การพยากรณ์ชาตาเมือง

การพยากรณ์จากดวงเมืองที่ว่า 150 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการพยากรณ์แบ่งเหตุการณ์ในชาตาเมืองออกเป็น 10 ยุค องค์พยากรณ์ได้ทรงจับใจความสำคัญจากดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์นั่นเอง และพยากรณ์ในแนวทัศนโหราศาสตร์อย่างสุขุมคัมภีรภาพ ในหนังสือ “โหรศาสตร์ไทย วิทยาการแห่งความอัปยศ” ของยอดธง ทับทิวไม้ ได้เขียนถึงเรื่องราวของยุคทั้ง 10 เอาไว้ โดยมีคำอธิบายเอาไว้อีกโดยละเอียดว่าในแต่ละยุคนั้น มีความเป็นมาอย่างไร โดยสรุปได้ว่า

ยุคที่ 1 ยุคมหากาฬ พ.ศ. 2325 – 2345 เป็นเวลาของการรบพุ่งศึกสงคราม การสร้างเมืองใหม่ เป็นยุคที่มีการฆ่ามากที่สุด พระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตในยุคนี้ ณ วันที่ 6 เมษายน 2325 อันเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์จักรี

ยุคที่ 2 ยุคพันธุยักษ์ พ.ศ. 2345 – 2364 ปลายรัชของรัชกาลที่ 1 และช่วงผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชกาลที่ 2 เป็นยุคของการชำระสะสางทางการเมืองครั้งใหญ่ มีการปราบกบฏแผ่นดินกันอย่างชัดเจน

ยุคที่ 3 ยุครักษ์บัณฑิต พ.ศ. 2364 – 2384 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างปลายรัชกาลที่ 2 และเริ่มรัชกาลที่ 3 ศึกนอกศึกในเริ่มสงบลง เป็นช่วงของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการต่าง ๆ ในช่วงนี้นักปราชญ์ราชบัณฑิตได้รับการยกย่องอย่างสูง

ยุคที่ 4 ยุคสนิทธรรม พ.ศ. 2404 – 2424 เป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 3 และเริ่มต้นรัชกาลที่ 4 เป็นยุคที่มีการทะนุบำรุงพระศาสนา บำรุงวัดวาอาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ามกุฎได้ทรงผนวชในยุคนี้ เป็นยุคที่ปราศจากการรบราฆ่าฟันกันอีกต่อไป

ยุคที่ 5 ยุคจำแขนขาด พ.ศ. 2404 – 2424 เป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 4 และเริ่มต้นรัชกาลที่ 5 เป็นห้วงเวลาของการเสียดินแดนบางส่วนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส ดังมีพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าไว้ว่า “ถนัดดั่งพาหาเหี้ยน หั่นให้ไกลองค์” เมื่อทรงเทวษกับความสูญเสียและการรับมือกับนักล่าอาณานิคม

ยุคที่ 6 ยุคราชโจร หรือราชโคจร พ.ศ. 2424 – 2444 ปลายสมัยของรัชกาลที่ 5 และเริ่มต้นรัชกาลที่ 6 กล่าวว่า เป็นยุคของการล่าเมืองขึ้นของประเทศตะวันตกและเมืองไทยตกในสภาพเยี่ยงโดนปล้นลิดรอน ซึ่งแม้จะไม่กระทบถึงประชาราษฎรทั่วไป แต่ก็เป็นเวลาของการอึดอัดคับข้องในราชอาณาจักร

ยุคที่ 7 ยุคนนทุกร้อง พ.ศ. 2444 – 2464 เป็นยุคปลายสมัยของรัชกาลที่ 6 กล่าวว่า ยุคนี้เศรษฐกิจได้ตกต่ำอย่างถึงที่สุด เงินในท้องพระคลังขาดแคลนอย่างหนัก มีความเดือดร้อนทั่วทุกหย่อมย่าน ข้าราชการถูกดุลออกจากราชการกันเป็นจำนวนมาก

ยุคที่ 8 ยุคทมิฬ พ.ศ. 2464 – 2483 เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั่นเอง ในบันทึกเก่ามักจะกล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นยุคอมาตยาธิปไตย แต่คนอีกจำนวนหนึ่ง จะเรียกว่า ยุคประชาธิปไตย ในยุคนี้มีการทำลายล้างกันอย่างเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง

ยุคที่ 9 ยุคถิ่นกาขาว พ.ศ. 2483 – 2504 เป็นช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 8 และเริ่มต้นรัชกาลที่ 9 ซึ่งต่างชาติต่างประเทศได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเทศไทยเป็นอันมาก อีกทั้งองค์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จนิวัตพระนครโดยเสด็จพระราชดำเนินมาจากต่างประเทศ

ยุคที่ 10 ชาววิไล พ.ศ. 2504 – 2524 คือ รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 อันมีการพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองต่าง ๆ อย่างมหาศาล ดังที่ได้เห็นเป็นปรากฎการณ์อยู่และในยุคนี้ กล่าวได้ว่า ประชาชนพลเมืองทุกหมู่เหล่า ล้วนมีความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา อย่างยิ่งใหญ่

ที่มาบทความ สรชัย ศรีนิศานต์สกุล. (2563). อิทธิพลของโหราศาสตร์ในสังคมและการเมืองไทย. มหาวิทยาลัยบูรพา.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *