ปรากฏการณ์แหล่งท่องเที่ยวมูเตลูกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

ปรากฏการณ์มูเตลูกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยภายในบุคคล ประกอบด้วย ความเชื่อในตัวบุคคล และปัจจัยภายนอก ประกอบด้วย สิ่งดึงดูดใจ บุคคลที่มีอิทธิพล และสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปัจจัยภายในบุคคลที่มีต่อปรากฏการณ์มูเตลูกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

ความเชื่อในตัวบุคคล (Belief) ปรากฏการณ์มูเตลูมีความเกี่ยวเนื่องความเชื่อในตัวบุคคล ซึ่งความเชื่อและพฤติกรรมอันมีแบบแผนของมนุษย์ ซึ่งตอบสนองกับความต้องการที่มนุษย์ต้องการจะควบคุมสิ่งที่มองไม่เห็นโดยความหมายอย่างกว้าง ๆ คือ การกระทำของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา มักจะเป็นการสร้างสัมพันธ์ภาพระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่ในปัจจุบันศาสนาได้ถูกลดความสำคัญในการครอบงำมนุษย์ในชีวิตประจำวันไปคงเหลือไว้แต่ในโอกาสงานพิเศษ งานสำคัญหรือในการท่องเที่ยว (ชนัญ วงษ์วิภาค, 2552) ทั้งนี้ ยังมีความสอดคล้องกับรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงศาสนา (Religious Tourism) นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวในกลุ่มความสนใจพิเศษที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย นักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมเดินทางไปวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อร่วมกิจกรรมทางศาสนาและการปฏิบัติธรรมตามคติความเชื่อที่ถือว่า การได้มาสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ร่วมทำบุญ บริจาคทาน จะนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ชีวิต และสร้างจิตใจที่ผ่องใสมาสู่ผู้ปฏิบัติ (พรรณ์ธิดา เหล่าพวงศักดิ์, 2559) ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้ ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าในเรื่องราวประวัติศาสตร์ สามารถปฏิบัติตนในการเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดความเชื่อ ขนบ วิถีปฏิบัติของชุมชนท้องถิ่น (อธิป จันทร์สุริย์ และคณะ, 2563)

ปัจจัยภายนอกที่มีต่อปรากฏการณ์มูเตลูกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

  1. สิ่งดึงดูดใจ (Attraction) ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ร่องรอยและหลักฐานทางโบราณคดีทั้งในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ที่ประกอบด้วย ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศไทยตลอดจนระบบของสังคม ความเชื่อ และการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมของแต่ละกลุ่มชน ทรัพยากร การท่องเที่ยว ประเภทนี้มักจะเป็นลักษณะของพิธีกรรม งานประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งที่สำคัญของสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว ซึ่ง Dann (1977) กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ทดแทนความต้องการที่ขาดหหาย สถานที่ท่องเที่ยวเป็นสิ่งดึงดูดใจให้เกิดแรงกระตุ้นในการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยดึง (Pull Factors) ดังที่ Crompton (1979) กล่าวว่า เป็นปัจจัยจูงใจจากตัวแหล่งท่องเที่ยว เกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะของแหล่งท่องเที่ยวที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว เช่น ความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยว ความมีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยว ประกอบกับกระแสค่านิยมในปัจจุบันเกี่ยวกับมูเตลูในการเดินทางเพื่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา เพื่อสักการะ ขอพร เช่าวัตถุมุงคล เครื่องรางของขลัง ยิ่งทำให้เกิดปัจจัยผลัก (Push Factors) ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่เกี่ยวกับมูแตลูในประเทศไทย ซึ่งเว็บไซต์ (Website) วงใน (Wongnai) ได้จัดอันดับแหล่งท่องเที่ยวมูแตลูในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวต้องไปสักการะขอพรในปี พ.ศ. 2563 (วงใน, 2563) ได้แก่
    1. วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ที่นิยมกราบไหว้บูชา เพื่อขอพรในเรื่องการงาน การเงิน และการขอโชคลาภ
    2. อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี การนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาคิชฌกูฏ เปิดให้สักการะปีละ 1 ครั้งเท่านั้น โดยตามประเพณีในช่วงระหว่าง ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 และจะมีพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มเปิดให้สักการะ
    3. ปู่ม่านย่าม่าน วัดภูมินทณ์ จังหวัดน่าน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียง “ปู่ม่านย่าม่าน” หรือ “กระซิบรักบันลือโลก” ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนัตวรฤทธิเดช ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงเขียนขึ้นในช่วงนี้สะท้อนวิถีชีวิตคนยุคสมัยนั้น
    4. วัดมังกรกมลาวาส กรุงเทพมหานคร หรือวัดเล่งเน่ยยี่เป็นวัดที่มีชื่อเสียงสำหรับชาวไทยเชื่อสายจีนและชาวต่างชาติ นิยมไปกราบไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ
    5. ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งการบูชาพระพรหมมีความเชื่อว่า พระพรหมเป็นองค์เทพที่สามารถลิขิตชะตาชีวิตของมนุษย์ได้
    6. พระตรีมูรติ กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ที่นิยมกราบไหว้บูชาเพื่อขอพรเรื่อง “ความรัก” โดยพระตรีมูรติ แปลว่า รูปสาม ความหมาย คือ รูป 3 องค์ของเทวะหรือธรรมชาติที่ทรงอำนาจ คือ อัคนี วายุ และสุริยะ ซึ่งเป็นการรวมพลังของเทพเจ้าทั้งสาม ได้แก่ พระพรหม พระอิศวร และพระวิษณุ
    7. วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) กรุงเทพมหานคร เป็นโบสถ์พราหมณ์ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของเทวสถานที่เป็นลักษณะศิลปะประเพณีโบราณของอินเดียตอนใต้ นิยมขอพรพระแม่อุมาให้สมปรารถนาในเรื่องต่าง ๆ
    8. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร อดีตเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชหลายพระองค์ มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่สไตล์จีนผสมกับไทย ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์ คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) และพระพุทธชินสีห์
    9. วัดพราหมณี (วัดหลวงพ่อปากแดง) จังหวัดนครนายกเป็นสถานที่ที่นิยมกราบไหว้บูชา เพื่อขอพรเรื่องโชคลาภ และถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัด
    10. วัดกลัยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานครพระประธานในอุโบสถวัดกัลยาณมิตร คือ พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต หรือซำปอกง) เพียงองค์เดียวในประเทศไทยที่เป็นพระพุทธรูปหล่อปางป่าเลไลยก์ สถาปัตยกรรมในแบบสมัยรัชกาลที่ 3 ผสมผสานศิลปะไทยและจีนได้อย่างลงตัว

ด้วยความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ รวมทั้งสถาปัตยกรรมที่ส่งผลต่อความเชื่อเกี่ยวกับมูเตลู ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวนอกเหนือจากปัจจัยภายในบุคคล ได้แก่ ความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งที่ตนเองเคารพนับถือ ซึ่งสอดคล้องกับ Dickman (1996) กล่าวว่า สิ่งที่ดึงดูดใจ จัดเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวและสอดคล้องกับปาริฉัตร อิ้งจะนิล (2554) แรงจูงใจในการท่องเที่ยว สิ่งที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อสนองความต้องการของตนเองการท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นได้นั้น นักท่องเที่ยวจะต้องมีสิ่งบันดาลใจ2.บุคคลที่มีอิทธิพล (Influencer) นอกจากปัจจัยที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวตามความเชื่อที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ยังพบว่า กลุ่มพิธีกร นักแสดง และบุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับมูเตลูในการบูชาสักการะและเดินทางไปสักการะขอพรตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อขอพรในเรื่องของหน้าที่การงาน เงินทอง ความรัก คุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง ทั้งความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ หรือความเชื่อในสิ่งที่ตนเองนับถือ ความเชื่อและความศรัทธาดังกล่าวทำให้กลุ่มพิธีกรนักแสดง และบุคคลที่มีชื่อเสียงเดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับกิตติ บุญนำ (2562) จากการศึกษา พบว่า ปัจจัยด้านแรงจูงใจของนักท่องเที่ยวเพื่อขอพรเพื่อสิริมงคลชีวิต ได้แก่ ขอพรจากพระเกจิอาจารย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเช่าวัตถุมงคล เพื่อขอพระจากพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์

3. สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) นอกจากบุคคลที่มีอิทธิพลทั้งกลุ่มพิธีกร นักแสดงที่มีชื่อเสียงที่ได้เดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ แล้วยังได้เผยแพร่ภาพถ่าย และวิดีโอในการเดินทางตลอดจนกิจกรรมเกี่ยวกับมูเตลูที่ตนเองได้ไปร่วม และเครื่องรางของขลังที่ตนเองครอบครองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ค (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) และทวิตเตอร์ (Twitter) ยิ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้บุคคลที่ติดตามกลุ่มพิธีกร นักแสดงและบุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านั้นในสื่อสังคมออนไลน์ตัดสินใจเดินทางเพื่อไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น ซึ่งสอดคล้องกับบัญญัติ พิลา (2559) การตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย นักท่องเที่ยวมักรวบรวมความคิดเห็นของผู้อื่นในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะออกเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่สนใจ ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับวัชระ ชัยเขตและคณะ (2561) ผลการศึกษา พบว่า การแบ่งปันรูปถ่ายหรือวิดีโอกิจกรรมท่องเที่ยวลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งดารา นักแสดง มีอิทธิพลต่อการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเลือกแหล่งท่องเที่ยว

ที่มาบทความ มูเตลู : ความเชื่อกับการท่องเที่ยว โดยอธิป จันทรสุริย์ https://culture.bsru.ac.th/wp-content/uploads/2021/06/13-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C-20-%E0%B8%891-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-64-%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B9.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *