั้งยังได้ทรงตัดศักราชจากเดิมเริ่มปีใหม่ ในเดือนอ้าย ขึ้น 1 ค่ำ เป็นเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ กระทั่งในสมัยอยุธยาได้เกิดตำแหน่งพระโหราธิบดีขึ้น ซึ่งมีหน้าที่อย่างหนึ่ง คือ การพยากรณ์ทางโหราศาสตร์

ในสมัยรัตนโกสินทร์วิชาโหราศาสตร์ยังคงเป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในราชสำนัก ชนกพร พัวพัฒนกุล (2556) กล่าวว่า โหราศาสตร์นั้น เป็นศาสตร์ที่ได้รับยกย่องโดยในราชสำนักสมัยต้นรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานว่า มีการตั้ง “กรมโหร” สังกัดกระทรวงวัง มีตำแหน่งข้าราชการ เช่น หลวงญาณเวท หลวงไตรเพทวิไสย ขุนโลกพรหมา และขุนโลกพยากรณ์ ทำหน้าที่คำนวณปฏิทินถวายพระมหากษัตริย์ พยากรณ์ดวงชะตาของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งติดตามกองทัพเพื่อให้คำปรึกษาด้านฤกษ์ยามและการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ สำหรับประชาชนทั่วไปในสังคมไทยก็มีความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์และการพยากรณ์ดวงชะตาเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการใช้ถ้อยคำสำนวนต่าง ๆ เช่น พรหมลิขิต เคราะห์หามยามร้าย ฟากเคราะห์ ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน บุญมาวาสนาส่ง แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้ ราชรถมาเกย ฤกษ์พานาที ถูกชะตา ศรศิลป์ไม่กินกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงการพยากรณ์ดวงชะตาและบทบาทของ “โหร” “หมอดู” “พระหมอดู” ในวรรณคดี นิทาน และตำนานต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยมีความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์และการพยากรณ์ดวงชะตาอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อเรื่องเคราะห์ที่เป็นความเชื่อที่ผูกพันกับวิถีชีวิต โดยมีความเกี่ยวข้องกับพระราหู ซึ่งมีความสัมพันธ์กับดวงชะตาและศาสตร์การพยากรณ์ในด้านไม่ดี เป็นสัญลักษณ์ของลางร้ายและความทุกข์ต่าง ๆ  (ประเสริฐ รุนรา, 2562)

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อโหราศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดยความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ผูกพันกับความเชื่อและวิถีชีวิตด้านต่าง ๆ ของคนในสังคม ทั้งนี้ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ดังกล่าวเป็นความเชื่อที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยจึงอาจมีอิทธิพลต่อการผลิตตัวบทวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอความคิดบุญมีผลต่อดวงชะตาที่ปรากฏในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในหนังสือธรรมะและหนังสือพิมพ์อันนำไปสู่การประกอบสร้างอุดมการณ์โชคชะตา โดยวาทกรรมเกี่ยวกับบุญดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับดวงชะตาที่เชื่อว่า ดวงชะตาของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่มีอำนาจในการควบคุมหรือกำหนดการกระทำและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้า เทวลิขิต พรหมลิขิต หรืออิทธิพลของดวงดาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของดาวราหูหรือพระราหูที่ในทางโหราศาสตร์เชื่อว่า เป็นเป็นดวงดาวในฝ่ายบาปเคราะห์ เป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของคำทำนายในแง่ร้ายและความไม่เป็นมงคล ก่อให้เคราะห์และความทุกข์ต่าง ๆ

เมื่อเกิดเคราะห์และความทุกข์ขึ้น มนุษย์จะแสวงหาสิ่งที่ทำให้เคราะห์และความทุกข์นั้นน้อยลงหรือหมดไป ทั้งนี้ วาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะยังได้นำเสนอให้เห็นว่า สิ่งที่ช่วยให้เคราะห์และความทุกข์ต่าง ๆ น้อยลงหรือหมดไปนั้น คือ “บุญ” กล่าวคือ “บุญ” และ “การทำบุญ” นั้นจะส่งผลให้มีดวงชะตาหรือชะตากรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เคราะห์ที่มีอยู่นั้น หมดสิ้นไปหรือเบาบางลงได้

การนำเสนออุดมการณ์โชคชะตาในวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะดังกล่าวเป็นการผลิตซ้ำและตอกย้ำความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ที่มีอยู่ในสังคมไทย ในขณะเดียวกันก็สร้างความคิดเกี่ยวกับการผสมผสานความคิดระหว่างความเชื่อในทางโหราศาสตร์และคติทางพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน ช่วยเน้นย้ำให้เห็นผลจากการทำบุญว่าสามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขดวงชะตาได้ ซึ่งมีส่วนช่วยโน้มน้าวให้ผู้บริโภควาทกรรมเกิดความปรารถนาที่จะทำบุญโดยมีเป้าหมาย คือ การทำให้ชีวิตมีความสุขด้วยการมีดวงชะตาที่ดีขึ้นหรือการมีเคราะห์น้อยหรือเบาบางลงไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *