ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

ความหมายของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Dietary supplements)

          ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือเสริมอาหาร (Dietary supplements) ถูกจัดให้เป็นอาหารชนิดหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ จะอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผล เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่น ซึ่งมิใช่รูปแบบอาหารตามปกติ (conventional foods) สำหรับผู้บริโภคที่คาดหวังประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพ

โดยสารอาหารหรือสารอื่น ๆ ได้แก่
  1. วิตามิน กรดอะมิโน กรดไขมัน แร่ธาตุ และผลิตผลจากพืชหรือสัตว์
  2. สารเข้มข้น สารเมตาโบไลท์ ส่วนประกอบหรือสารสกัดของสารในข้อ 1
  3. สารสังเคราะห์เลียนแบบสารตามข้อ 1 และ 2
  4. ส่วนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างของสารในข้อ 1, 2 หรือ 3
  5. สารหรือสิ่งอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารและยา

ประเภทของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สามารถแบ่งประเภทของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตามประเภทของสารสกัด ได้ดังนี้

  1. กลุ่มสารสกัดจากพืช เช่น ผงบุก เกสรดอกไม้ ส้มแขก สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย
  2. กลุ่มสารสกัดจากสัตว์ เช่น เปลือกสัตว์ทะเล (ไคโตซาน) โปรตีนจากปลาทะเล
  3. กลุ่มน้ำมันและไขมัน เช่น เลซิติน น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส น้ำมันปลา
  4. กลุ่มโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ เช่น เบต้าแคโรทีนธรรมชาติ
  5. กลุ่มธัญพืช เช่น รำข้าวสาลี รำข้าวโอ๊ต
  6. กลุ่มอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น บริวเวอร์ยีสต์ชนิดเม็ด โพรโพลิส (ยางผึ้ง)  เบเกอร์ยีสต์ โพรโพลิส (ยางผึ้ง) เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยังมีความหมายที่รวมถึง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการนำเข้ามาแบ่งบรรจุหรือมีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนประกอบของผลิตอาหารเสริมนั้น เช่น การนำไปตอกเม็ด โดยที่ไม่มีการเติมส่วนผสมอื่น ๆ ลงในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เป็นต้น[i]

สุรอรรถ ศุภจัตุรัส (2554)[ii] แบ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เป็น 4 ประเภท ได้แก่
  1. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อบำรุงสมอง เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยซ่อมแซมและทำให้การทำงานของสมองสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โอเมก้า-3 โคลีน เป็นต้น
  2. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อการควบคุมน้ำหนัก เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยลดความอยากอาหารและลดปริมาณไขมัน โดยอาจเพิ่มการเผาผลาญไขมัน เช่น แอลคานิทีน หรือทำหน้าที่ดักจับไขมันไม่ให้ดูดซึม เช่น ไคโตซาน เป็นต้น
  3. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อความสวยงาม เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยเรื่องความสวยงามและชะลอวัย เช่น คอลลาเจนช่วยเรื่องความชุ่มชื้นของผิว ช่วยให้ผิวเรียบ เนียนกระชับ เป็นต้น
  4. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ โดยมีความเชื่อว่า จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น กลูโคซามีน สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สามารถแบ่งออกได้ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน 5 ประเภท[iii] (healtect, 2564) ได้แก่

               1. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสุขภาพให้กับผู้ที่รับประทานแบบรอบด้าน หรือมีส่วนช่วยในการบำรุงร่างกายเฉพาะจุดประสงค์ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่สามารถรับประทานได้ทุกเพศ-ทุกวัย (ขึ้นอยู่กับหน้าที่ สารอาหาร และปริมาณที่ควรรับประทาน) ตัวอย่างเช่น

                    1.1 อาหารเสริมบำรุงสมอง: ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทและสมอง

                   1.2 อาหารเสริมเพิ่มความสูง: ช่วยในการเสริมสร้างแคลเซียม เพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก เป็นส่วนช่วยให้ร่างกายมีส่วนสูงมากขึ้น

                   1.3 อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน: ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายแข็งแรงห่างไกลจากโรคต่าง ๆ

                   1.4 อาหารเสริมผู้ชาย: เหมาะสำหรับผู้ชายที่มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นกเขาไม่ขัน ช่วยเพิ่มความแข็งแรง กระตุ้นการทำงานของอวัยวะเพศ

                    1.5 อาหารเสริมบำรุงสายตา: ช่วยในการบำรุงการทำงานของระบบสายตาและการมองเห็น

                    1.6 อาหารเสริมบำรุงร่างกาย: ช่วยในการบำรุงร่างกายรอบด้าน เพิ่มความแข็งแรง ช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น

                    1.7 อาหารเสริมผู้สูงอายุ: เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่ช่วยบำรุงร่างกายสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

          2. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับหรือเพื่อความงาม เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับการรับประทานเพื่อความต้องการในผลลัพธ์ด้านผิวพรรณ และด้านรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งในบริเวณร่างกายโดยรวม หรือในบริเวณใบหน้า ซึ่งจะช่วยทำให้มีผิวพรรณที่สดใส ทำให้มีผิวพรรณที่ขาวกระจ่างใส แลดูเปล่งปลั่ง ดูมีน้ำมีนวล มีสุขภาพผิวที่ดี จะช่วยลดปัญหาในเรื่องของสิว ฝ้า หรือยังช่วยในการทำให้เส้นผมดูเงางาม ขึ้น หรือปัญหากวนใจต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผิวพรรณก็สามารถที่จะรับประทานได้ทั้งเพศชาย-หญิง แต่โดยส่วนมากจะเป็นที่นิยมในหมู่ของสุภาพสตรีมากกว่าสุภาพบุรุษ ตัวอย่างเช่น

              2.1 อาหารเสริมเพิ่มผิวขาว: ช่วยทำให้ผิวพรรณดูขาวกระจ่างใส เปล่งปลั่งจากภายในสู่ภายนอก เช่น กลูตาไธโอน

              2.2 อาหารเสริมลดสิว: เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยลดปัญหาการเกิด สิว ทั้งสิวอุดตัน สิวอักเสบ หรืออื่น ๆ บริเวณใบหน้า มีสรรพคุณช่วยปรับฮอร์โมน

              2.3 อาหารเสริมบำรุงเส้นผม: ช่วยในการบำรุงเส้นผมให้เปล่งประกาย ดำเงางาม มีสุขภาพเส้นผมดี ผมไม่ร่วงหลุดเยอะ

              2.4 อาหารเสริมลดฝ้า: เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยลดปัญหาการเกิด ฝ้าหรือกระ บริเวณใบหน้า เพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน

          3. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทางการแพทย์ คือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนช่วยในการเป็นเหมือนยารักษา ฟื้นฟู บำบัด อาการป่วยจากโรคต่าง ๆ หรือช่วยบำรุงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายต่าง ๆ ของเราให้แข็งแรงขึ้น มักจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยไปรับประทานเพิ่มเติม จึงได้ชื่อว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น

              3.1 อาหารเสริมบำรุงตับ: มีส่วนช่วยในการบำรุง ตับ ให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคร้ายเกี่ยวกับ ตับ เช่นโรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ

               3.2 อาหารเสริมลดไขมันในเลือด: มีส่วนช่วยในการลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตให้ทำงานได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงจากโรคร้าย ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้

              3.3 อาหารเสริมบำรุงข้อเข่า: มีส่วนช่วยในการบำรุงข้อเข่า หรือกระดูกบริเวณข้อต่อของร่างกาย ให้แข็งแรงขึ้น เหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณข้อเข่า เช่น นักกีฬา

              3.4 อาหารเสริมบำรุงเลือด: มีส่วนช่วยในการบำรุงเลือด ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคโลหิตจาง หรือภาวะเลือดน้อย เลือดไม่แข็งตัว

              3.5 อาหารเสริมช่วยการนอนหลับ: มีส่วนช่วยในการนอนหลับ ให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น แต่แนะนำต้องเป็นอาหารเสริมประเภท เมลาโทนิน และไม่ควรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ออกฤทธิ์กล่อมประสาท

          4. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมการออกกำลังกาย เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ ฟื้นฟูความแข็งแรงสำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย นักกีฬา เปรียบเสมือนตัวช่วยในการทำให้ร่างกายแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มสมรรถภาพในการออกกำลังกายให้แก่ผู้รับประทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีทั้งแบบรับประทานก่อนออกกำลังกาย และหลังการออกกำลังกาย รวมถึงในรูปแบบอื่น ๆ ดังนี้

               4.1 อาหารเสริมลดน้ำหนัก: ช่วยในการลดน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน หรือกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญให้ดีขึ้น เช่นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำพวก Fat Burn

              4.2 อาหารเสริมเพิ่มน้ำหนัก: เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยในการเพิ่มน้ำหนัก เหมาะสำหรับผู้ที่มีแพลนที่จะต้องการเพิ่มกล้ามเนื้อ เพิ่มขนาดของร่างกายให้ดูใหญ่ขึ้น หรือนักกีฬาบางประเภท

               4.3 อาหารเสริมเวย์โปรตีน: เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแบบผงชงละลายน้ำ (หรือในรูปแบบของเหลว) เพื่อการเพิ่มโปรตีนเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว มีส่วนช่วยในการเพิ่มกล้ามเนื้อให้ร่างกาย เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ

ฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

          ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 293 พ.ศ. 2548 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมให้ข้อมูลการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความแสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้

              1. ชื่ออาหาร โดยมีคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหารหรือกำกับชื่ออาหาร

              2. เลขสารบบอาหาร

              3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า

              4. ปริมาณของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่บรรจุ

              5. ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ในฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

              6. โดยให้มีข้อความที่ชัดเจนว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” “เจือสีสังเคราะห์” “เจือสีธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งรสธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” และสุดท้าย “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” ถ้ามีการใช้

              7. โดยให้มีข้อความที่ชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่าง ๆ นั้น ควรต้องได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิดครบทั้ง 5 หมู่ และมีสัดส่วนที่พอเหมาะ”

              8. คำแนะนำในการใช้

              9. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)

              10. วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค หรือวันเดือนและปีที่อาหารยังมีคุณภาพหรือมาตรฐานดี สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เก็บไว้ได้ไม่เกิน 90 วัน เดือน และปีที่ผลิต และเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค หรือเดือนและปีที่อาหารยังมีคุณภาพหรือมาตรฐานดี สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน โดยมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วย แล้วแต่กรณี

              11. คำเตือนการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) และคำเตือนการบริโภคอาหาร เช่น ข้อความ “เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน”

              12. ข้อมูลเฉพาะอื่น ๆ ถ้าเข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ ฉลากโภชนาการ ฯลฯ2 (สดุดี บุนนาค, 2560, หน้า 9)

ข้อควรทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

               1. โดยทั่วไปแม้ว่า รูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจะใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ยา แต่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยา ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้รักษาหรือบรรเทาโรคใด ๆ ตลอดจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานภายในร่างกาย หรือช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายได้

               2. ขั้นตอนในการขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อจำหน่ายแตกต่างจากการขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งต้องมีกระบวนการพิจารณาเรื่อง ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์จนเป็นที่ประจักษ์แน่ชัดก่อนว่า สามารถรักษาหรือบำบัดบรรเทาโรคได้จริง ถึงจะอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยาได้ ดังนั้น จึงห้ามมิให้โฆษณาเผยแพร่ในเชิงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสามารถรักษาหรือบรรเทาโรคใด ๆ เพราะการโฆษณาเช่นนั้นเป็นการกล่าวอ้างสรรพคุณทางยา

               3. ต้องไม่โฆษณาโดยทำให้เข้าใจว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นเพียงอย่างเดียวจะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นได้ แต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะต้องบริโภคอาหารหลักให้ครบส่วนรวมทั้งการออกกำลังกายและการพักผ่อนที่เหมาะสมด้วย

               4. ไม่อนุญาตให้มีการกล่าวอ้างหรือรับรองคุณภาพ คุณประโยชน์โดยบุคคล องค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ

               5. การโฆษณาโดยการแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารแต่ละชนิดที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น สามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า มีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง

               6. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใดมีการแสดงข้อความกล่าวอ้างทางโภชนาการ หรือกระทำการโฆษณาโดยกล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการเพื่อส่งเสริมการขาย ต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลากเพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย

               7. ต้องไม่สื่อความหมายให้เข้าใจว่า เป็นอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนักหรือสามารถใช้ลดน้ำหนักได้

               8. การที่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้รับอนุญาตให้จำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว แสดงว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองเฉพาะสรรพคุณตามที่ขออนุญาต ซึ่งกำหนดให้ระบุบนฉลาก ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียดบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมก่อนทุกครั้งไม่ควรเชื่อจากการกล่าวอ้างของผู้ขาย

               9. อย่างไรก็ดี มีการพบเอกสารวิชาการ บทความ และคอลัมน์สุขภาพ ที่มีการเอ่ยถึงสารเคมีหรือวัตถุดิบที่มีการสกัดจากธรรมชาติและมีการกล่าวถึง ในการช่วยรักษาโรค หรือมีการช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของภายในร่างกาย ตลอดจนเข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย เช่น มีการกล่าวว่า จะเข้าไปช่วยรักษาโรคมะเร็ง เบาหวาน ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยลดไขมันส่วนเกิน และช่วยลดริ้วรอย แก้ปัญหาจุดด่างดำ ฝ้า กระ บนใบหน้า ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคหรือผู้จัดจำหน่ายเชื่อมโยงข้อมูลด้วยตนเอง จนก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรืออาจมีความเชื่อที่ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีสารนั้น สารนี้ ซึ่งสามารถที่จะรักษา บรรเทาโรค หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายของตนเองได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ปริมาณสารที่ออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้น ยังมีปริมาณที่ไม่ถึงขนาดที่ใช้สำหรับการป้องกัน บำบัด รักษาโรค หรือทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานตลอดจนโครงสร้างร่างกายได้[iv]


[i] สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2558). หลักเกณฑ์และแนวทางการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี. จากfda https://www.fda.moph.go.th/sites/food/manual/Manual_5.1.pdf

[ii] สดุดี บุนนาค. (2560). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในเขตกรุงเทพมหานคร. (ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) หน้า 8.

[iii] Healtect. (2564). ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม คืออะไร ? รวมทุกอย่างที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อัปเดต 2022. จากHealtect https://www.naturebiotec.com/dietary-supplement-products2022/

[iv] นัทธมน เดชประภัสสร. (2558). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางอินเทอร์เน็ต. (ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) หน้า 6.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *