ไพลิน สุดยอดแห่งอัญมณีสีน้ำเงิน

“ไพลิน” อัญมณีสูงค่าสีน้ำเงินที่ได้รับความนิยมและผูกพันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ความเชื่อของผู้คนมานานกว่าสองพันปี โดยผู้คนในสมัยโบราณเชื่อกันว่า โลกตั้งอยู่บนไพลินขนาดมหึมา เมื่อพระอาทิตย์สาดแสงส่องลงมายังพื้นโลก จึงได้สะท้อนนำสีน้ำเงินกลับขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ทั้งยังเชื่อกันว่า ไพลินมีพลังวิเศษที่สามารถปกป้องผู้สวมใส่จากอันตราย และยังสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้กีด้วย

ในเชิงพาณิชย์ “ไพลิน” ที่ซื้อขายกันในตลาดล้วนผ่านการปรับปรุงคุณภาพแทนทั้งสิ้น แม้ว่า ปัจจุบันปริมาณวัตถุดิบไพลินในประเทศจะลดจำนวนลงจนต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่ก็ยังมีไพลินจากแหล่งจันทบุรี และไพลินแหล่งกาญจนบุรี หมุนเวียนอยู่ในตลาดอัญมณี ด้วยจากความสามารถอันโดดเด่นในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ไพลินผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนและการเจียระไน ซึ่งถือเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ก้าวล้ำนำหน้าประเทศคู่แข่ง ทำให้ประเทศไทยยังคงความเป็นผู้นำด้านการผลิตและการค้าไพลินเจียระไนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนอาจกล่าวได้ว่า เกือบทั้งหมดของไพลินคณะภาพสูงที่ค้าขายกันในตลาดโลกล้วนเคยไหลเวียนผ่านประเทศไทยแทบทั้งสิ้น

สมบัติของไพลิน

สีน้ำเงินของไพลินมาจากธาตุเหล็กและไทเทเนียม โดยไพลินในแต่ละแหล่งกำเนิดจะให้สีน้ำเงินที่แตกต่างกัน ซึ่งในตลาดการค้านอจกากสีที่สวยงามแล้ว แหล่งกำเนิดของไพลินก็ส่งผลต่อระดับราคาที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ ไพลินอันเป็นที่ต้องการมากที่สุด และมีระดับราคาสูงที่สุด 2 อันดับแรก ได้แก่ ไพลินสีน้ำเงินกำมะหยี่แกมม่วง คล้ายสีดอกอัญชัน มองดูมีเนื้อนุ่มนวลเหมือนกำมะหยี่ หรือที่มักเรียกกันว่าสี Cornflower Blue ที่มีแหล่งกำเนิดจากแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย และไพลินสีน้ำเงินเข้มสดในแกมม่วงเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า สี Royal Blue ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในประเทศพม่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสี Cornflower Blue และ Royal Blue สามารถหาได้จากไพลินในแหล่งอื่นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในไพลินบางเม็ดจะสามารถพบลักษณะพิเศษของการเกิดปรากฏการณ์ทางแสงที่สะท้อนออกมาเป็นรูปดาวเมื่อต้องกับแสงไฟ โดยสามารถพบได้ทั้ง 4, 6 และ 12 แฉก ซึ่งไพลินที่มีปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า ไพลินสาแหรก สาแหรกที่ปรากฏขึ้นนี้เกิดจากมลทินประเภทเส้นไหมที่จัดเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบในเนื้อพลอย

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ไพลิน

ในอดีตไพลินสามารถขุดพบได้มากในประเทศไทย โดยมีแหล่งวัตถุดิบสำคัญอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี และตราด แต่เนื่องจากไพลินคุณภาพสูงและสวยงามตามธรรมชาตินั้นพบได้ยาก เกือบทั้งหมดของไพลินที่ค้าขายกันในตลาดจึงล้วนผ่านการปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้มีระดับคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งวิธีการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่ใช้กันมาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มและยังคงใช้กันมาจวบจนถึงปัจจุบัน คือ การปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน เนื่องจาก เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับในตลาด วิธีการดังกล่าวเป็นการนำไพลินไปผ่านความร้อนสูงที่อุณหภูมิประมาณ 1,000 – 1,800 องศาเซลเซียส ภายในเตาระบบปิดที่สามารถควบคุมระดับอุณหภูมิและสภาวะบรรยากาศภายในเตาได้ โดยความร้อนจะช่วยกระตุ้นให้ไพลินเกิดการเปลี่ยนสี ตลอดจนขจัดกำจัดมลทินต่าง ๆ ทำให้ได้ไพลินที่มีสีสวยขึ้น มีความใสสะอาดมากขึ้น มีตำหนิน้อยลง และนำมาซึ่งมูลค่าที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ปัจจุบันปริมาณวัตถุดิบในประเทศไทยจะลดจำนวนลงจนไม่สามารถให้ผลผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ และต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่จากความเพียรพยายามและความสามารถอันโดดเด่นของช่างไทยในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดสู่การพัฒนาเทคนิค รวมถึงประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือที่ใช้สำหรับปรับปรุงคุณภาพอัญมณี นำมาซึ่งนวัตกรรมเตาเผาอัญมณีชนิดต่าง ๆ รวมถึงวิธีการปรับปรุงคุณภาพที่หลากหลายเหมาะสำหรับอัญมณีแต่ละประเภท โดยเตาเผาและเทคนิคที่เหมาะสำหรับการปรับปรุงคุณภาพไพลินให้ได้สีน้ำเงินสวยงามนั้นมีทั้งเตาถ่านโค้ก และเตาน้ำมันที่สามารถควบคุมสภาพบรรยากาศภายในเตาให้มีสภาวะออกซิเจนต่ำ รวมทั้งเตาไฟฟ้าที่ใช้ขดลวดความร้อน และความบรรยากาศโดยก๊าซที่ส่งเข้าไปในห้องเผา และเตาก๊าซที่ใช้แก๊สหุงต้มกับออกซิเจนบริสุทธิ์ ซึ่งสามารถควบคุมสภาพบรรยากาศให้เป็นแบบออกซิไดชิ่ง หรือรีดิวชิ่งแบบอ่อน ๆ ได้ จึงใช้สำหรับเผาถอยสีในพลอยสีน้ำเงินเข้มเกินไปและเมื่อผนวกเข้ากับความสามารถอันวิจิตรประณีตที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของช่างฝีมือเจียระไนไทยในการหามุมเพื่อตัดแต่งเจียระไนได้ออกมาเป็นไพลินคุณภาพสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงยังคงรักษาชื่อเสียงและบทบาทสำคัญของการเป็นผู้นำด้านการผลิตและการค้าอัญมณีชั้นแนวหน้าของโลกโดยมีศูนย์กลางอยู่ในจังหวัดจันทบุรีและกรุงเทพมหานคร

ไพลินกับความเชื่อ

ไพลินเป็นอัญมณีสูงค่าซึ่งได้รับความนิยมมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล ทั้งยังเป็นหนึ่งในอัญมณีที่ได้รับเลือกให้ประดับบนมงกุฎกษัตริย์ ด้วยมีความหมายสื่อถึงปัญญาและพระปรีชาสามารถ ดังเช่น The Imperial State Crown มงกุฎของกษัตริย์อังกฤษ Imperial Crown of Austria แห่งกษัตริย์ออสเตรเลีย และ The Crown of Cristian V แห่งกษัตริย์เดนมาร์ก เป็นต้น

นอกจากไพลินจะมีไว้ในครอบครองเพื่อชื่นชมในความงามแล้ว ยังมีความเชื่อในด้านต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงมนุษย์และไพลินเข้าด้วยกัน ทั้งในทางโหราศาสตร์ สุขภาพ โชคลาภ และความรัก เป็นต้น โดยเชื่อกันว่า ไพลินมีคุณสมบัติที่ช่วยปกป้องผู้สวมใส่จากอุบัติเหตุและอันตรายต่าง ๆ อีกทั้งยังมีพลังที่สามารถบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร โรคตา และโรคกระดูกและข้ออักเสบ ฯลฯ

ไพลินยังเป็นอัญมณีประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดเดือนกันยายน มีความหมายถึงความเฉลียวฉลาดรอบรู้ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งคำมั่นสัญญาและความปรองดอง ด้วยเหตุนี้ เจ้าชายวิลเลียม พระโอรสองค์โตของเจ้าฟ้าชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอานา จึงทรงหมั้น เคท มิดเดิลตันในปี 2554 ด้วยแหวนแพลทินัมประดับไพลิน 18 กะรัตล้อมด้วยเพชรจำนวน 14 เม็ด ซึ่งเป็นแหววงเดียวกันกับที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงใช้หมั้นเจ้าหญิงไดอานา ในปี 2524 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ ไพลินยังเป็นอัญมณีที่คู่แต่งงานนิยมมอบให้กันเป็นของขวัญในโอกาสครบรอบการแต่งงานปีที่ 5, 15, 23 และ 45 อีกด้วย

ที่มาบทความ http://library.dmr.go.th/elib/cgi-bin/opacexe.exe?op=mmvw&db=Main&sid=&skin=u&usid=&mmid=14696&bid=17965

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *