กฎหมายอื่น ๆ ที่ผู้สูงอายุควรรู้

การเตรียมตัวเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ย่อมถือได้ว่า เป็นความไม่ประมาท ประการหนึ่ง ซึ่งเรื่องใหญ่ ๆ ที่ผู้สูงอายุควรจะได้ดำเนินการก็คือ การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีอยู่และการดูแลร่างกาย ตลอดจนการแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิตที่จะขอจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ โดยไม่ประสงค์จะให้ใช้เครื่องมือจากเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเหนี่ยวรั้งชีวิตไว้เพียงเพื่อยืดความตายออกไป ซึ่งเรียกว่า การทำ Living will หรือ Advance directives

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน

  1. การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน อาจจะเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุน แต่ก็ต้องระมัดระวังให้มาก หากไม่มีประสบการณ์ก็มีโอกาสสูญเสียทรัพย์ได้ การฝากธนาคารที่เชื่อถือได้แม้จะมีดอกเบี้ยไม่มากแต่ก็มีความมั่นคงกว่า
  2. ในกรณีที่จะมอบหรือโอนทรัพย์สินนั้น ๆ แก่ผู้อื่นจะทำอย่างไร ในทางกฎหมายหากเป็นสังหาริมทรัพย์สามารถดำเนินการได้โดยการส่งมอบ แต่หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านที่ดินจะต้องทำการโอนเพื่อเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียน โดยเสียค่าธรรมเนียมตามราคาที่ประเมิน
    • การโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์นี้ ผู้โอนอาจสงวนสิทธิเก็บกินไว้ก็ได้ เช่น จะเก็บค่าเช่าไปก่อนจนกว่าจะเสียชีวิต เป็นต้น
  3. แต่หากมิได้มีการดอนในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินนั้นก็จะตกไปยังทายาท ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เรียงลำดับทายาทและหลักเกณฑ์ไว้
  4. ในกรณีที่ได้ทำพินัยกรรมไว้ บุคคลที่ผู้ทำพินัยกรรมได้ระบุชื่อไว้เท่านั้นที่มีสิทธิได้รับมรดก โดยไม่ต้องพิจารณาลำดับทายาทโดยธรรมอีก
    • ตัวอย่างการยกที่ดินและบ้านให้แก่บุตรหลาน
      • ประเด็นที่สำคัญของการยกที่ดินและบ้าน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้สูงอายุให้แก่บุตรหลานนั้น ควรยกให้ระหว่างผู้สูงอายุยังมีชีวิตอยู่ เพื่อตัดปัญหากรณีพิพาทที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทายาทและอาจเป็นผลให้ผู้ที่ควรได้รับมรดกตามความปรารถนาของผู้ยกให้เสียสิทธิจากกรณีพิพาทหรือความไม่สมบูรณ์ของพินัยกรรม ทั้งนี้ ควรจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่ตนเองและคู่สมรส (ถ้าคู่สมรสยังมีชีวิตอยู่) ไว้ตลอดชีวิตด้วย เพื่อยังคงสิทธิในการอยู่อาศัย นำออกให้เช่า หรือหาผลประโยชน์จากทรัพย์นั้นจนตลอดชีวิตของตนได้ โดยลูกหลานซึ่งอาจรวมถึงเขยสะใภ้ไม่อาจขับไล่ หรือบีบบังคับให้ผู้สูงอายุต้องออกไปจากที่ดินและบ้านที่ได้ยกให้บุตรหลานหรือบุคคลอื่นไปแล้ว ในกรณีที่ไม่มีความประสงค์จะใช้สิทธิเก็บกินต่อไปแล้ว ก็สามารถไปจดทะเบียนยกเลิกสิทธิเก็บกินดังกล่าวได้
  5. การทำสัญญาค้ำประกัน ไม่แนะนให้ผู้สูงอายุทำสัญญาค้ำประกันแก่บุคคลที่ไม่ใช่บุตรหลานของตนเอง และในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้การค้ำประกันควรจำกัดขอบเขตด้วยจำนวนเงินหรือกำหนดเวลาไว้ในสัญญา เช่น ยินยอมเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเงินกู้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับวงเงินที่เกินกว่านี้ให้ลูกหนี้ไปหาผู้ค้ำประกันรายอื่นเป็นผู้ค้ำประกันร่วมให้แก่เจ้าหนี้ หรืออาจยินยอมเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาซื้อรถจักรยายนต์ เงินผ่อนมีกำหนดเวลาไม่เกิน 12 เดือน ถ้าเกินกว่านี้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความผิด เป็นต้น

การทำพินัยกรรมและความสามารถในการทำพินัยกรรม

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และมาตรา 1647 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรม ไว้ดังนี้

  • มาตรา 1646 บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้
  • มาตรา 1647 การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้น ย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม

จากบทบัญญัติดังกล่าว ความหมายของพินัยกรรมก็คือ คำสั่งของผู้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ ของผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งจะมีผลบังคับตามกฎหมายเมื่อบุคคลนั้นตายไปแล้ว

สำหรับบุคคลที่จะทำพินัยกรรมได้นั้น กฎหมายจำกัดความสามารถของบุคคลที่จะทำพินัยกรรมไว้ กล่าวคือ หากผู้นั้นเป็นผู้เยาว์ อายุไม่ครบสิหาปีบริบูรณ์ หรือเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนจริตวิกลในเวลาที่ทำพินัยกรรม พินัยกรรมที่ทำขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1703 และ 1704)

ในการทำพินัยกรรมนั้น ต้องระบุผู้รับพินัยกรรมไว้โดยชัดเจนโดยผู้รับพินัยกรรมอาจะเป็นญาติพี่น้อง หรือบุคคลใดก็ได้ ถ้าเป็นหน่วยงานจะต้องมีลักษณะเป็นนิติบุคคล

ข้อจำกัดเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้กับผู้ใดกฎหมายกำหนดข้อกำจัดไว้ในมาตรา 1652 , 1653 ดังนี้

  • มาตรา 1652 บุคคลผู้อยู่ในความปกครองนั้น จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ปกครองหรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้จนกว่าผู้ปกครองจะได้ทำคำแถลงการณ์ปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1577 และมาตราต่อ ๆ ไป แห่งประมวลกฎหมายนี้เสร็จสิ้นแล้ว
  • มาตรา 1653 ผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้ ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความแห่งพินัยกรรมที่พยานนำมาแจ้งตาม มาตรา 1663 ให้ถือว่า เป็นผู้เขียนพินัยกรรมตามความหมายแห่งมาตรานี้

สำหรับแบบของพินัยกรรมนั้นกฎหมายได้ระบุไว้หลายแบบ แต่ละแบบที่นิยมทำกันก็คือ

พินัยกรรมที่เขียนเองทั้งฉบับ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความในพินัยกรรมทั้งฉบับด้วยลายมือของตนเอง
  • ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม
  • ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ไว้ในพินัยกรรมนั้น จะลงลายพิมพ์นิ้วมือไม่ได้
  • มีข้อที่น่าสังเกตว่า พินัยกรรมแบบนี้ไม่ต้องมีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมแต่อย่างใด

พินัยกรรมแบบที่ไม่ได้เขียนเองหรือที่เรียกว่าแบบธรรมดา มีรายละเอียดดังนี้

  • ต้องทำเป็นหนังสือ จะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้
  • ต้องลง วัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น
  • มีพยานอย่างน้อยสองคน
  • ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานในพินัยกรรมอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน กล่าวคือ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อในพินัยกรรมนั้น พยานอย่างน้อยสองคนต้องได้อยู่รู้เห็นด้วย
  • พยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น สำหรับบุคคลที่จะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้นั้น กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้
    • ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
    • บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
    • บุคคลที่หูหนวกเป็นใบ้หรือตาบอดทั้งสองข้าง

พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง

โดยข้อความในพินัยกรรมก็เป็นข้อความเช่นเดียวกับพินัยกรรม 2 แบบข้างต้นนั้น เพียงแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งความประสงค์ที่จะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทราบ

การทำพินัยกรรมประเภทนี้ ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะเป็นผู้จดแจ้งข้อความตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม เรียบร้อยแล้ว จะอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง เมื่อผุ้ทำพินัยกรรมเห็นว่าถูกต้องแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมและพยานก็จะลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ หากมีการขีดฆ่า ขูดลบ ตกเติม แก้ไข ผู้ทำพินัยกรรมพยาน ผู้อำนวยการเขต ก็ต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้าด้วยเช่นกัน ต่อจากนั้นผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนี้ ผู้ทำพินัยกรรมจะเสียค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 60 บาท และผู้อำนวยการเขตจะเก็บรักษาต้นฉบับไว้ที่ที่ว่าการเขตหรือที่ว่าการอำเภอ โดยออกใบรับพินัยกรรมระบุชื่อผู้มีสิทธิรับพินัยกรรมไปดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม

ในกรณีที่ไม่มีการทำพินัยกรรมไว้ หากเจ้าของมรดกถึงแก่ความตาย มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย จะตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า ทายาทโดยธรรม ได้แก่ 1) ผู้สืบสันดาน คือ ลูก หลาน เหลน ลี้ 2) บิดา มารดา 3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน 5) ปู่ ย่า ตา ยาย 6) ลุง ป้า น้า อา และ 7) คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย

หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายข้างต้นเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จาก “กฎหมายสำหรับผู้สูงอายุ” หรือสอบถามที่สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ โทรศัพท์ 02 – 651 – 6904 และ 02 – 651 – 7796

การเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ

การยกทรัพย์สินให้บุคคลใดระหว่างยังมีชีวิตอยู่ โดยหลักแล้วถือว่า เป็นการยกกรรมสิทธิ์ให้ขาด เรียกคืนไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุเรียกคืนตามกฎหมาย (เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ) ดังนี้

  1. ถ้าผู้รับประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา
  2. ถ้าผู้รับทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
  3. ถ้าผู้รับได้บอกปัดให้สิ่งของจำเป็นแก่การเลี้ยงชีพแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

อย่างไรก็ตามมีข้อแม้ คือ ผู้ให้อาจถอนคืนการให้ไม่ได้ หากว่าได้ใจอ่อนให้อภัยไปแล้ว หรือปล่อยให้เวลาได้ล่วงเลยไปเป็นเวลา 6 เดือน และไม่สามารถฟ้องคดีเรียกคืนการให้ในทุกกรณี เมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเกิดเหตุการณ์ (ไม่ว่าจะให้อภัยไปแล้วหรือไม่)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *