การแบ่งชั้นทางจริยธรรมเชิงพุทธ

ในการแบ่งชั้นศีลธรรมทางพุทธศาสนานั้น ต้องอาศัยการเรียนรู้ค่อนข้างมาก มิฉะนั้น จะสับสนไม่น้อย เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นระบบศีลธรรมมีชื่อหลักธรรมและความคิดเกี่ยวกับศีลธรรมจำนวนมาก บางประการนั้น สรุปไว้ในกลุ่มเดียวกัน ถือว่า ศีลธรรมจากมุมมองต่างกัน การแบ่งชั้นศีลธรรมในหลายกรณีจะปะปนหรือไขว้กันอยู่ บางหัวข้อเล็กนั้นปรากฏอยู่ในหลายหัวข้อใหญ่ เช่นคำว่า “ทาน” ปรากฏอยู่ในข้อแรกแห่งทศพิธราชธรรม ข้อแรกของบารมี 10 ทัศ ข้อแรกของสังคหวัตถุ 4 ข้อแรกของบุญกิริยาวัตถุ 10 เป็นต้น นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า อริยมรรคทั้ง 8 องค์จัดลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา โดยถือว่า ศีลเป็นเบื้องต้นของสมาธิ และสมาธิเป็นบาทให้เกิดปัญญาฌาน แต่ตามขอบขายนี้จัดจริยธรรมเชิงพุทธเป็น 3 ขั้น คือ จริยธรรมเชิงพุทธขั้นมูลฐาน จริยธรรมเชิงพุทธขั้นกลาง และจริยธรรมเชิงพุทธขั้นสูง

จริยธรรมเชิงพุทธขั้นมูลฐาน

จริยธรรมเชิงพุทธขั้นมูลฐานนั้น มีหลักการอะไรถูกจัดไว้ในขั้นนี้ ก่อนอื่นใคร่อธิบายคำว่า ขั้นมูลฐานก่อนว่าทำไมจึงเป็นขั้นมูลฐานหรือขั้นพื้นฐาน การที่จัดว่า เป็นขั้นมูลฐานก็เพราะเป็นหลักจริยธรรมสำหรับชาวบ้านปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน เหมาะกับภาระหน้าที่ วิถีชีวิตและความจำเป็นต่อชนระดับชาวบ้านพื้น ๆ และหลักจริยธรรมที่จัดเป็นขั้นนี้ได้แก่ เบญจศีล เบญจธรรม ซึ่งมีจำนวนข้อไม่มาก เป็นความสะดวกแก่การดำรงชีวิตอย่างชาวบ้าน ง่ายต่อการศึกษาและปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นศีลก็เป็นที่ถือปฏิบัติฝึกตนเองด้วย (Training Rules) ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นมนุษยธรรม ถ้ามีจำนวนข้อบังคับมาก ๆ อย่างเช่น วินัยของพระสงฆ์ จำนวน 227 ข้อ จะสร้างความลำบากใจแก่ชาวบ้านอย่างมาก แทบไม่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิตอะไรเลย อาจจะผิดศีลธรรมทุกย่างก้าว ดังนั้น จึงจัดเบญศีล และเบญจธรรม ไว้เป็นเบื้องต้นกับบุคคลที่ต้องใช้ชีวิตตามปกติสามัญ ตามเอส ตาชิบานา (S.Tachibana) กล่าวว่า รูปแบบของคำที่เป็นบทธรรมดาที่สุดของศีลธรรม คือ คำว่า “เบญจศีล” ซึ่งตรงกับเบญจศีลในพระไตรปิฎก ดังนี้ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากการลักทรัพย์ การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม การงดเว้นจากการพูดเท็จ และการงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา หรือสุราและเมรัย

นอกจาก เบญจศีลแล้ว ยังมีเบญจธรรมซึ่งเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศีลด้วย ถือเป็นศีลธรรมฝ่ายบวก เป็นคำที่ใช้อธิบายศีลเชิงบวก ต่างกับเบญจศีลที่เป็นลักษณะอธิบายเชิงลบเป็นการอธิบายศีลเชิงลบเข้าไปหาเชิงบวก เหมือนเหรียญสองด้าน แท้ที่จริงแล้วก็มีจุดหมายเดียวกันในการชำระจิตใจให้สะอาดด้วยการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ดีทางกายและทางวาจา เบญจธรรมดังกล่าวนั้น ได้แก่

  1. เมตตากรุณา คือ ความรักปรารถนาให้เป็นสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป และกรุณา คือ ความปรารถนาคนอื่น ๆ ให้พ้นจากทุกข์
  2. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต
  3. กามสังวร คือ การสำรวมระวังพฤติกรรมทางเพศ อันจะเป็นเหตุให้เกิดการล่วงประเวณี
  4. สัจจะ คือ การพูดเรื่องตามที่เป็นจริง ไม่โกหก ไม่หลอกลวง
  5. สติสัมปชัญญะ คือ ตัวควบคุมพฤติกรรมไม่ให้พลาดพลั้งด้วยการงดการดื่มน้ำผสมแอลกอฮอล์ เป็นเหตุให้เสียสติ ตกอยู่ในความประมาท

การเปรียบเทียบเบญจศีลและเบญจธรรม

เบญจศีลเบญจธรรม
ปาณาติปาตา เวรมณีเมตตา – กรุณา
อทินนาทานา เวรมณีสัมมาอาชีวะ
กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณีกามสังวร
มุสาวาทา เวรมณีสัจจะ
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณีสติสัมปชัญญะ

บางคนอาจจะคิดไปว่า ศีลสำหรับปฏิบัติพื้นฐานระดับชาวบ้านเพียง 5 ข้อเท่านี้ จะป้องกันและแก้ปัญหาสังคมอย่างไร ขนาดกฎหมายมีเป็นร้อย ๆ มาตราก็ยังคนประพฤติผิดไม่เว้นวัน ข้อนี้แท้จริงแล้วก็ศีล 5 ก็เป็นหลักประกันทุกอย่างแก่มนุษย์แล้ว ดังมีคำอธิบาย ดังนี้

ศีล 5 ข้อ 1 ถือว่า เป็นหลักประกันความปลอดภัยแห่งชีวิต ข้อนี้ เมื่อเรามองย้อนไปก่อนกำเนิดพระพุทธศาสนาจะทราบว่า แพะ แกะ ม้า วัว ถูกฆ่าอย่างล้นเหลือเพื่อการบูชายัญหวังให้พระเจ้าที่ตนเคารพโปรดปราน การบูชาเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไร้สาระที่สุด ในสมัยเดียวกันนั้นเอง มีความโหดร้ายทารุณอย่างไม่มีการอภัย แม้แต่น้ำยังบัญญัติเป็นสิกขาบทก่อนดื่ม ต้องกรองก่อนเพราะเกรงว่า จะกลืนสิ่งมีชีวิตเข้าไป ห้ามทิ้งเศษอาหาร ปัสสาวะลงในน้ำ เพราะเกรงว่า สัตว์อยู่ในน้ำจะได้รับอันตราย ห้ามพรากของเขียว เพราะเกรงว่า ชีวิตสัตว์อยู่ในหญ้านั้นจะตาย กำหนดให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาในฤดูฝน เพราะเกรงว่า จะเหยียบข้าวกล้าของชาวไร่ชาวนาที่กำลังเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจจะทำลายชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อย ถือว่า เป็นการให้ความสำคัญแก่ชีวิตอย่างมาก

ศีล 5 ข้อ 2 ถือว่า เป็นหลักประกันทรัพย์สิน ในฐานะที่ทรัพย์สินมาคู่กับมนุษย์เป็นที่อาศัยให้ความสะดวกแก่มนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องถือกรรมสิทธิ์ที่ครอบครอง แท้จริงแล้วไม่ใช่แต่ขโมยวัตถุสิ่งของเท่านั้น กิริยาอาการอื่น ๆ เป็นไถยจิต อาการขโมยก็มีอีกมาก เช่นว่า การละเมิดสิทธิของคนอื่น การแทรกแซงกลืนกิจการคนอื่น การละเลยหน้าที่ การโกงเวลาทำงาน การติดสินบนด้วยเงิน หรือทรัพย์สมบัติที่เป็นของสาธารณสุข หรือบุคคลอื่น เป็นต้น

ศีล 5 ข้อ 3 ถือว่า เป็นหลักประกันชีวิตความเป็นครอบครัว โดยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้สาวกคิดยับยั้งจิตใจที่ประพฤติผิดในกามด้วยวิธีต่าง ๆ คือ ชายควรถือว่า ผู้หญิงผู้มีอายุคราวแม่ว่า เป็น “แม่” ผู้มีอายุคราวพี่สาวว่าเป็น “พี่สาว” ผู้มีอายุรุ่นลูกสาวว่า “ลูกสาว” เมื่อคิดได้อย่างนี้การแตกแยกในครอบครัว และปัญหาสังคมจะลดลง เพราะฉะนั้น สามีภรรยาจะต้องสร้างความไว้วางใจต่อกันและกันให้สมบูรณ์ จะเกิดความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองจะได้รับความมั่นคงและมีสันติในชีวิต

ศีล 5 ข้อ 4 ถือว่า เป็นหลักประกันความเชื่อถือ โดยรักษาคำสัจ งดเว้นจากการพูดเท็จ คิดอยู่เสมอว่า เราจะไม่โกหก เราจะต้องเป็นที่วางใจผู้อื่น ถ้าเราโกหกต่อใครเมื่อถูกจับได้ไล่ทัน จะไม่เป็นที่น่าไว้วางจากมิตรสหาย เป็นที่ระแวงสงสัยหาใครสมาคมด้วยไม่ได้

ศีล 5 ข้อ 5 ถือเป็นหลักประกันแห่งสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท คนที่เสียสติ เกิดการวิปลาสจะควบคุมอารมณ์ พฤติการณ์อะไรของตนเองไม่ได้กลายเป็นคนเพ้อไป พูดไปทำโดยไม่รู้สึกตัว สาเหตุแห่งการอย่างนี้ประการหนึ่ง คือ พิษสุรา น้ำมึนเมา ที่ทำให้ผิดเพี้ยนไป ดั้งนั้น สาเหตุที่ทำให้สติวิปลาสไปเหตุหนึ่งคือ “สุรา” ทำให้ปราศจากสติสัมปชัญญะเพราะฤทธิ์น้ำเมา เมื่อเราเลี่ยงสุรานี้ได้ก็จะเป็นหลักประกันอาการสติวิปลาสในที่สุด

ศีล 5 เป็นบทสรุปแห่งธรรม (The Compendium of Buddhist Virtue) เรียกว่า สีลสัมปทาน (The Treasure of Virtue) การรักษาศีลอย่างบริสุทธิ์ เพียบพร้อมด้วยศีลเสม (Success in Morality) ผู้ที่รักษาศีลจะเป็นคนที่องอาจ จะไม่พบกับราชอาชญา มีชื่อเสียงดี เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ภายหลังแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถือเป็นแม่แบบสร้างสรรค์สังคมให้สันติภาพได้

จริยธรรมเชิงพุทธขั้นกลาง

จริยธรรมระดับนี้ เป็นระดับการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้กว้างมากขึ้นกว่าจริยธรรมขั้นต้น ซึ่งเป็นการควบคุมไปถึงพฤติกรรมทางกาย วาจา และความคิดจิตใจ ได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 ประการ โดยแยกเป็น 3 กลุ่มตามทวาร คือ ช่องแห่งการกระทำกรรม คือ

  1. กลุ่ม 1 สำหรับควบคุมพฤติกรรมทางกายทวาร เรียกว่า “กายสุจริต” ประกอบด้วย
    1. การงดเว้นจากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป
    1. การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้ามิได้ให้
    1. การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  2. กลุ่มที่ 2 สำหรับควบคุมพฤติกรรมทางวจีกรรม เรียกว่า “วจีสุจริต” ประกอบด้วย
    1. การงดเว้นจากการพูดเท็จ
    1. การงดเว้นจากการพูด ส่อเสียด
    1. การงดเว้นจากการพูด คำหยาบ
    1. การงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
  3. กลุ่มที่ 3 สำหรับควบคุมพฤติกรรมทางมโนทวาร เรียกว่า “มโนสุจริต” ประกอบด้วย
    1. ความไม่โลภในสมบัติของคนอื่น
    1. ความไม่ผูกอาฆาตปองร้าย
    1. มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง

จริยธรรมพุทธชั้นสูง

จริยธรรมระดับนี้ เป็นระดับที่ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติจักษุ เกิดญาณ เกิดวิชชา เกิดแสงสว่าง มองเห็นความจริงของธรรมชาติตามที่เป็นจริง บรรลุเป้าหมายสุดท้าย คือ “นิพพาน” เปลี่ยนสภาพปุถุชนไปเป็นอริยชน โดยอริยมรรคนี้ ทำให้เกิดมีองค์สัมพุทธะขึ้นในโลก อริยมรรคดังกล่าวนั้น มีชื่อและรายละเอียด ดังนี้

  • สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบในอริยสัจ 4 และไตรลักษณ์ เป็นต้น
  • สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบในการออกจากกาม จากอหิงสธรรม
  • สัมมาวาจา เจรจาชอบด้วยการประกอบในวจีสุจริต 4
  • สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ ด้วยการประกอบในกายสุจริต 3
  • สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ด้วยการประกอบอาชีพสุจริต
  • สัมมาวาจามะ พยายามชอบด้วยการพยายามในสัมมัปปธาน 4
  • สัมมาสติ ระลึกชอบด้วยระลึกในสติปัฏฐาน 4
  • สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ด้วยการตั้งมั่นในฌาน 4

อริยมรรคนี้แล จัดว่า เป็นทางปฏิบัติที่เป็นกลางระหว่างหลักปฏิบัติอันสุดโต่ง 2 หลักนั้นที่พระพุทธเจ้าเคยปฏิบัติแล้ว ทำให้พระพุทธองค์ประสบผลสำเร็จตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ที่ว่าสำคัญนั้น เพราะพระองค์แสดงเป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เพื่อให้ทราบว่า ก่อนหน้านั้นปฏฺบัติผิดมาตลอดในการยึดติดถือมั่นในกามารมณื และการทุกข์ทรมานตนเพื่อหวังผลการตรัสรู้ แต่ภายหลังรู้แจ้งว่า เข้าใจผิดไป จึงกลับแก้ไขใหม่ ดังปรากฏในปฐมเทศนาว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด 2 อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ ส่วนสุด 2 อย่างนั้นเป็นไฉน? คือ การประกอบตนให้พัวพันไปด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย และเป็นของเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน และไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1 การประกอบความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ แล้วไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1 ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง และไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด 2 อย่างเหล่านี้ แล้วอันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทะญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ แล้วเพื่อนิพพาน ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น… เป็นไฉน? คือ อริยมรรคซึ่งประกอบด้วยองค์ 8 นี้แหละ ซึ่งได้แก่ ความดำริชอบ ความเห็นชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบเลี้ยงชีพชอบ ตั้งใจชอบ และข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว และกระทำจักษุ กระทำญาณ แล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *