ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูแลร่างกายมีทั้งการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า

สาระสำคัญของการทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต

โดยทั่วไปเมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ผู้ป่วยก็จะไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้หายหรือทุเลาจากความเจ็บป่วยนั้น ๆ แต่ในบางกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่อาจรักษาให้ปกคติได้ และอาการของโรคได้ดำเนินมาถึงขั้นสุดท้ายแล้ว การใช้เครื่องมือต่าง ๆ จากเทคโนโลยีมาเหนี่ยวรั้งเพื่อยืดความตาย ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานก่อนจากไป และต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะเช่นนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่ไม่รู้สึกตัว การตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องของแพทย์กับญาติ จุดนี้เองก่อให้เกิดปัญหาอย่างมาก บางครั้งการตัดสินใจที่สวนทางกับความเป็นจริง ทำให้ความหวังดีเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยจากไปด้วยความไม่สงบ

ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่แนวคิดในเรื่อง Living Will คือ ให้มีการแสดงความจำนงไว้ล่วงหน้าได้ หรือบางครั้งเรียกว่า “Advance directives” คือ การระบุความประสงค์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งในหลายประเทศมีกฎหมายรับรองในเรื่องนี้

สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายออกมารับรองแล้วในการแสดงเจตนาดังกล่าว โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ดังนี้

มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่า การกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองให้บุคคลสามารถแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าได้ว่า ขออย่าได้ยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต กล่าวคือ หากเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่รักษาให้หายได้ก็รักษากันไป แต่หากรักษาไม่ได้และอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ขอจากไปอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติ แต่หากรักษาไม่ได้และอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ขอจากไปอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติ โดยไม่ต้องการให้เจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ หรือใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ มาช่วยยืดความตายออกไป ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น แต่อย่างใดรวมทั้งผู้ที่เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุและมีชีวิตอยู่อย่างไรไม่รู้สึกตัว ที่เรียกว่า เป็นเจ้าชายนิทราหรืออยู่เสมือนเป็นผักก็สามารถแสดงเจตนาล่วงหน้าได้ว่า ถ้าเกิดเป็นเช่นนั้นก็ขอจากไปตามธรรมชาติ ให้รักษาไปตามอาการและเมื่อถึงคราวต้องจากไปก็ขอจากไปตามธรรมชาติ โดยไม่ประสงค์ให้ใช้เครื่องมือต่าง ๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ดังกล่าวมายืดความตาย

ข้อที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก็คือว่า การทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าในลักษณะนี้ มิใช่เรื่องของการฆ่าตัวตาย มิใช่เรื่องเร่งการตายเป็นการการุณยฆาต (Mercy killing) แต่เป็นเรื่องที่ขอตายตามธรรมชาติ โดยที่แพทย์ยังคงให้การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือ ดูแลอาการ ให้ยาบรรเทาปวด ดูแลทางด้านจิตใจเพื่อให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักศาสนา

การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิตนี้ บุคคลสามารถทำที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์ม (หากต้องการสามารถดูตัวอย่างได้ในเว็บไซต์ https://www.thailivingwill.in.th/ แต่ควรที่จะระบุให้ชัดเจนพอที่แพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติได้ตามความประสงค์ เช่น ระบุชื่อนามสกุลของผู้ทำหนังสือฯ เลขประจำตัวประชาชน วันเดือน ปีที่ทำหนังสือแสดงเจตนา ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ต้องการและไม่ต้องการ จะได้รับในวาระสุดท้าย อาจระบุชื่อของบุคคลใกล้ชิดที่รู้ใจและต้องการให้ช่วยตัดสินใจแทนตนเอง (เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารด้วยตนเองได้แล้ว) และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ด้วย

การทำหนังสือแสดงเจตนามี 2 รูปแบบ คือ

  1. ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาหรือผู้ป่วย เขียนหรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนาด้วยตัวเอง
  2. การแสดงเจตนาด้วยวาจาต่อแพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษา ญาติ หรือผู้ใกล้ชิดในกรณีที่ผู้นั้นไม่รู้หนังสือ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้เอง หรือหากต้องการให้ผู้อื่นช่วยเขียนแทนหรือพิมพ์ข้อความก็สามารถทำได้ และควรมีชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์หนังสือแสดงเจตนาหรือพยานกำกับไว้ด้วย

ทั้งนี้ หนังสือแสดงเจตนาสามารถที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ระงับใช้ชั่วคราว และหรือยกเลิกได้ตลอดเวลาตามที่ผู้ทำหนังสือต้องการ แต่ก็ควรแจ้งให้แพทย์ ญาติ หรือบุคคลที่เคยได้รับหนังสือแสดงเจตนาไปก่อนหน้านี้ทราบแต่โดยเร็ว

ข้อดีในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาของผู้ป่วยในวาระสุดท้าย

  1. ผู้ป่วยสามารถแสดงความประสงค์หรือความต้องการไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ตนปรารถนาหรือไม่ปรารถนา ในเวลาที่ตนไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ รวมทั้งความต้องการที่จะเสียชีวิตที่บ้าน หรือต้องการอยู่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัว ญาติมิตรคนใกล้ชิด
  2. ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายช่วยบรรเทาความทรมานทางกายที่เกิดจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
  3. ผู้ป่วยไม่ต้องทนทรมานจากการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เช่น การเจาะคอเพื่อใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือการปั๊มหัวใจ เมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาพร่างกายอ่อนแอ หรือเป็นผู้สูงอายุแล้ว
  4. ช่วยลดความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันของญาติเกี่ยวกับวิธีการรักษาผู้ป่วยเพราะผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาสามารถแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แสดงเจตนาแทกหรือตัดสินใจแทนผู้ป่วยได้
  5. ลดความกังวลของแพทย์ พยาบาลในการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าวคือ ไม่ต้องห่วงว่าการรักษาจะไม่ได้ผลหรือไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเป็นภาวะของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและเป็นความประสงค์ของผู้ป่วย
  6. ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็นไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานหรือคนในครอบครัว รวมทั้งระบบบริการสาธารณสุขโดยรวมที่ยังมีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมาก

การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต รวมถึงการรักษาแบบประคับประคอง ถือเป็นการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วย และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งเป็นการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความพลัดพรากและความทุกข์โศกไปได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *