ความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยมีประเด็นการศึกษา ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ แนวปฏิบัติในการคุ้มครองผู้สูงอายุ และทิศทางอนาคตของการคุ้มครองผู้สูงอายุ โดยกฎหมายเฉพาะฉบับแรก คือ “พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546” ซึ่งได้มีการบังคับใช้กฎหมายมา 3 ฉบับแล้ว ก็เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้สูงอายุตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็นพระราชบัญญัติฉบับแรก ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 เนื่องจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในขณะนั้นกำหนดให้บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ สิทธิเรื่องเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ และหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมจากรัฐ

ด้วยสภาพสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลจึงมีนโยบาย และมาตรการในการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ได้รับสวัสดิการที่จำเป็น โดยกำหนดให้เรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุรา และยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสุรา และยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตและให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าวเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุน และให้กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนเพื่อนำส่งเข้ากองทุน และในปีงบประมาณที่มีเงินบำรุงกองทุนส่งเข้ากองทุนเกิน 4,000 ล้านบาท ให้กรมกิจการผู้สูงอายุนำเงินบำรุงกองทุน และเงินที่มีผู้บริจาคเข้ากองทุน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์ เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตลอดจนกำหนดกรณีการได้รับการยกเว้น การลดหย่อน การคืนเงินบำรุงกองทุน และกรณีที่ต้องเสียเงินเพิ่ม รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษ และการเปรียบเทียบคดี นอกจากนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคสังคมได้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการจ่ายเงินสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย รวมทั้งข้อจำกัดของกฎหมายเกี่ยวกับบำนาญ จึงมีข้อเสนอแนะที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการจ่าย และอัตราการจ่ายเงิน ตลอดจนเปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ซึ่งจะเสนอเป็น “ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่…..) พ.ศ…..” เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 1 บททั่วไปมาตรา 4 ได้กำหนดให้ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง และปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” และในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มีบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สูงอายุกำหนดไว้ในมาตรา 27 วรรคสามและวรรคสี่ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุผลความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ รวมทั้งมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรค หรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิ หรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครอง หรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม…” จะเห็นได้ว่า ในการคุ้มครองผู้สูงอายุย่อมไม่ถือว่า เป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ซึ่งหมายความว่า หน่วยงานทั้งหลายพึงปฏิบัติแตกต่างเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกแก่บุคคลโดยเฉพาะแก่ “ผู้สูงอายุ”

นอกจากนี้ ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 71 ยังกำหนดให้ “รัฐพึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสังคม จัดให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจเข้มแข็ง รวมตลอดทั้งส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพและความสามารถสูงขึ้น รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว และในการจัดสรรงบประมาณรัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็น และความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม”

สำหรับด้านการสาธารณสุขก็มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 55 ซึ่งกำหนดว่า “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค และส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยบริการสาธารณสุขต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย ซึ่งรัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” จะเห็นได้ว่า การพัฒนาบริการสาธารณสุขเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนรวมทั้งผู้สูงอายุด้วย ประกอบกับมาตรา 56 ยังกำหนดให้ “รัฐต้องจัด หรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน…”

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการทอดทิ้งและความรุนแรงอันเกิดแก่ผู้สูงอายุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 307 ได้บัญญัติให้ “ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาต้องดูแลผู้ซึ่งพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะอายุ ความป่วย เจ็บ กายพิการหรือจิตพิการ ทอดทิ้งผู้ซึ่งต้องพึ่งตนเองไม่ได้เสีย โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 398 ได้บัญญัติให้ “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทารุณต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี คนป่วยหรือคนชรา ซึ่งต้องพึ่งผู้นั้นในการดำรงชีพหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหรือทั้งจำทั้งปรับ” ส่วนในกรณีที่ผู้สูงอายุถูกทำร้ายก็จะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อร่างกายในฐานต่าง ๆ อันได้แก่

  • มาตรา 295 ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
  • มาตรา 297 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส
  • มาตรา 390 ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
  • มาตรา 391 ความผิดฐานทำร้ายแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และความผิดต่อชีวิต ได้แก่
    • มาตรา 288 ความผิดฐานเจตนาฆ่า
    • มาตรา 290 ความผิดฐานทำร้ายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และ
    • มาตรา 291 ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

อีกทั้งในการคุ้มครองผู้สูงอายุจะมีบทบัญญัติในกฎหมายฉบับต่าง ๆ กำหนดไว้ ที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ซึ่งแต่ละฉบับมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมวด 1 สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ มาตรา 6 วรรคสอง กำหนดว่า “สุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่าง ๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสมด้วย”

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่คุ้มครองดูแลรับรองสิทธิของผู้สูงอายุ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 130 ก หน้า 1 วันที่ 31 ธันวาคม 2546 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นไป ผู้รักษาการ คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 24 มาตรา ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย “พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ซึ่งเหตุผลในการแก้ไขเพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 53 กำหนดให้บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ บทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สิทธิเรื่องเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมจากรัฐต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งโดย “พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560” ด้วยเหตุผลที่ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลจึงมีนโยบาย และมาตรการในการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยโดยการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ได้รับสวัสดิการที่จำเป็น แต่เนื่องจาก กองทุนผู้สูงอายุที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองการส่งเสริมและการสนับสนุนผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จึงได้เพิ่มบทบัญญัติเรื่องการจ่ายสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของเงินกองทุนเพื่อให้รวมถึงเงินบำรุงกองทุนที่ได้รับจากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต โดยให้เรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบ กำหนดให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจัดสรรเงินบำรุงกองทุน และเงินที่มีผู้บริจาคเข้ากองทุนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยสำหรับจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์ดังกล่าว กำหนดกรณีการได้รับการยกเว้น ลดหย่อน หรือคืนเงินบำรุงกองทุน และกรณีที่ต้องเสียเงินเพิ่ม รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษ และการเปรียบเทียบคดี และแก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

แนวปฏิบัติในการคุ้มครองผู้สูงอายุ

โดยที่กฎหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุได้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งประเด็นที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย เรื่องสิทธิของผู้สูงอายุที่ได้รับการคุ้มครอง กองทุนผู้สูงอายุ และการดูแลผู้สูงอายุ โดยแต่ละประเด็นจะมีแนวปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

  1. สิทธิของผู้สูงอายุที่ได้รับการคุ้มครอง ตามบทบัญญัติมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ดังนี้
    1. ด้านการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่จัดไว้โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ ในกรณีนี้จะมี “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขที่จัดไว้โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2548” ลงวันที่ 27 เดือนเมษายน พ.ศ.  2548 และ “ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่ได้จัดไว้โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ ในพ.ศ. 2554” ลงวันที่ 19 เดือนเมษายน พ.ศ. 2554 กำหนดให้หน่วยบริการรัฐในระดับโรงพยาบาลของรัฐ และหน่วยบริการรัฐในระดับโรงพยาบาลของกระทรวงกลาโหม ซึ่งแล้วแต่กรณี แต่ต้องให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ผู้สูงอายุ โดยควรจัดให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุควรแยกจากผู้รับบริการทั่วไปในแผนกผู้ป่วยนอก และรวมทั้งกำหนดขั้นตอนและครอบคลุมระยะเวลาในการให้บริการแก่ผู้สูงอายุโดยต้องปิดประกาศไว้ให้ชัดเจนและการประชาสัมพันธ์ในระหว่างให้บริการด้วย
    2. ด้านการศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต จะมี “ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม การสนับสนุนผู้สูงอายุในการศึกษา และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต” ลงวันที่ 28 กันยายน 2548 กำหนดให้จัด ให้มีการคุ้มครอง การส่งเสริม การสนับสนุน ให้ผู้สูงอายุได้รับการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้
      1. จัดบริการข้อมูลข่าวสารให้ครอบคลุมการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งการทำฐานข้อมูลทางการศึกษา การฝึกอบรม สำหรับผุ้สูงอายุ
      2. จัดบริการการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้แก่ผู้สูงอายุ
      3. สนับสนุนสื่อทุกประเภท ให้มีรายการสำหรับผู้สูงอายุ
      4. ส่งเสริมให้หน่วยงานสถานศึกษามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ
      5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนแก่ผู้สูงอายุ
      6. คุ้มครองการผลิตสื่อความรู้และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้สูงอายุ
      7. จัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับผู้สูงอายุในการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงอุดมศึกษา
      8. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตงานวิจัยเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ
    3. ด้านการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม จะมี “ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครองการส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุในการประกอบอาชีพและฝึกอาชีพที่เหมาะสม” ลงวันที่ 16 กันยายน 2547 กำหนดให้การคุ้มครองการส่งเสริมและการสนับสนุนการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุให้ดำเนินการ ดังนี้
      1. ให้สำนักงานจัดหางานทุกแห่งจัดให้มีเจ้าหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ตลาดแรงงาน และบริการจัดหางานที่ตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุ
      2. จัดอบรมทักษะอาชีพหรือฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุตามอัธยาศัย
      3. จัดให้มีศูนย์กลางข้อมูลทางการอาชีพและตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ ณ สำนักงานจัดหางานทุกแห่ง
      4. จัดหาอาชีพที่เหมาะสมตามควรแก่อัตภาพให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
    4. การพัฒนาตนองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน จะมี “ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครองการส่งเสริม และการสนับสนุนการพัฒนาตนเอง และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน” ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุในชุมชนให้สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง และให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ส่งเสริม สนับสนุนด้านความรู้ ความเข้าใจ การให้คำปรึกษา ตลอดจนทรัพยากรด้านบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์เพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาตนเองและการพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชนเข้มแข็งและสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง รวมทั้งให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประสานงาน ส่งเสริมและสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายงานด้านการพัฒนาตนเองและการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุในชุมชน ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ตลอดจนให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสรรหาและจัดทำทะเบียนผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสรรหาและจัดทำทะเบียนผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่สังคมต่อไป ทั้งนี้ ให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ จัดทำทะเบียนองค์การผู้สูงอายุและองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงอายุ เพื่อประโยชน์ในการประสานงานและสร้างเครือข่ายในทุกระดับด้วย
    5. การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่ยานพาหนะ หรือการบริการสาธารณะอื่น จะมี “กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา” ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2548 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้อาคารประเภทและลักษณะตามที่กำหนด อาทิ โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย อาคารที่ทำการของราชการ สถานศึกษา หอสมุด และพิพิธภัณฑ์สถานของรัฐ สถานีขนส่งมวลชน เช่น ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีรถ ท่าเทียบเรือ สำนักงาน โรงมหรสพ โรงแรม หอประชุม สนามกีฬา ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าประเภทต่าง ๆ ต้องจัดให้มีป้าย ทางลาดและลิฟต์ บันได ทางเข้าอาคาร ทางเดินระหว่างอาคาร และทางเชื่อมระหว่างอาคาร ประตูห้องส้วม และพื้นผิวต่างสัมผัสที่สามารถอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และเหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ
    6. การช่วยเหลือค่าโดยสารยานพาหนะตามความเหมาะสม ในกรณีนี้จะเห็นได้จากการกำหนดให้เก็บค่าโดยสารครึ่งราคา หรือโดยสารรถไฟฟ้า (BTS) หรือรถไฟใต้ดิน (MRT) ฟรีในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นต้น
    7. การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น กำหนดให้ยกเว้นค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแก่ผู้สูงอายุ
    8. การช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง จะมี “ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุน การช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง และการให้คำแนะนำปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว” ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2548 กำหนดให้ผู้สูงอายุหรือผู้พบเห็นสามารถยื่นคำร้องได้ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
    9. การให้คำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดีหรือในทางการแก้ปัญหาครอบครัว จะมี “ประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การให้คำแนะนำ ปรึกษา และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในทางคดีสำหรับผู้สูงอายุ พ.ศ. 2556” ลงวันที่ 29 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ได้กำหนดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการในการให้บริการผู้สูงอายุด้วยความสะดวกและรวดเร็วเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับการเผยแพร่และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายกำหนดให้แก่ผู้สูงอายุ และรวมทั้งการให้คำแนะนำ การปรึกษาทางกฎหมายและอรรถคดี ตลอดจนการรับเรื่องร้องทุกข์และการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ
    10. การจัดที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง จะมี “ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการจัดที่พักอาศัย อาหาร หรือเครื่องนุ่งห่ม ได้รับความช่วยเหลือตามวิธีการที่กำหนด โดยปัญหาเรื่องที่พักอาศัย ให้เข้ามารับบริการในศูนย์บริการผู้สูงอายุ หรือเข้ามาในความอุปการะของสถานสงเคราะห์คนชราหรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม ส่วนปัญหาเรื่องอาหารและหรือเครื่องนุ่งห่ม ให้พิจารณาช่วยเหลือเป็นเงินหรืออาหารและเครื่องนุ่งห่ม แล้วแต่กรณี ตามความจำเป็นและเหมาะสมไม่เกินวงเงินครั้งละ 2,000 บาท และจะช่วยได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อคนต่อปี โดยถือตามปีงบประมาณ ซึ่งสามารถยื่นคำร้องได้ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
    11. การจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเป็นรายเดือนแบบขั้นบันได โดยผู้สูงอายุ 60 – 69 ปี จะได้รับ 600 บาท อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับ 700 บาท อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
    12. การสงเคราะห์ในการจัดการตามประเพณี จะมี “ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุน การสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี” ลงวันที่ 10 กันยายน 2547 กำหนดให้มีการช่วยเหลือเป็นเงินในการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณีรายละ 2,000 บาท ซึ่งสามารถยื่นคำร้องได้ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
    13. การอื่นตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติประกาศกำหนด ในกรณีนี้จะมี “ประกาศกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุน ผู้สูงอายุในการจัดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกสถานที่ท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมกีฬาและนันทนาการ” ลงวันที่ 20 กันยายน 2547 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนส่งเสริมการจัดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกและให้สิทธิสำหรับผู้สูงอายุทุกคนในสถานที่ท่องเที่ยว หรือสนามกีฬา หรือสถานออกกำลังกายอื่น ๆ โดยดำเนินการกำหนดมาตรฐานการบริการและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุในสถานที่ท่องเที่ยว หรือสนามกีฬา หรือสถานออกกำลังกายอื่น ๆ รวมทั้งดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และลดอัตราค่าเข้าชมหรือการเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับผู้สูงอายุในสถานที่ท่องเที่ยว สนามกีฬา หรือสถานออกกำลังกาย
  2. กองทุนผู้สูงอายุ ตามบทบัญญัติมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 กำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุนผู้สูงอายุ” ขึ้นในสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุ เช่น ให้บริการกู้ยืมเงิน ทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ ประเภทรายบุคคล คนละไม่เกิน 30,000 บาท ประเภทรายกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 5 คน กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท และให้การสนับสนุนเงินอุดหนุนองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยโครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท โครงการขนาดกลาง วงเงินไม่เกิน 50,000 – 300,000 บาท และโครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกิน 300,000 บาทขึ้นไป นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนผู้สูงอายุมีสิทธินำไปลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ หรือได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับทรัพย์สินที่บริจาค รวมทั้งผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพมีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษี 30,000 บาท
  3. การดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจาก ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอนาคต จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ดูแล ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพ และปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้น การให้บริการช่วยเหลือ ดูแล ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาแก่ผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และหลักวิชาการอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มารับบริการได้ ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงดำเนินการโดยมีมาตรฐานมีการให้บริการโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ และผ่านการอบรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพตามศักยภาพของแต่ละบุคคลได้ จึงกำหนดให้ “กิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง” เป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุม และกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โดย “กฎกระทรวงกำหนดให้กิจการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2563” ได้มีการกำหนดความหมายของคำว่า “กิจการดูแลผู้สูงอายุและหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง” ว่ามีความหมายถึง กิจการที่ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแล การส่งเสริมผู้สูงอายุและหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง การฟื้นฟูสุขภาพ การประคับประคองผู้สูงอายุและหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งมีการให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตผู้สูงอายุและหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง วิธีการจัดกิจกรรมในระหว่างวันให้กับผู้สูงอายุและหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง การจัดสถานที่เพื่อพำนักอาศัยและสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการในสถานพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนดว่าด้วยสถานพยาบาล และได้แบ่งลักษณะการให้บริการออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
    1. การให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงระหว่างวัน ที่มีการจัดกิจกรรม การดูแลส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยไม่มีการพักค้างคืน
    2. การให้บริการดูแลผู้สูงอายุ ที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีที่พำนักอาศัย
    3. การให้บริการดูแลและประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่มีการจัดกิจกรรม การดูแล ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยมีการพักค้างคืน

โดยผู้ซึ่งประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในกิจการดังกล่าว อยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ซึ่งประสงค์จะประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงต้องยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการ คำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ หรือคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการต่อผู้อนุญาตภายใน 180 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาต หรือคำขอขึ้นทะเบียนแล้วให้ประกอบกิจการดำเนินการ หรือการให้บริการต่อไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่รับขึ้นทะเบียนจากผู้อนุญาต แล้วแต่กรณี

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันมีกิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เช่น เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือโรงพยาบาลผู้สูงอายุ ประมาณ 3,000 แห่ง ซึ่งทุกแห่งต้องได้มาตรฐาน ทั้งด้านสถานที่ การบริการ และความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบกิจการต้องขออนุญาตก่อน ส่วนผู้ดำเนินการต้องผ่านการอบรม ผ่านการสอบและมีใบอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) รวมทั้งผู้ให้บริการหรือพนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุต้องผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพรับรอง และได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการก่อนจึงจะปฏิบัติงานได้ ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต ผู้ประกอบการจะมีความผิดฐานเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ดำเนินการหากทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท การกำหนดให้กิจการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกิจการที่ต้องได้รับการดูแลมาตรฐานภายในพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะส่งเสริมให้สถานประกอบการมีคุณภาพ มาตรฐาน และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนระบบการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยให้เป็นที่ยอมรับ มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันในระดับอาเซียนและระดับโลกได้ต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการและพนักงานผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รวมทั้งขอใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ ที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรทรวงสาธารณสุข

ทิศทางอนาคตของการคุ้มครองผู้สูงอายุ

เนื่องจาก ปัจจุบันยังมีปัญหาเกี่ยวกับ “เบี้ยยังชีพ” ของผู้สูงอายุ ซึ่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11 (11) กำหนดให้ผู้สูงอายุหรือบุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิได้รับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และในมาตรา 12 กำหนดให้การเรียกร้องสิทธิหรือการได้มาซึ่งสิทธิของผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับตามกฎหมายอื่น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติการจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุจะมี “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินยังชีพประการหนึ่งว่าจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากรัฐ เช่น ผู้รับบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่ต้องถูกเรียกเงินคืน และเป็นระเบียบที่ออกมาขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุดังกล่าว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพิจารณาเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นพบข้อมูลว่า จะดำเนินการเปลี่ยนชื่อกฎหมาย จากพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็น “ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. ….” รวมทั้งปรับปรุงวิธีการจ่ายและอัตราการจ่ายเงิน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุมากขึ้น โดยคาดว่า จะใช้อัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนหรือตามระดับรายได้ซึ่งถือว่า เพียงพอแก่การดำรงชีพตามจำนวนที่กำหนดไว้มาจ่ายให้แก่ผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ การรับสวัสดิการจากรัฐของผู้สูงอายุตามกฎหมายอื่นที่มีการจ่ายในทำนองเดียวกันกับเงินบำนาญพื้นฐานนั้น โดยทั่วไปจะเลือกรับสิทธิเพียงทางเดียว เว้นแต่สิทธิการรับเบี้ยความพิการสิทธิการรับบำนาญชราภาพจากองทุนประกันสังคม และสิทธิการรับบำนาญจากกองทุนการออมแห่งชาติที่จะสามารถรับสิทธิไปพร้อมกับเงินบำนาญพื้นฐานได้ อย่างไรก็ดี มีการศึกษาวิจัยที่เสนอให้มีการปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานทุก 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ส่วนแหล่งงบประมาณที่จะนำมาจ่ายจะมีที่มาจากหลายแหล่ง เช่น งบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดิมที่ถูกตั้งงบประมาณไว้ในทุกปีงบประมาณ และเงินจากกองทุนผู้สูงอายุซึ่งมีการเปิดช่องทางรับเงินเข้ากองทุนผู้สูงอายุในหลายช่องทางเพิ่มมากขึ้น เช่น เงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิต ส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบ รายได้จากการออกสลากตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เงินบำรุงที่ได้จากค่าส่วนแบ่งสัมปทาน หรือการอนุญาตในกิจการสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม ค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ค่าเงินบำรุงจากภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เงินบำรุงที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เงินบำรุงที่ได้จากภาษีเงินได้ที่ว่าด้วยส่งเสริมการลงทุนและเงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้จากค่าสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม เป็นต้น จากข้อมูลดังได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายรวมถึงนโยบายและแนวปฏิบัติที่ให้การรับรองคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุไว้อย่างชัดเจนและมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแล้ว “ผู้สูงอายุ” โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยย่อมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *