คัมภีร์ผีและเทวดา “นาม” “รูป” ของศาสนา

พุทธศาสนาได้เกิดขึ้นท่ามกลางความหลากหลายของศาสนาพราหมณ์ และหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นกิ่งก้านที่ได้แตกออกมาจากรากกำเนิดเดิมของอารยธรรมอินเดีย และต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพาน ศาสนาพุทธในอินเดียก็ได้ผสมผสานปรุงแต่งไปเป็นหลาย ๆ นิกาย

ขณะที่ปัจจุบันในสังคมอินเดีย ศาสนาพุทธได้เกือบสูญสลายไปจากรากกำเนิดเดิมแล้ว คงเหลือแต่เพียงปรัชญา แต่กระนั้นศาสนาพุทธก็ได้ไปแตกหน่อเจริญงอกงามอยู่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วทวีปเอเชีย ซึ่งไมเคิล ไรท์ ผู้เขียนหนังสือ “ฝรั่งคลั่งผี” ก็ได้อธิบายถึง ความแตกต่างระหว่างผี พราหมณ์ และพุทธ ไว้อย่างน่าสนใจ

คำว่า “ฝรั่งคลั่งผี” โดยนัยของไมเคิล ไรท์ ยังหมายถึงว่า เขาเป็นฝรั่ง แต่กลับไม่ชอบวิธีการของพวกฝรั่งที่กดขี่คนพื้นเมืองไว้ด้วยข้อกล่าวหาว่า ไม่ศิวิไลซ์ แล้วก็ชังน้ำใจคนไทยที่ยกย่องความศิวิไลซ์ โดยรังเกียจต่อรากเหง้าพื้นถิ่นของตัวเอง และบอกว่า “อารยะ” เป็นคำอันตรายที่ใคร ๆ เข้าใจผิด

“ความเข้าใจผิด ในคำว่า “อารยะ” นั้น ก็ได้มีการนำไปสู่ความฉิบหายทางปัญญา โดยได้ชักจูงให้หลากหลายกลุ่มชนให้ได้หลงใหลในเรื่องของเชื้อชาติ ยกย่อง (ดูถูก) และชาติของตน และยกย่อง (เบียดเบียน) และชาติอื่น ๆ อย่างไร้เหตุผล”

ด้วยเหตุนี้ ไมเคิล ไรท์ก็เลย “คลั่งผี” มากกว่า คือ มีความลุ่มหลงพึงพอใจต่อวัฒนธรรมความเชื่อในสังคมดั้งเดิมที่ยังดิบ บริสุทธิ์ และไม่ถูกปรุงแต่งแบบสังคมอริยะ เขาเรียกวัฒนธรรมพื้นถิ่นว่า “ผี” เพราะคนพื้นถิ่นนับถือผี ซึ่งมีลักษณะดิบ เถื่อน โหดร้าย

ผีในสังคมอินเดียส่วนมากจะเป็น “เจ้าแม่” เพราะลักษณะภูมิประทศเป็นลุ่มแม่น้ำ ทำการเกษตรเป็นหลัก การนับถือเจ้าแม่ดิน ซึ่งเป็นผีของชาวพื้นเมือง ต้องสักการะด้วยการสังเวยบูชายัญสิ่งมีชีวิตเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้อุดมสมบูรณ์ เพราะว่าทุกอย่างถือกำเนิดงอกงามขึ้นมาจากผืนแผ่นดิน ต้องทำใจให้เจ้าแม่พึงพอใจจึงจะได้รับผลกระเพาะปลูกที่ดี

ส่วนใหญ่สังคมพื้นถิ่นจะนับถือเจ้าแม่ดิน ก่อนที่จะถูกทำให้เป็นสังคมศิวิไลซ์หลังการมาถึงของพราหมณ์ ซึ่งยกย่องเทพเจ้าผู้ชาย และลิดรอนอารมณ์ดิบ ๆ ของเจ้าแม่ด้วยการทำให้กลายเป็นเทพีหรือชายาของเทพเจ้า นัยหนึ่งก็คือ เปลี่ยนสถานะของเจ้าแม่ผู้มีอำนาจในตัวเองมาเป็นความเชื่อเมื่อมี “ผัว”

ไมเคิล ไรท์ ได้เล่าว่า เมื่อได้ไปท่องเที่ยวยังประเทศอินเดีย และพบว่า ตำนานของเทวสถานในแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน ก็คือ เป็นเรื่องของเจ้าแม่ได้ “ผัว” หมายถึง ตำนานการได้เข้ามาของชาวอารยันที่ต้องการจะกลืนชนพื้นเมือง โดยได้เอาเจ้าแม่ท้องถิ่นมาเป็นเมียเทพเจ้าของตน และยังมีเรื่องเล่าในทำนองเดียวกันว่า ที่นี่แต่เดิมเป็นป่ามะตาด เจ้าแม่ขี่เสือเที่ยวหาเลือด คนจึงตั้งเป็นบ้านเมืองไม่ได้ พญาทั้งหลายฟ้องถึงพระอิศวรบนเขาไกรลาส พระองค์จึงเสด็จลงมาปราบปรามเจ้าแม่และเอาเป็นเมีย แต่นั้นมาเจ้าแม่กลายเป็นนางทองที่สุภาพเรียบร้อยไม่กินเลือดคน ตั้งแต่ได้ตั้งลึงค์พระอิศวรไว้ที่นี่ชาวบ้านก็ได้ถางป่ามะตาดให้เป็นทุ่งนาเรือกสวน และก่อเป็นบ้านเมืองอันอุดมสมบูรณ์ และมโหฬารที่เห็นอยู่ถึงปัจจุบัน

“เจ้าแม่ดิน” เป็นสิ่งสักการะบูชาของสังคมบรรพกาลในอินเดีย ก่อนจะถูกพวกอารยันนำศาสนาพราหมณ์เข้ามาผสมผสานกับความเชื่อเดิมเพื่อกลืนชนพื้นเมืองเหล่านั้นไว้ภายใต้การปกครองของตน เปลี่ยนจากการนับถือ “ผี” มาเป็น “พราหมณ์”

วิธีการที่พวกอารยันใช้ก็คือ แนวคิดเรื่องความศิวิไลซ์ เปลี่ยนเจ้าแม่ท้องถิ่นผู้เปี่ยมได้ด้วยพลังอำนาจ และความเป็นตัวของตัวเองมาเป็นศรีเทวีของผัว เปลี่ยนความดิบสดเป็นการปรุงแต่งจริตภายนอก ลดทอนแก่นแท้และแทนที่ด้วยการประดับประดา

การปรุงแต่งนั้นทำให้เกิดความไม่มั่นใจในคุณสมบัติเดิมแท้ของตัวเอง ขาดความเป็นตัวของตัวเอง เป็นวัฒนธรรมที่มีแต่เปลือกนอก ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่ไมเคิล ไรท์ จะรักผีมากกว่า

ส่วนสังคมไทยพื้นถิ่นก็มีการนับถือ “ผี” มาก่อนเช่นกัน เสถียรโกเศศได้เล่าไว้ในหนังสือ ชีวิตชาวไทยสมัยก่อน และการศึกษาเรื่องประเพณีไทยว่า ก่อนจะมี “พุทธ” คนไทยก็นับถือ “ผี” “ไทยแต่เดิมนับถือผี ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังนับถืออยู่” ค้นคว้าจากผู้รู้ไทย คำว่า “ผี” มาจากภาษามคธ คือ “ภีตะ” ซึ่งแปลว่า “เงา”

“ผี” ใช้เรียกสิ่งที่คนไม่อาจเข้าใจได้ด้วยปัญญาหรือเหตุผล เสถียรโกเศศให้ความหมายว่า ผี คือ สิ่งลึกลับซึ่งมีสภาพเกินคนเพราะฉะนั้น ตามปกติแล้วผีจึงมีอำนาจเหนือคน อาจทำคนให้ได้ดี หรือให้ได้ร้ายก็ได้ เมื่ออิทธิพลของลัทธิพราหมณ์เข้ามาครอบ สังคมไทยก็เปลี่ยนไปในลักษณะเดียวกัน “ผี” ของเราก็เปลี่ยนไปด้วย

สำหรับคนไทยสมัยก่อนนั้น เสถียรโกเศศว่า แม้แต่พระอินทร์ก็ถือเป็นผีด้วย คือ รู้จักกันในนาม “ผีฟ้า” ซึ่งเป็นผีผู้เป็นใหญ่ในท้องฟ้า สำแดงตนด้วยเสียงฟ้าฝ่าเอ็ดอึงเพื่อขับไล่ความแห้งแล้ง (อสูร) ให้หนีไป หลังจากนั้น ฝนก็ตกลงมา ผีฟ้าจึงเป็นผีให้คุณ คือ ขับไล่ความแห้งแล้งด้วยการบันดาลให้ฝนตก นอกจากนี้ ก็ยังมีผีอยู่ในแทบจะทุกสิ่ง ผีเจ้าผ่าเจ้าเขา ผีบ้านผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย ฯลฯ เรียกว่า สังคมมีความเคารพต่อสรรพสิ่งรอบตัว

พระอินทร์เพิ่งจะมาเปลี่ยนเมื่อรับเอาอิทธิพลของพราหมณ์ จาก “ผีฟ้า” ที่ไร้รูปลักษณ์หรืออยู่ในรูปของธรรมชาติ กลายเป็น “เทวดา” ที่มีรูปลักษณ์ เป็นบุคลาธิษฐาน  มีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้น และมีนิสัยใจคอเหมือนมนุษย์ เกิดศาสนาที่มี “รูป” ให้เชื่อถือยิ่งกว่าศาสนา “ผี” ที่เป็นนามธรรม

เทวาดาอื่น ๆ ก็พลอยเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา พร้อมกับสวรรค์ก็กลายเป็นสถานที่ซึ่งสามารถจะใฝ่ฝันถึงได้ในความรู้สึกของคน “สวรรค์” ตามคติของพราหมณ์นั้น เป็นประหนึ่งรูปจำลองความปรารถนาของคน คือ กรปรด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ศฤงคาร และหญิงผู้บำเรอความรัก

นางฟ้าบนสวรรค์ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง หน้าที่หลัก คือ ทำตามคำสั่งของพระอินทร์ ซึ่งอาจใช้ให้ไปคอยยั่วยวนตบะของฤษีให้หย่อนยานสิ้นฤทธิ์ เพราะพระอินทร์กลัวผู้บำเพ็ญฌานว่า จะมีฤทธิ์ตบะเหนือกว่าตน

เรื่องเล่าของเหล่าเทวดาในลัทธิพราหมณ์ – ฮินดูนั้น เข้าใจได้ง่าย ๆ ในระดับของการรับรู้ของคนส่วนมาก เพราะเป็นการจำลองเรื่องราวของมนุษย์ อย่างเช่น เหล่าเทวดาก็ยังมีกิเลสเหมือน ๆ กัน และก็ต่างหมายปองที่จะได้อยู่บนสวรรค์เช่นเดียวกัน และเรียกว่า เป็นศาสนาประชานิยม อย่างที่เสถียรโกเศศได้บอกว่า “ใคร ๆ ที่ยังปรารถนาอยู่ก็ถูกใจ และไม่เหหันไปนับถือศาสนาอื่น ๆ”

แม้แต่ลำดับชั้นเทวดาแบบพราหมณ์ ก็ยังมีเทวดาใหญ่บนสวรรค์และเทวดารองลงมาในโลกมนุษย์ เช่น เจ้าที่เจ้าทาง เทพาอารักษ์ หรือเทวดาประจำถิ่น ซึ่งต้องปลูกศาลให้อยู่ คอยถวายสิ่งของให้พอใจเพื่อคุ้มครองตน ต่ำลงมามากกว่านั้นเรียกว่า “ผี” ผีของพราหมณ์มีตัวมีตนเช่นเดียวกับเทวดา แต่อยู่ภายใต้รูปลักษณ์ที่น่าเกลียดน่ากลัว เรียกรวม ๆ กันว่า เป็นผีเลวหรือผีร้าย ซึ่งเป็นผีที่ไร้อำนาจ ได้แต่แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกคนเล่น มิได้มีฤทธิ์เดชให้คุณให้โทษกับใคร นอกเสียจากจะจับไข้หัวโกร๋นเพราะขวัญอ่อนไปเอง

พุทธศาสนาเข้ามาสู่สังคมไทย ด้านหนึ่งเป็นการดับความทุกข์ร้อนแต่อีกด้านก็เพื่อผ่อนความกลัว (ต่อผี) ไมเคิล ไรท์ยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบตำนานเจ้าแม่ดินของอินเดียกับไทย สีสันเจ้าแม่ดินของอินเดียนั้นจะจัดจ้าน ดุร้าย เมื่อมีผัวก็หายดุร้าย กลายเป็นหญิงเรียบร้อย

ส่วนเจ้าแม่ดินแบบไทย ๆ เช่น ผีนางนาคพระโขนงนั้น น่าสงสารนัก นอกจาก จะตายทั้งกลม คือ ยังไม่ทันได้ให้กำเนิดวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมาก็มีอันเป็นไปเสียก่อน แล้วก็ยังโหยหาอาลัยรักต่อผัว

วัฒนธรรมไทยจริง ๆ แทบไม่ได้ผุดได้เกิดเป็นตัวของตัวเองเหมือนอารยธรรมที่มีมาก่อนหน้า และสุดท้ายยังต้องเสียสละ ซึ่งเป็นการยอมแพ้ต่อศาสนาพุทธ เช่น นางนาคยอมแพ้ต่อ “พระ”

การนับถือ “ผี” เปลี่ยนเป็น “พราหมณ์” ได้ เพราะเสนอ “รูป” ขึ้นมา แทน “นาม” ทั้งสวรรค์ นรก เทวดา และผี มีการสมมุติกันขึ้นมาแล้วก็ครอบงำ ซึ่งส่วนใหญ่ความศรัทธาที่มีการปลูกสร้าง “รูป” ขึ้นมา จะมาพร้อมกับการปกครองเสมอ

การปั้น “รูป” มาแทน “นาม” นี่เอง พุทธศาสนาเห็นว่า เป็น “อวิชชา” และมีความพยายามที่จะคืนรูปกลับไปหลอมรวมกับนามหรือสัจธรรม ดังนั้น พระอินทร์ของพุทธศาสนาจึงไม่ได้เป็นอมตะ สามารถจุติลงมาเป็นมนุษย์ ถอดถอนจากตำแหน่งหัวหน้าเทวดา หรือถูกฤษีผู้มีตบะฌานสาปแช่งก็ได้ทั้งนั้น ตามกรรมจากผลที่ทำไว้

เพราะไม่มีสิ่งใดแน่นอนในชีวิตอันไม่เที่ยงของคนเรา เช่นเดียวกับนางนาคยอมรับในสัจธรรมของสุขทุกข์ที่อยู่เพียงชั่วครู่ยาม นางไม่อาจยึดมั่นต่อผัวไว้ได้ตลอดกาล จึงได้ปล่อยวางเสีย “พุทธ” จึงเอาชนะ “ผี” ในสังคมไทย เพราะความเข้าอกเข้าใจและยอมรับด้วยเมตตา ความนับถือต่อพระธรรมคำสั่งสอนจึงเป็นพื้นฐานอยู่ในหัวใจของคนไทยมาช้านาน   

ขอขอบคุณที่มาบทความ แกะรอยคัมภีร์ฉบับคนกันเอง ภาค 2 ประมวลยอดคัมภีร์ธรรมะ โดย เอื้อ อัญชลี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *