ภรรยาจะมีสิทธิอะไรบ้างตามกฎหมายในกรณีถูกสามีทิ้ง

ถ้าจดทะเบียนสมรสกัน ภรรยาสามารถขอให้จดทะเบียนหย่าและแบ่งสินสมได้ จึงต้องพิจารณาว่า “สินสมรส” คืออะไร ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 1474 “สินสมรส” ได้แก่ ทรัพย์สิน (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่า เป็น “สินสมรส” (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว และตามมาตรา 1471 กำหนดว่า “สินส่วนตัว” ได้แก่ ทรัพย์สิน (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา (4) ที่เป็นของหมั้น

การหย่าอาจทำได้โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยการฟ้องหย่าและศาลมีคำพิพากษาตามมาตรา 1514

ถ้าจดทะเบียนสมรสแล้วมีลูกด้วยกัน คู่กรณีตกลงเลี้ยงลูกกันเองได้เลย ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องไปฟ้องให้ศาลตัดสิน

ถ้าจดทะเบียนสมรสแล้วภรรยาโดนสามีทิ้งเพราะมีผู้หญิงอื่น ภรรยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีและหญิงอื่นนั้นได้ตามมาตรา 1523 และ 1516 (1) และมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ตามมาตรา 1522 และ 1598/40 วรรค 2 นอกจากนี้ ยังเรียกค่าเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาได้ตามมาตรา 1598/38

ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส ภรรยาขอแบ่งทรัพย์สินที่หามาด้วยกันได้คนละครึ่ง ถ้าจดทะเบียนสินสมรสแบ่งคนละครึ่ง และต้องรับผิดชอบหนี้สินตามส่วนเท่ากัน โดยสันนิษฐานว่า เจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357 ซึ่งการลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกันโดยหลักการแล้ว หมายถึง การที่ชายและหญิงร่วมกันทำการค้าหรือดำเนินกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจงแล้วได้เงินหรือทรัพย์สินมา เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวจึงจะถือว่า ชายและหญิงเป็นเจ้าของร่วมกันในส่วนเท่ากัน

ส่วนกรณีที่มีการฟ้องให้พิสูจน์เพียงว่า เป็นบุตรหรือไม่นั้นในศาลสามารถทำได้เป็นการฟ้องให้ศาลสั่งว่า เป็นบุตรที่บิดารับรองเป็นบุตรตามกฎหมาย โดยในกระบวนพิจารณาคดี ก็อาจขอศาลให้เจาะเลือดพิสูจน์ DNA ว่าเป็นบุตรหรือไม่แต่ถ้าบิดา มารดา บุตร ฝ่ายใดไม่ยินยอมให้ตรวจพิสูจน์ ศาลจะบังคับไม่ได้ บุตรต้องนำสืบในพฤติการณ์ที่ผ่านมาในอดีตให้เข้าข้อกฎหมายว่า บิดารับรองว่า เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

เรื่องสินสอด ของหมั้น ไม่ต้องคืนแก่ชาย เพราะว่า ได้มีการสมรสแล้ว และไม่ได้มีการผิดสัญญาหมั้น[1]


[1] ขอขอบคุณบทความ ภรรยามีสิทธิอะไรบ้างตามกฎหมายในกรณีถูกสามีทิ้ง โดยกันทร กฤตรัชตนันต์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *