การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค

ฉัตรเมือง เผ่ามานะเจริญ (2562) ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมการเลือกซื้อเครื่องสำอางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้บริโภคในเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร พบว่า พฤติกรรมการเลือกซื้อเครื่องสำอางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกซื้อเครื่องสำอางประเภทลิปสติกและครีมบำรุงหน้า โดยมีสาเหตุในการเลือกซื้อเพราะบริการจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอาง ได้แก่ เพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน ความถี่ในการซื้อเครื่องสำอางไม่แน่นอน ค่าใช้จ่ายที่ซื้อเครื่องสำอางต่อครั้งน้อยกว่า 1,000 บาท และเลือกซื้อเครื่องสำอางเพราะต้องการใช้เอง ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญระดับมากที่สุด คือ เครื่องสำอางมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ปัจจัยด้านราคาที่มีความสำคัญระดับมากที่สุด คือ เครื่องสำอางมีราคาเหมาะสมกับคุณภาพ ปัจจัยด้านการจัดจำหน่ายที่มีความสำคัญระดับมากที่สุด คือ ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้ดี ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาดที่มีความสำคัญระดับมากที่สุด คือ การให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ[i]

พรเทพ ทิพยพรกุล (2559) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกซื้อเครื่องสำอางในระบบออนไลน์ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า พฤติกรรมการเลือกซื้อเครื่องสำอางในระบบออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกซื้อเพราะบริการจัดส่งถึงที่ บุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอาง ได้แก่ ตนเอง ความถี่ในการซื้อเครื่องสำอางไม่แน่นอน ราคาที่ซื้อเฉลี่ย 1,000 – 2,000 บาท และเลือกซื้อด้วยเหตุผลในการใช้เอง ปัจจัยทางประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ รายได้ที่มีความแตกต่างกันมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ[ii]

วัชราภรณ์ ตั้งประดิษฐ์ (2560) ศึกษาเรื่อง รูปแบบคุณค่าตราสินค้าที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในประเทศไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 25 – 29 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ทุกคนใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าทุกวันสม่ำเสมอ เพื่อ 1) ดูแลและบำรุงผิวให้ดีขึ้น 2) ปกป้องและป้องกันผิว 3) แก้ไขและบำบัดปัญหาผิวที่มี และ 4) ด้วยเหตุผลของทุกข้อรวมกัน โดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าจากแหล่งจำหน่ายซูเปอร์มาร์เก็ตหรือไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1,001 – 2,000 บาท ซึ่งจะหาข้อมูลหรือคำแนะนำในการซื้อเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าด้วยตนเอง[iii]

พฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 26 – 30 ปี ประกอบอาชีพพนักงานหรือลูกจ้างบริษัทเอกชน มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 35,001 – 40,000 บาท มีค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3,001 – 4,000 บาท และส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูป ติ๊กต๊อก[iv]

องค์ประกอบมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า (Behavior) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ยกเว้นส่วนประสมทางการตลาดด้านการจัดจำหน่ายและคุณค่าตราสินค้า ด้านสินทรัพย์ของตราสินค้าในกรรมสิทธิ์อื่นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร พบว่า ตัวแปรอิสระทุกตัวมีความสัมพันธ์ทางบวกหรือมีการแปรค่าไปในทิศทางเดียวกับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า ซึ่งขนาดของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรดังกล่าวกับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้ามีรายละเอียด[v] ดังนี้

  1. ตัวแปรที่มีขนาดความสัมพันธ์อยู่ในระดับน้อย ได้แก่ การส่งเสริมการตลาด การตระหนักรู้ในตราสินค้า ความภักดีต่อตราสินค้าและการรับรู้ในคุณภาพตราสินค้า
  2. ตัวแปรที่มีขนาดความสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ราคาและความเชื่อมโยงกับตราสินค้า

สื่อ ณ จุดขาย มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร[vi] พบว่า

  1. สื่อ ณ จุดขาย ด้านป้ายโฆษณาแบบห้อย มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ในข้อท่านมักจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน โดยไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า และในข้อท่านรู้สึกตื่นเต้นเวลาที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจากการจัดให้มีป้ายโฆษณาแบบห้อยเป็นสิ่งที่กระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดดเด่น มีความเคลื่อนไหว ดึงดูดให้ผู้บริโภคหันไปมอง และทำให้ผู้บริโภคสามารถมองเห็นได้จากระยะไกล จึงเกิดเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลันอยู่เสมอ และนอกจากนี้ ยังทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นเต้นที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรกอีกด้วย
  2. สื่อ ณ จุดขาย ด้านป้ายโฆษณาล้อมกอง มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ในข้อท่านมักจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน โดยไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า ในข้อท่านรู้สึกตื่นเต้นเวลาที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก และในข้อท่านรู้สึกเพลิดเพลินเวลาที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจาก ป้ายโฆษณาล้อมกอง เป็นสิ่งที่กระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีจากตำแหน่งในการวางที่โดดเด่น ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย เนื่องจาก อยู่ในพื้นที่ทางเดิน ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า เป็นสินค้าราคาพิเศษ จึงเกิดเป็นสิ่งกระตุ้นในผู้บริโภคเกิดการจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลันอยู่เสมอ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นเต้นที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก และรู้สึกเพลิดเพลิน เนื่องจาก ถูกจัดวางไว้ในจุดที่เดินผ่าน จึงมีความสะดวกสบายและไม่ต้องใช้ความพยายามในการค้นหาสินค้า ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่า เป็นสินค้าที่มีความพิเศษ เนื่องจากไม่ได้จัดอยู่ในชั้นวางสินค้าแบบปกติ
  3. สื่อ ณ จุดขาย ได้แก่ ด้านการจัดวางสินค้า มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ในข้อท่านมีความรู้สึกเพลิดเพลินเวลาที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจาก การจัดวางสินค้าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถมองเห็นสินค้าได้ชัดเจน การจัดวางสินค้าทำให้ลูกค้าสามารถค้นหาและหยิบสินค้าที่ต้องการได้สะดวก จึงมีผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน เกี่ยวกับความรู้สึกเพลิดเพลินเวลาได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก

[i] ฉัตรเมือง เผ่ามานะเจริญ. (2562). พฤติกรรมการเลือกซื้อเครื่องสำอางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้บริโภคในเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

[ii] พรเทพ ทิพยพรกุล. (2559). ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกซื้อเครื่องสำอางในระบบออนไลน์ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

[iii] วัชราภรณ์ ตั้งประดิษฐ์. (2560). การสร้างคุณค่าตราสินค้าผ่านบุคลิกภาพตราสินค้า ภาพลักษณ์ตราสินค้าที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต. มหาวิทยาลัยสยาม.

[iv] ชัจจ์ชัย บุญฤดี. (2563). ส่วนประสมทางการตลาดและคุณค่าตราสินค้าที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าของผู้บริโภค. วิทยานิพนธ์ปริญญาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

[v] ชัจจ์ชัย บุญฤดี. (2563). ส่วนประสมทางการตลาดและคุณค่าตราสินค้าที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าของผู้บริโภค. วิทยานิพนธ์ปริญญาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

[vi] ปานรวี ธนกิจรุ่งทวี และสุพาดา สิริกุตตา. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร http://kowdum.com/article/fileattachs/27072021114039_f_0.pdf

One Comment

  1. azerlotereya klassik loto yoxla

    Thank you very much for detailed information

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *