ความเชื่อโหราศาสตร์

สังคมไทยได้มีการนำเอาวิชาโหราศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการวางพื้นฐานทางการปกครองตั้งแต่การดำเนินยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทั้งด้านการเมืองการปกครอง ตั้งแต่การกำหนดชัยภูมิ ทำเลที่ตั้งเมือง ไปจนถึงการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ จนถึงการทำสงครามที่ปรากฏในหลักพิชัยสงครามตั้งแต่การจัดทัพรับศึก การกำหนดดูฤกษ์ยาม การทำนายนิมิตต่าง ๆ เช่น ยกเมฆ ทำนายฝัน เป็นต้น ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้เข้ามาพร้อมกับลัทธิพราหมณ์ของอินเดีย ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นราชครูปุโรหิต ที่ปรึกษาแต่พระมหากษัตริย์ จนทำให้โหราศาสตร์กลายเป็นศาสตร์ของชนชั้นสูง ตั้งแต่ผู้ปกครองไปจนถึงระดับแม่ทัพนายกองในกองจัดแต่งทัพไปรับศึกต่าง ๆ โหราศาสตร์จึงเข้ามาแนบแน่นในสังคมไทยและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยอย่างยาวนาน จนทำให้โหราศาสตร์กลายเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในสังคมไทยมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ดังจะพบว่า มีการแต่งตั้งโหรฯ ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างพระโหราธิบดี และมีการจัดตั้งกรมโหร

จนเมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ทำให้อิทธิพลและบทบาทของโหราศาสตร์ค่อย ๆ ลดบทบาท เพราะถูกแทนที่โดยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จนถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 ทำให้กรมโหรฯ ถูกยุบไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม อิทธิพลและบทบาทของโหราศาสตร์ก็ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยิ่งทำให้สถานะและบทบาทของโหราศาสตร์เปลี่ยนไปมากขึ้น โหราศาสตร์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ชนชั้นสูง หรือชนชั้นปกครองเพียงอย่างเดียว เหมือนที่เคยเป็นในอดีตอีกต่อไป เมื่อโหราศาสตร์กลายเป็นความรู้ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

โหราศาสตร์ไทยจึงมีอิทธิพลในการดำเนินชีวิตของคนไทยตั้งแต่ชนชั้นปกครองจนถึงสามัญชนทั่วไป ตั้งแต่ใช้สำหรับการรบทัพจับศึก สร้างบ้านสร้างเมืองลงมาจนกระทั่งถึงกำหนดเวลาตัดผม ตัดเล็บ เรียกว่า “การให้ฤกษ์ – ยาม” ซึ่งจะต้องกระทำตามกฎเกณฑ์ของวิชาโหราศาสตร์ เพราะมีความเชื่อว่า กฎเกณฑ์เหล่านั้น จะก่อให้เกิดผลดีและเป็นมงคลแก่ผู้กระทำการนั้น ๆ กล่าวได้ว่า ความไม่แน่ใจในชีวิต ความเป็นอยู่ของตนเอง ไม่มีความรู้สึกว่า มีความมั่นคงในชีวิตและความเป็นอยู่หรือการกระทำดำเนินชีวิตใด ๆ ก็ตามที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้คนไทยบางคนคิดว่า มีทางที่จะช่วยเป็นกำลังใจและความรู้สึกนึกคิดหรือความเชื่อมั่นในตนเองได้โดยอาศัยวิชาโหราศาสตร์หรือ “การดูหมอ” เป็นทางออกและเป็นความหวังอย่างหนึ่ง อย่างน้อยก็ในแง่ของจิตวิทยา[i] โหราศาสตร์กับสังคมไทยนั้นแยกจากกันไม่ออก ในสมัยโบราณ การดำเนินชีวิตของบุคคลหรือเหตุการณ์บ้านเมือง โหราศาสตร์จะนำมาใช้อย่างเข้มงวดกวดขัน โดยแสดงออกในรูปของพิธีกรรม ความเชื่อ และวัฒนธรรม ประเพณี ตั้งแต่การเกิด การมีคู่ครอง การทำบุญอายุ การตาย การทำศึกสงคราม การวางศิลาฤกษ์ฝังเสาหลักเมือง แต่ในปัจจุบัน มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุดที่จะพรรณนาได้ โหราศาสตร์อาจจะดูว่าไม่มีความจำเป็นเสียแล้วก็ได้ แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ผิดคาด ยิ่งโลกเจริญมากขึ้นเท่าใด วิถีชีวิตของมนุษย์ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นทวีคูณ มีปัญหา ความเครียดถาโถมโหมกระหน่ำเข้ามานับไม่ถ้วน ที่พึ่งด้านโหราศาสตร์ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น มีข้อสังเกตว่า ผู้ที่ใช้บริการตรวจดวงชะตาราศีจากโหราจารย์หรือหมอดูส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับปานกลาง การศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด เรื่องที่นิยมถามกันมากมี 4 เรื่อง ได้แก่ ความรักรวมถึงปัญหาครอบครัว การงาน การศึกษา และการเจ็บป่วย

การที่หนังสือพิมพ์รายวันและนิตยสารมีคอลัมน์เกี่ยวกับโหราศาสตร์และข่าวการทำนายดวงเมืองหรือดวงบุคคลสำคัญได้รับความสนใจ มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง สะท้อนให้เห็นว่า การทำนายทายทักเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย กิจกรรมที่สำคัญต่อชีวิตของคนไทยล้วนเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ เช่น การหาฤกษ์แต่งงาน การกำหนดวันเปิดกิจการใหม่หรือการตัดสินใจปัญหาสำคัญ เป็นต้น บุคคลหลากหลายอาชีพทุกระดับชั้น ทุกเพศทุกวัยจากชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ชนชั้นกลาง จนถึงผู้นำระดับประเทศ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โหราศาสตร์มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบัน โดยจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แม้เราจะไม่เชื่อ คนรอบข้างเราก็อาจจะเชื่อ หรืออาจกล่าวได้ว่า การทำนายทายทักเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดพลวัตในสังคมไทย

สังคมไทยมีความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์และพระพุทธศาสนาผสมกลมกลืนกันมาช้านาน แม้ว่าในเบื้องต้น การศึกษาโหราศาสตร์และผู้มีความรู้ทางโหราศาสตร์จะอยู่ในแวดวงเจ้านายชั้นสูงตลอดจนบรรดาข้าราชบริพารหรือพระสงฆ์องค์เจ้าที่อยู่ใกล้ชิดราชสำนัก แต่ต่อมาก็ได้แพร่หลายมาสู่สามัญชนชาวบ้านทั่วไปโดยผ่านทางพระสงฆ์องค์เจ้าและลูกหลานทายาทโหรเก่า ซึ่งที่พอจะเอ่ยถึงได้ในยุคหลังใกล้เคียงกับยุคปัจจุบันนี้ เช่น อาจารย์แพทย์ สาริกบุตร เป็นต้น ในสมัยนี้ การศึกษาวิชาโหราศาสตร์เป็นไปอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง ประกอบกับความรู้ทางวิชาการที่มีมากขึ้น ทำให้การศึกษาและการพยากรณ์เป็นไปอย่างมีหลักการและมีความถูกต้องมากขึ้น จึงเป็นที่สนใจของคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในประเด็นความเชื่อโหราศาสตร์กับกฎแห่งกรรมของคนไทยในปัจจุบันก็ยังคงเชื่อเรื่องกรรมที่ว่า “ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว” แต่ก็ยังไม่ทราบว่า จะได้ผลดีหรือผลชั่วที่ไหน เวลาใด ในลักษณะอย่างไร จึงต้องอาศัยโหราศาสตร์พยากรณ์โดยอาศัยจุดกำเนิดคนกับการโคจรของดวงดาวบนท้องฟ้า มาเป็นเครื่องมือบ่งชี้ให้ทราบดาวศุภเคราะห์ จะบอกผลกรรมดี ดาวบาปเคราะห์ จะบอกผลกรรมชั่ว เมื่อทราบแล้วจะได้เตรียมตัวเตรียมใจให้ถูกต้องกับการที่จะเผชิญกับเหตุดีและเหตุร้าย และชาวพุทธยังประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์เกือบทุกเรื่อง ดังนั้น จึงมีผลให้ความเชื่อของชาวพุทธไทยในปัจจุบันเป็นไปในลักษณะที่เชื่อเรื่องโหราศาสตร์ แต่ไม่เน้นหลัก แต่จะเน้นหนักเรื่องกฎแห่งกรรมและบาปบุญคุณโทษ[ii]


[i] ยอดธง ทับทิวไม้. (2534). โหราศาสตร์ เศรษฐกิจและการเมือง. กรุงเทพฯ : เดลฟี. หน้า 58 – 59.

[ii] สรชัย ศรีนิศานต์สกุล. (2563). อิทธิพลของโหราศาสตร์ในสังคมและการเมืองไทย. คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *