วรรณคดีโบราณของอินเดีย พระเวท คัมภีร์พระเวท

“พระเวท” หรือ “คัมภีร์พระเวท” ได้รวบรวมแนวคิดด้านต่าง ๆ ของชาวอารยันไว้ด้วยกัน เช่น ด้านศาสนา ด้านสังคม และด้านปรัชญา เป็นต้น ดังนั้น การศึกษาอารยธรรมอินเดียให้เข้าใจถ่องแท้

การแบ่งพระเวท

พระเวทที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 คัมภีร์ หรือ 4 เวท ด้วยกัน คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรวเวท ตามตำนานและความเชื่อของชาวฮินดูนั้น มีเรื่องเล่าวา แต่เดิมพระเวทมีอยู่เพียงเล่มเดียว ครั้นเวลาล่วงมาถึง “ทวาปรยุค” ยุคที่ 2 ของโลกซึ่งเชื่อกันว่า ในยุคนั้นโลกมีคนดีและคนเลวจำนวนเท่ากัน “ฤษีวยาสะ” คือ ฤษีกษณไทวปายนะ ผู้แต่งเรื่อง มหาภารตะ ได้แบ่งพระเวทออกเป็น 4 เล่ม เพื่อใช้สอนแก่ฤษีลูกศิษย์ 4 ตน ดังนี้

  • คัมภีร์คฤเวท สอนให้ “ฤษีไปละ”
  • คัมภีร์ยชุรเวท สอนให้ “ฤษีไวศัมปายัน”
  • คัมภีร์สามเวท สอนให้ “ฤษีไชมินิ”
  • คัมภีร์อถรรวเวท สอนให้ “ฤษีสุมันตุ”

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าแต่เดิมพระเวทมีเพียง 3 คัมภีร์ คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ซึ่งเรียกว่า ตรยีวิทยา หรือที่ชาวไทยเรียกว่า “ไตรเพท” ตามหลักฐานทางพระพุทธศาสนา พบว่า มีพระสาวกบางองค์เคยเป็นพราหมณ์เรียนจบไตรเพท ก่อนที่จะหันมาเลื่อมใสและอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แสดงให้เห็นว่า คัมภีร์อถรรวเวทเกิดขึ้นในสมัยหลัง

อายุของพระเวท

มีผู้ให้ความเห็นและกำหนดอายุของคัมภีร์พระเวทไว้แตกต่างกันไป เช่น เฮอร์มาน จาโคบี ชาวเยอรมัน และ บาล คังคาธรดิลก ได้ลงความเห็นตรงกันว่า คัมภีร์พระเวทแต่งเมื่อ 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่ทฤษฎีที่นักภารตวิทยา ส่วนมากเห็นด้วย คือ ทฤษฎีของศาสตราจารย์ แมกซ์ มีลเลอร์ ชาวเยอรมัน ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าแต่งเมื่อ 1,400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช

วรรณคดีพระเวท

วรรณคดีพระเวท หมายถึง วรรคดีที่เป็นคัมภีร์พระเวทโดยตรง และวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์พระเวท ซึ่งแต่งในยุคเดียวกันกับคัมภีร์พระเวทหรือแต่งในสมัยที่ต่อจากนั้น วรรณคดีพระเวทประกอบด้วย ส่วนต่าง ๆ รวม 4 ส่วน ด้วยกัน คือ สังหิตา พราหมณะ อารัณยกะ และอุปนิษัท แต่ละส่วนมีเนื้อหาและส่วนประกอบที่แตกต่างกันไป ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

สังหิตา

คำว่า สังหิตา แปลว่า การรวบรวม หมายถึง การรวบรวมบทสวด บทเพลง หรือคำอำนวยพร ที่ใช้สำหรับสวด ขับร้อง หรือกล่าวในการประกอบยัชญพิธีสังหิตาเป็นส่วนที่เก่าแก่ และสำคัญมากที่สุดของวรรณคดีพระเวท ถือกันว่า สังหิตาเป็นจุดเริ่มต้นของวรรณคดีพระเวท และวรรณคดีทั้งมวลของอินเดีย สังหิตามี 4 หมวด ดังนี้

1. ฤคเวทสังหิตา

ฤคเวทสังหิตา คือ การรวบรวมบทสวดสรรเสริญ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า คัมภีร์ฤคเวทนั่นเอง คำ ฤคฺ มาจากรากศัพท์ในภาษาสันกฤต (ธาตุ) คือ ฤจฺ แปลว่า สรรเสริญ ฤคเวทสังหิตามแบ่งเป็นเล่ม แต่จะเล่มเรียกว่า มณฑล มีทั้งหมดจำนวน 10 มณฑล แต่ละมณฑลประกอบด้วยบทสวดซึ่งเรียกวา สูกตะ สูกตะหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย บทมนตร์ (มันตระ) ซึ่งมีจำนวนไม่เท่ากันมากบ้าง น้อยบ้าง มันตระหนึ่ง ก็คือ คำประพันธ์ร้อยกรอง (ฉันท์) บทหนึ่ง ๆ นั่นเอง ฤคเวทสังหิตามีบทสวดรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 1,028 สูกตะ บทสวดเหล่านี้แต่งด้วยภาษาสันสกฤตสมัยพระเวท และให้ความรู้ว่า ฤษีที่แต่งบทสวดนี้ ชื่ออะไร และบทสวดเหล่านี้เป็นฉันท์ชนิดใดบ้าง เทพที่ได้รับการสวดสรรเสริญ ชื่ออะไร มันตระ ในบทสวดอาจจะเป็นฉันท์ชนิดเดียวกันทุกมันตระ หรืออาจจะเป็นฉันท์ต่างชนิดกันก็มี

บทสวดในฤคเวทสังหิตาเมีเนื้อความที่เป็นการสรรเสริญเทพเป็นหลักแต่เมื่อศึกษาโดยละเอียดจะพบว่า บทสวดเหล่านี้ให้ความรู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับชาวอารยันโบราณ เช่น ความคิด ความเชื่อ การดำเนินชีวิต ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ตลอดจนการขยายอำนาจของชนเผ่าอารยัน เป็นต้น และพราหมณ์ที่ทำหน้าที่สวดบทมันตระในฤคเวทสังหิตา เรียกว่า “พราหมณ์โหตฤ”

2. ยชุรเวทสังหิตา

ยชุรเวทสังหิตา คือ การรวบรวมความรู้ในเรื่องการประกอบยัชญพิธี คำว่า ยชุรฺ ในภาษาสันสกฤตมาจากรากศัพท์ (ธาตุ) คือ ยชฺ แปลว่า บูชา บวงสรวง สังหิตาหมวดนี้ มีความสำคัญเสมือนเป็นคู่มือประกอบพิธกรรมทางศาสนา ลักษณะคำประพันธ์มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง สังหิตาหมวดนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ยชุรเวทดำ ที่ชื่อว่า ยชุรเวทดำเพราะรวบรวมเอาความรู้เรื่องพิธีที่จัดบูชาในช่วงเดือนแรม ยชุรเวทดำมีสำนวนต่าง ๆ จำนวน 4 สำนวน คือ ไตตติรียสังหิตา กฐกสังหิตา กปิษฐัลกฐสังหิตา และไมตรายณีสังหิตา ซึ่งยชุรเวทดำแบ่งเป็นตอน เรียกว่า กาณฑ์ มีทั้งหมด 7 กาณฑ์
  2. ยชุรเวทขาว ยชุรเวทขามี 1 สำนวน คือ กานวสังหิตา และมาธยันทินีสังหิตา

ยชุรเวทขาวแบ่งเป็นตอนเรียกว่า อัธยายะมีจำนวน 40 อัธยายะ เนื้อหาสาระที่เป็นแก่นของยชุรเวทสังหิตา คือ พิธีบูชาบวงสรวง นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงพิธีสำคัญ คือ พิธีอัศวเมธ (พิธีปล่อยม้าเพื่อแผ่อำนาจการปกครอง) ไว้ด้วย

3. สามเวทสังหิตา

สามเวทสังหิตา คือ การรวบรวมบทเพลงที่ใช้ในพิธีคำว่า สามมาจากคำว่า สามนฺ แปลว่า บทเพลง ลักษณะคำประพันธ์ของสามเวทสังหิตาเป็นร้อยกรองจำนวน 1,810 บท แต่ถ้าไม่นับบทที่ซ้ำกันจะมีจำนวน 1,549 บท

บทประพันธ์ในสังหิตาหมวดนี้มีไว้สำหรับสวดหรือขับร้องในยัชญพิธีบูชาด้วยนำโสม สามเวทสังหิตาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปูรวาจิกะ มีบทขับร้อง 585 บท และอุตตราจิกะมีบทขับร้องจำนวน 1225 บท พราหมณ์ที่ขับร้องบทสามันเรียกว่า พราหมณ์อุทคาตฤ

4. อถรรวเวทสังหิตา

อถรรวเวทสังหิตา หมายถึง การรวบรวมบทมนตร์อาถรรพ์ คำว่า อถรฺว หมายถึง พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีบูชาไฟ คำนี้หมายถึง บทมนตร์อาถรรพ์ได้ด้วย ในการประกอบพิธีโดยใช้บทมนตร์อาถรรพ์นี้มีพราหมณ์ 2 คน คือ พราหมณ์อถรรวัน และพราหมณ์ อังคิรัส การใช้บทมนต์ในพิธีเยียวยาหรือบำบัดโรคและพิธีอำนวยพรเป็นหน้าที่ของพราหมณ์อถรรวัน ส่วนการใช้บทมนตร์ในพิธีสาปแช่งศัตรูหรือคู่แข่ง เป็นหน้าที่ของพราหมณ์อังคิรัส

อถรรวเวทสังหิตารวบรวมบทสวด (สูกตะ) ไว้จำนวน 731 สูกตะ และมีบทมนตร์รวมกันทั้งสิ้นจำนวน 6,015 บท พราหมณ์ผู้ทำหน้าที่สำคัญในการประกอบพิธีบวงสรวงโดยใช้อถรรวเทวสังหิตาเรียกว่า พรหมพราหมณ์

พราหมณะ

พราหมณะ เป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับยัชญพิธีเป็นหลัก และในพราหมณะจะมีเรื่องราวประเภทต่าง ๆ ทั้งตำนาน นิทาน เรื่องเก่าแก่ และประวัติศาสตร์ พราหมณะมีอยู่จำนวนหลายเล่ม แต่ละเล่มมีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายข้อความในสังหิตาแต่ละหมวด เช่น ไอตเรยะ – พราหมณะ และเกาษีตกิพราหมณะ อธิบายฤคเวทสังหิตา ไตติรียะ – พราหมณะ และศตปถะ – พราหมณะ อธิบายยชุรวเทสังหิตา เป็นต้น จึงเห็นว่า พราหมณะเป็นวรรณคดีที่ทำหน้าที่อธิบายสังหิตาให้ละเอียดชัดเจนและเข้าใจง่าย การจะศึกษาวรรณคดีประเภทพราหมณะ ให้เข้าใจอย่างละเอียดต้องใช้เวลามาก

อารัณยกะ

คำว่า “อารัณยกะ” แปลว่า “เรื่องที่แต่งและศึกษาในป่า” เนื้อหาของวรรณคดีประเภทนี้ก็คือ อธิบายความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับยัชญพิธี เพื่อให้คนที่สละบ้านเรือนเข้าไปอยู่ในป่าได้เข้าใจ ผู้ศึกษาอารัณยกะ มักจะเป็นผู้ที่ผ่านวันกลางคน ซึ่งสละบ้านเรือนเข้าไปอยู่ในป่า ตามวิถีชีวิตของคนในศาสนาพราหมณื อารัณยกะจะให้ความรู้เรื่องศาสนา และพิธีกรรมแก่ผู้เข้าไปอยู่ในป่าได้

อารัณยกะ มีจำนวนหลายเล่ม ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับพราหมณะเป็นการอธิบายรายละเอียดต่อจากพราหมณะ อารัณยกะจึงมีชื่อตามชื่อของพราหมณะ เช่น ไอตะเรยะ – อารัณยกะ เกาษีตกิ – อารัณยกะ ไตติรียะ – อารัณยกะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อารัณยกะจำนวนหลายเล่มก็ไม่เกี่ยวข้องกับพราหมณะเลย

อุปนิษัท

อุปนิษัท เป็นวรรณคดีพระเวทส่วนสุดท้าย คำว่า “อุปนิษัท” แปลว่า นั่งลงใกล้ (อุป – ใกล้, นิ – ลง, ษัท – นั่ง) หมายถึง การที่นักเรียนนั่งลงใกล้ครู เพื่อให้ศึกษาความรู้อันลึกลับได้ชัดเจน เพราะครูจะไม่พูดเสียงดัง โดยถือว่า วิชาเป็นความลับ ซึ่งเรียกว่า รหัสยลัทธิ

เนื้อหาที่สำคัญของวรรณคดีประเภทอุปนิษัท คือ แนวความคิดเรื่องพรหมมัน ปรมาตมัน และเรื่องโมกษะ ซึ่งเป็นพัฒนาการของปรัชญาอินเดีย ดังนั้น การศึกษาอุปนิษัท ก็คือ การศึกษาปรัชญาของอินเดียนั่นเอง

อุปนิษัทมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง มีทั้งที่เป็นคำอธิบายสืบต่อจาก วรรณคดี พราหมระ และอารัณยกะ และที่เป็นเล่มอิสระที่สำคัญได้แก่ ไอตเรยะ – อุปนิษัท ไตติรียะ – อุปนิษัท พฤหทารันยกะ – อุปนิษัท ฉานโทกยะ – อุปนิษัท และมุณฑกะ – อุปนิษัท เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นวรรณคดีพระเวทจริง ๆ แต่ยังมีวรรณคดีเล่มอื่นที่นักปราชญ์บางท่านจัดให้เป็นวรรณคดีพระเวท เช่น อุปกรณ์ในการศึกษา พระเวทที่ซึ่งเรียกว่า เวทางคะ เป็นต้น

ขอขอบคุณที่มาบทความวรรณคดีพระเวท : การศึกษาเชิงสำรวจ โดยประเทือง ทินรัตน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *