วัฒนธรรมความเชื่อ

ความเชื่อ หมายถึง ประชาชนในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง มีความศรัทธา มีความเชื่อในเรื่องของการประกอบพิธีกรรมและความเชื่อที่มีความสัมพันธ์[i]

ความเชื่อในการดูดวงเป็นกลุ่มที่เชื่อในอำนาจนอกตน (External Locus of Control) คือ การเชื่อว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ของชีวิตล้วนมาจากโชคชะตาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขาดความมั่นใจในการตัดสินใจและต้องการรู้เหตุการณ์ในอนาคตเพราะตนเองรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต ในขณะกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีความเชื่อในการดูดวงเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจในตน (Internal Locus of Control) เป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองและพร้อมเผชิญกับปัญหาและความล้มเหลวในชีวิต เคยผ่านประสบการณ์กระทบกับจิตใจและแก้ไขปัญหานั้นด้วยความสามารถตนเอง จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่ว่า ทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมาจากการกระทำของตนเอง กลุ่มคนที่มีความเชื่อในการดูดวงและเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจนอกตนนั้น สามารถเปลี่ยนรูปแบบการเป็นคนที่มีความเชื่ออำนาจในตนได้ เมื่อพบว่า สิ่งที่ตัวเองเชื่อในอำนาจภายนอกจากโชคชะตาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทำให้ตนเองเริ่มหมดกำลังใจจากการคาดหวังจากอำนาจภายนอกและเปลี่ยนรูปแบบความเชื่อของตนเอง[ii]

พฤติกรรมความเชื่อในสังคมไทย ท่ามกลางสภาวะปัญหาและการพัฒนาชาติบ้านเมืองไทยในด้านต่าง ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ได้มีพฤติกรรมความเชื่อบางประการที่ประชาชนมีต่อสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ เพื่อสนองความปรารถนาของตน ที่ปรากฏเด่นชัดในวิถีชีวิตประชาชนบางกลุ่มในสังคมไทย ซึ่งน่าจับตามองนั้น มีอยู่ 3 พฤติกรรม คือ 1. พฤติกรรมความเชื่อในทางโหราศาสตร์ 2. พฤติกรรมความเชื่อในทางไสยศาสตร์ 3. พฤติกรรมความเชื่อทางบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยม แม้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธจำนวนมิใช่น้อย ก็ยังมีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่ ทั้งนี้เพราะอิทธิพลแห่งเหตุปัจจัยในสังคมไทย 2 ประการ คือ 1. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ อิทธิพลทางสังคม และสิ่งแวดล้อม 2. ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความเชื่อหรือความยึดถือที่เกิดจากทัศนคติความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมของพุทธศาสนิกชน[iii]

วัฒนธรรมความเชื่อ ความเชื่อที่เป็นวัฒนธรรมร่วม เป้นเรื่องจิตใจของปัจเจกชนที่ยอมรับสิ่งหนึ่งว่า มีพลังอำนาจ ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของประชาชนให้ปฏิบัติตาม อ้อนวอน สืบทอดกันมาเป็นบรรทัดฐานของสังคมยุคแล้วยุคเล่า ซับซ้อนและเห็นดีเห็นงามไปด้วยกัน ประสานคนประสานใจไปด้วยกัน จึงกลายเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต ความเชื่อแม้จะเป็นนามธรรมที่แต่ละคนเชื่อถือ ถึงกระนั้น เมื่อถึงกาลเวลาผ่านไป ได้กลายเป็นมรดกทางสังคมยากที่ใครคนใดจะปฏิเสธอำนาจความเชื่อได้หากยังเป็นสมาชิกของสังคมนั้น ๆ[iv]

การเกิดมุมมองความเชื่อประเพณีและพิธีกรรม ความกลัวและความไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อ ซึ่งความเชื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาในสังคมมนุษย์สมัยโบราณ อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์จะเจริญก้าวหน้าไปมาก แต่มนุษย์ก็ยังมีพฤติกรรมแสดงออกทางความเชื่อกันอยู่ เช่น มีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่อง ผี พราหมณ์และพุทธ เหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหากไม่รู้สาเหตุก็มักเหมาไปว่า เกิดเพราะสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เช่น อำนาจฟ้าดินอากาศ ลัทธิความเชื่อดังเดิมของมนุษย์ก็มักยึดถือธรรมชาติอันมี พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว น้ำ ลม ไฟ เมื่อมีศาสนาเกิดขึ้นก็ยึดถือเทพเจ้า ภูตผีปีศาจ ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยให้ตนพ้นทุกข์ จากความเชื่อดั้งเดิมของมนุษย์ที่มีก่อนสมัยพุทธกาล ต่างมีความเชื่อในเรื่องผีและวิญญาณ อิทธิพลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจะเป็นผู้กำหนดคุณและโทษ ต่อมาเมื่อมีการแพร่กระจายและยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์ และพุทธ จึงทำให้เกิดความเชื่อแบบผสมผสานของทั้งสามประการเข้าด้วยกัน[v]

ความเชื่อและพฤติกรรมของชาวพุทธที่มีต่อพระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก เชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อหลักความเชื่อในพระพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา 2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่มีต่อพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และ 3) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะและพฤติกรรมของชาวพุทธในสังคมไทยที่มีต่อพระพุทธรูป จากการศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อหลักความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย หลักความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) จากผลการศึกษาพฤติกรรมที่มีต่อพระพุทธรูป พบว่า โดยส่วนใหญ่พุทธศาสนิกชนมีพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อพระพุทธรูปด้วยการกราบไหว้บูชา การบริจาคปัจจัยในตู้บริจาค แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่มีพฤติกรรมปฏิบัติในความเชื่อดั้งเดิม คือ การอ้อนวอนขอพร และมีความเชื่อในเรื่องชะตาชีวิตด้วยการเสี่ยงเซียมซี (เป็นคำทับศัพท์ภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายถึง ใบทำนายโชคชะตาที่ต้องสั่นไม้ติ้วเสี่ยงทาย) สอดคล้องกับผลการสังเกต ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อกราบไหว้บูชา จากผลการศึกษาข้อเสนอแนะและพฤติกรรมของชาวพุทธ พบว่า พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มีความเชื่อตามหลักศรัทธาของพระพุทธศาสนาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม คือ เข้ามากราบไหว้บูชาพระพุทธรูป แล้วทำการสวดมนต์ขอพร และนั่งสมาธิ สอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ คือ เข้ามากราบไหว้บูชาและนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา มากกว่าการปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิม เนื่องจาก มีเหตุผลเดียวกัน คือ การเข้ามาสักการะกราบไหว้เพื่อความสงบสุขทางจิตใจ และได้มีข้อเสนอแนะว่า คณะสงฆ์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีการสื่อสารความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเชื่อและการปฏิบัติตัวต่อพระพุทธรูป รวมไปถึงการจัดสถานที่และกิจกรรมในศาสนสถานที่ช่วยส่งเสริมหลักศรัทธาที่ถูกต้อง[vi]


[i] พระครูจิรธรมธัช. (2557). ความสัมพันธ์ความเชื่อเรื่องพิธีกรรมเจ้าแม่สองนางกับการส่งเสริมจริยธรรมทางสังคมของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดหนองคาย. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

[ii] พิมพ์มาดา ธนวัฒน์ไชยกุล. (2565). ปัจจัยของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อการเลือกดูดวงบนช่องทางออนไลน์ (YOUTUBE). ภาคนิพนธ์การจัดการมหาบัณฑิต, วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล.

[iii] พระพรหมชิรญาณ. (2548). พฤติกรรมความเชื่อในสังคมไทย. วารสารรามคำแหง ปีที่ 20 ฉบับที่ 1  

[iv] สมใจ ศรีนวล. (2546). วัฒนธรรมด้านความเชื่อ. วารสารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2.

[v] พิศเพลิน พรหมเกษ. (2552). การเกิด : มุมมองความเชื่อประเพณีและพิธีกรรม. วารสารศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์. ปีที่ 4 ฉบับที่ 1.

[vi]พระภูเมธ สุเมโธ (พูนสุวรรณ). (2553). ความเชื่อและพฤติกรรมของชาวพุทธที่มีต่อพระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก เชียงใหม่. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *