ประเพณี ความประพฤติของคนส่วนรวมที่ถือกันเป็นธรรมเนียม

“ประเพณี” มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย ซึ่งจะขอนำมาบอกเล่าให้ทุกท่านเฉพาะเพียงบางส่วน พอสังเขปดังนี้

  1. ในความหมายของพระยาอนุมานราชธน (วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ของไทย 2514) ท่านให้ความหมายไว้ว่า ความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียวกันและสืบต่อกันมา ถ้าใครประพฤติออกนอกแบบ ก็ผิดประเพณีหรือจารีตประเพณี
  2. ในความหมายของท่านเสถียรโกเศศ (การศึกษาเรื่องประเพณีไทย, 2505) ท่านให้ความหมายไว้ว่า ความประพฤติสืบต่อกันมาจนเป็นที่ยอมรับของส่วนรวม สิ่งใดเมื่อประพฤติซ้ำ ๆ กันอยู่บ่อย ๆ จนเป็นความเคยชินก็เกิดเป็นนิสัยขึ้นมา ความประพฤติเหมือน ๆ กันเป็นส่วนใหญ่ในหมู่คณะ เรียกว่า ประเพณีหรือนิสัยสังคมหรืออาจกล่าวได้ว่า ประเพณี คือ ความประพฤติของคนส่วนรวมที่ถือกันเป็นธรรมเนียม หรือเป็นแบบแผนและสืบต่อกันมาจนเป็นพิมพ์เดียวกัน
  3. ในความหมายพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายไว้ว่า ประเพณีเป็นสิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผนขนบธรรมเนียมหรือประเพณีหรือประเพณีของสังคมที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา เรียกว่า “ประเพณีนิยม”

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พิธีกรรมและความเชื่อ ถ้าหากเกี่ยวเนื่องกับศาสนาก็จะเป็นเรื่องภาพรวมของสังคม แต่ถ้าหากเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันก็จะเป็นเรื่องราวของบุคคล โดยจะเริ่มตั้งแต่การเกิด การเข้าสู่วัยรุ่น การเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การเข้าสู่วัยครองเรือน และสุดท้ายก็คือ การเข้าสู่บั้นปลายแห่งชีวิต (การก้าวเข้าสู่ความตาย)

สำหรับประเพณีนั้นเป็นเรื่องของหมู่คณะ เริ่มตั้งแต่การเกิดแล้ว ก็การบวช ๆ เสร็จแล้วก็ทำศพและการบวชในขั้นตอนเริ่มแรกยังไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาและเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน เมื่อมีเกิดแล้วก็มีตาย เป็นความจริงของชีวิต ก็จะมีเรื่องของไสยศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ ถ้าหากอยู่ในระบบที่ใหญ่กว่าครอบครัวก็กลายเป็นพิธีกรรมทางศาสนา โดยทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวข้องที่คล้ายคลึงกันมาก เป็นให้คนในสังคมปัจจุบันมีความเข้าใจที่สับสน อาจนำไปยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางที่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนแม้เพียงน้อยนิด จะทำให้พิธีทางศาสนากลายเป็นพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ไปในทันที

ประเภทของประเพณี จัดแบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ได้ดังนี้

  1. ประเพณีภายในครอบครัว
  2. ประเพณีส่วนรวมตามเทศกาล
  3. ประเพณีเกี่ยวกับการแต่งกาย
  4. ประเพณีเกี่ยวกับการอาชีพ
  5. ประเพณีเกี่ยวกับการละเล่นในงานนักขัตฤกษ์
  6. ประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญ โดยในงานทำบุญนี้ยังแบ่งแยกออกไปเป็นงานมงคลกับงานอวมงคล
  7. ประเพณีเกี่ยวกับอาหารการกิน

พิธีกรรมตามประเพณี

พิธีกรรมตามประเพณีที่ถือปฏิบัติในสังคม เมื่อพิจารณาแนวทางการปฏิบัติแล้วจะพบว่า สามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 แนวทาง คือ

  1. พิธีกรรมตามประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของบุคคลโดยเฉพาะ เช่น การเกิด การเข้าสู่วัยรุ่น การเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การเข้าสู่วัยครองเรือน และการตาย
  2. พิธีกรรมตามประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา เป็นเรื่องของสังคมโดยรวม เช่น จารีตประเพณี ขนบประเพณี ธรรมเนียมประเพณี รัฐพิธี และพระราชพิธี

พิธีกรรมตามประเพณีโบราณ

“การเกิด” พิธีกรรมตามประเพณีโบราณจะเริ่มตั้งแต่ ตั้งครรภ์ คลอด จัดการกับเด็กคลอด การอยู่ไฟ การฝังรก แม่ซื้อ ทำขวัญ 3 วัน ทำขวัญเดือน โกนผมไฟ พิธีลงอู่ ตั้งชื่อเด็ก เบิกนม

“การตาย” พิธีกรรมตามประเพณีโบราณที่เกี่ยเนื่องกับการตาย เริ่มต้นจากพิธีการทำศพ พิธีสวดศพ พิธีนำศพไปวัดหรือการเคลื่อนย้ายศพ พิธีการเผาศพ

ซึ่งพิธีกรรมทั้งสองพิธีข้างต้นนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลตั้งแต่พิธีการเกิดต่อเนื่องไปจนกระทั่งการตาย โดยที่พิธีกรรมตามประเพณีโบราณส่วนมากแล้ว มักจะเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ พอสรุปได้ดังนี้

  1. การสร้างบ้านปลูกเรือน โดยแยกออกเป็นพีกรรมเกี่ยวกับเครื่องเรือนและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับปลูกเรือน
  2. การแต่งงาน ซึ่งจะแยกออกเป็นลักษณะวิธีแต่งงานและลำดับพิธีการแต่งงาน
  3. การบรรพชา/อุปสมบท
  4. การทำบุญวันเกิด
  5. การทำบุญอายุ
  6. การทำบุญขึ้นบ้านใหม่
  7. การทำบุญบ้าน
  8. ฯลฯ

นอกจากพิธีกรรมตามประเพณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว การที่ประชาชนชาวไทยนั้นประกอบด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ พิธีกรรมตามความเชื่อและประเพณีก็ย่อมมีหลากหลายตามไปด้วย สามารถจัดแบ่งออกไปตามลักษณะของพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะขอนำพิธีกรรมตามความเชื่อ ตามลักษณะภูมิภาค ดังนี้

ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ จะมีหลากหลาย โดยแบ่งออกได้ดังนี้

ภาคเหนือ มีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก พิธีบวชต้นไม้ของจังหวัดเชียงราย พิธีดำหัวของเชียงใหม่ พิธีถวายสลากภัตของสุโขทัย พิธีโกนจุกของตาก พิธีกิ๋นสลากภัตของน่าน พิธีถอนตีนเสาเอือนของแร่ พิธีเลี้ยงผีของลำพูน พิธีบูชาขันตั้งของลำปาง พิธีแฮนโก่จ่าของแม่ฮ่องสอน พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเพชรบูรณ์ พิธีสรงน้ำพระสงฆ์/ห่มผ้าเจดีย์พระบรมธาตุ/พิธีกวนกระยาสารทของกำแพงเพชร ฯลฯ

ภาคกลาง ก็จะมีพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีรำเจ้า “ไหว้เจ้าพ่อหนุ่ม” นนทบุรี พิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกาญจนบุรี พิธีกองข้าวบวงสรวงชลบุรี พิธีลูกโกศเพชรบุรี พิธีไหว้นางสงกรานต์ ราชบุรี พิธีบวงสรวงพันท้ายนรสิงห์สมุทรสาคร พิธีไหว้พระใหญ่ชาวกะเหรี่ยงอุทัยธานี พิธีไหว้พระแข สุพรรณบุรี พิธีเซ่นผีแต่งงานตราด พิธีทำบุญกลางบ้านปทุมธานี พิธีบวชของชาวมอญสมุทรสงคราม พิธีบายศรีพระของนครนายก พิธีไหว้แม่ย่านาง ระยอง ฯลฯ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมาพิธีขอขมาวัวควาย/พิธีเรียกขวัญข้าว เลยพิธีสมโภชนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ขอนแก่ พิธีลำผีฟ้า หนองคายพิธีเลี้ยงผีปู่ตา สกลนครพิธีเชิญวิญญาณผู้ตายคืนเรือนชาวโซ่ง นครพนมพิธีแสกเต้นสาก สุรินทร์พิธีเซ่นสรวงเทวดาด้วยปะต๊วล อุดรธานี พิธีทำบุญเลี้ยงผีบ้าน มหาสารคามพิธีเซี่ยงข้อง หนองบัวลำภู พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กาฬสินธุ์ พิธีบายศรีสู่ขวัญ ฯลฯ

ภาคใต้ นราธิวาสพิธีสระหัวบะตัน ปัตตานีพิธีลาซัง – โต๊ะ ชุมพุก พังงา พิธีโกยห่าน ภูเก็ตพิธีลอยเรือชาวเล ตรังพิธีทำเคราะห์บ้าน ยะลาพิธีสวดอุบาทว์ฟ้า ระนองพิธีสวดกลางบ้าน สงขลาพิธีสมโภชและสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัวหรือพิธีตายายย่าน ชุมพรพิธีสวดมาลัย (ยักมาลัย) นครศรีธรรมราชพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ/พิธีกวนข้าวยาคู/พิธีทำขวัญเด็ก

ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างของประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อเพียงบางส่วนเท่านั้น และนอกจากนี้ ในเรื่องโชคลางก็เป็นอีกความเชื่อหนึ่งที่สังคมไทยยังยึดถืออยู่ โดยเชื่อว่า เป็นเครื่องหมายบอกเหตุร้าย เหตุดี ประเด็นแรก โชคลางนั้นสังคมยึดถือ และมีความเชื่อมาเป็นเวลาช้านานแล้ว กระทั่งกลายเป็นการต้องปฏิบัติและงดเว้นการปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น กล่าวว่า ถ้าจิ้งจกร้องก่อนจะออกจากบ้าน มีการแปลความหมายไว้ต่าง ๆ นานา ว่าการจะไปทำภารกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือออกเดินทางจากบ้านเจอสัตว์เลื้อยคลานก็ถือเป็นโชคลาง บอกเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ตามความเชื่อของแต่ละชุมชน ความเชื่อและยึดถือโชคลางดังกล่าวยังมีอยู่ในสังคมไทย โดยที่สภาพสังคมปัจจุบัน คนในสังคมกำลังตกอยู่ในสภาวะอ่อนแอทางจิต ขาดที่พึ่งที่จะสร้างความแข็งแกร่งทางใจ เสี่ยงต่อการถูกชัดนำให้เชื่อในสิ่งที่ไม่ใช่หลักธรรมคำสอนทางศาสนาที่ถูกต้องแท้จริงจากพวกมิจฉาชีพ

ที่มาบทความ พิธีกรรมและประเพณี กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม https://www.nabon.go.th/news/doc_download/a_100717_140422.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *