ความหลากหลายทางเพศในประวัติศาสตร์

ในสังคมไทยความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงนั้นมีมาช้านานแล้ว ดังเช่นที่ปรากฏหลักต่าง ๆ ทั้งในกฎมณเฑียรบาลมาตรา 124 ตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง[1] ซึ่งระบุไว้ในความผิดนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “อนึ่งสนมกำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกันทำดุลชายเป็นชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง 50 ทีสักคอประจานรอบพระราชวัง ทีหนึ่งให้เอาไว้เป็นชาวสลึง ที่หนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกหลานเธอ” หรือในภาพจิตกรรมฝาผนังอายุกว่าร้อยปีที่วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งสันนิษฐานว่า มาจากการทำความผิดฐานมีพฤติกรรมเล่นเพื่อน

อย่างไรก็ตาม ในภาษาไทยไม่เคยมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกแทนบุคคลที่รักเพศเดียวกันทั้งหญิงและชาย โดยตรงแม้แต่คำเดียว นอกจากคำว่า “กะเทย” ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นคำศัพท์เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัตนโกสินทร์ ในบทที่ระบุว่า ผู้ชายที่ผิดเมียคนอื่น หลักจากตกนรก แล้วจะไปเกิดเป็นกะเทยห้าร้อยชาติ[2] แต่สำหรับในไทยเอง คำที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีนัยพาดพึงถึงตัวตนของผู้หญิงรักเพศกันดูจะมีเพียงคำว่า “เล่นเพื่อน” เพียงคำเดียว หากก็เป็นคำกริยาที่ไม่ใช่เรียกแทนบุคคลแต่อย่างใด โดยจะเข้าใจตรงกันว่า คือ อาการแสดงความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงด้วยกัน

กลุ่มคนรักเพศเดียวกันปรากฏบันทึกหลักฐานในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เรื่อยมาจนปัจจุบัน ปัญหาในความไม่เท่าเทียมที่กลุ่มคนรักเพศเดียวกันได้รับในไทยมีมานานพอ ๆ กัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าด้วยความผิดที่กระทำอนาจาร หมวดที่ 1 ความผิดฐานกระทำอนาจารเกี่ยวกับสาธารณะ มาตรา 124 กล่าวว่า “ผู้ใดกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดีหรือกระทำชำเราด้วยสัตว์เดียรัจฉานก็ดี ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษติดคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป จนถึง 3 ปี และให้ปรับตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปถึง 500 บาท”[3] บทลงโทษดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยมองว่า พฤติกรรมรักเพศเดียวกันเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหา จึงมีการตรากฎหมายและบทลงโทษเพื่อเข้าควบคุม

กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน พบได้ในหลากหลายอารยธรรมในอดีต เช่น กรีก มีความเชื่อว่า เด็กผู้ชายต้องร่วมเพศและดื่มน้ำกามของผู้ใหญ่ก่อน ถึงจะได้รับการยอมรับว่า เป็นหนุ่มเต็มตัว โดยบิดาของเด็กต้องเป็นคนเลือกด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความรักต่อบุรุษด้วยกัน ในสมัยกรีกเป็นไปอย่างเปิดเผยและเป็นความสัมพันธ์ที่ประเสริฐ และแนวโน้มความเป็นชายรักเพศเดียวนั้นเพิ่ม และยังส่งอิทธิพลต่อมาถึงอาณาจักรโรมันด้วย เช่นเดียวกับชนเผ่าอินเดียแดงก่อนการล่าอาณานิคม เด็กชายที่มีความชอบเป็นหญิง จะถูกเชื่อถือในพลังอำนาจว่า สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ เพราะจะถูกเข้าใจว่า เป็นบุคคลสองวิญญาณ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวยังถูกพบในอียิปต์ เปอเซียร์ และที่อื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามความปลอดภัยด้านเสรีภาพทางเพศดังกล่าวเข้าสู่มืดทันทีเมื่อถึงยุคเรืองอำนาจของคริสตจักรมีการโหมกระพือความหวาดกลัวกลุ่มรักเพศเดียวกัน จนสะพรัดกระจายไปรวดเร็ว มีการออกกฎหมายห้ามแต่งงานในเพศเดียวกัน และมีบทลงโทษต่อพวกรักร่วมเพศรุนแรงเท่ากับการล่าแม่มด นั่น คือ เผาทั้งต่อหน้าฝูงชน ในยุคนี้เรียกได้ว่า กลุ่มคนรักเพศเดียวกันไม่มีบทบาท ไม่กล้าเปิดเผย เก็บตัว ปิดบังเพศสภาพของตน เรียกได้ว่า เป็นยุคมืดของบุคคลรักเพศเดียวกันทีเดียว แต่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลทำให้ความเป็นคนรักเพศได้รับการยอมรับมากขึ้น ความคิดแบบเสรีนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับมากขึ้น ความคิดแบบเสรีนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนรักเพศเดียวกันมีการรวมตัวกันอีกครั้งในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน จุดหักเหที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นในปี 1917 หลังจากการปฏิวัติรัสเซีย พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศว่า กลุ่มรักเพศเดียวกันไม่มีอันตรายต่อสังคมและเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยมีนักคิดหัวเสรีนิยม หัวก้าวหน้าเกิดขึ้นมากมาย หลายประเทศพัฒนาเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย ในยุคนี้ถือเป็นยุครุ่งเรืองของรักเพศเดียวกัน

ประวัติศาสตร์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีตัวตนมาตลอดประวัติศาสตร์โลก และมีบทบาทแตกต่างกันตามแต่บริบททางสังคม ทัศนคติของสังคมต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละทวีปและแต่ละประเทศจากอดีตมาถึงปัจจุบันบ้างก็เห็นด้วย และต้องการให้มนุษย์ทุกคนมีความสัมพันธ์เฉพาะกับเพศเดียวกัน บ้างก็ตีตราว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นแค่ความสัมพันธ์ชั่วคราวและไม่ยั่งยืน บ้างคิดว่า ความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีเพศเดียวกันถือเป็นบาท บ้างก็ต้องการให้มีกฎหมายและการลงโทษสำหรับความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ บ้างก็ต้องการให้ศาลตัดสินประหารชีวิตคนรักเพศเดียวกัน เพราะถูกมองว่า เป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสังคม


[1] สุไรพร ชลวิไลอ้างในสุพจน์ แจ้งเร็ว, 2539. นางนพมาศ : เรื่องจริง หรืออิงนิยาย ในไม่มีนางนพมาศ ไม่มีวันลอยกระทงสมัยสุโขทัย. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศิลปศาสตร์วัฒนธรรม.

[2] สุไรพร ชลวิไล อ้างใน Jackson, P.A. (1997). Male Homosexuality in Thailand: An interpretation of contemporary Thai sources. New York: Global Academic Published.

[3] ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่, 2551

[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ความไม่เท่าเทียมในสิทธิกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ. โดยสิริวิมล พยัฆษี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *