กฎหมายที่ผู้สูงอายุควรรู้

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรวัยสูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ กำหนดนโยบาย และมีการตรากฎหมายเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาระบบและการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของประเทศ

นโยบายของรัฐบาลหรือกรอบแนวคิดพื้นฐานในการดำเนินงานของรัฐบาลมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของประเทศไทย จาการวิเคราะห์คำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาพของนายกรัฐมนตรีก่อนเข้าบริหารประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2525 – พ.ศ. 2554 พบว่า ในช่วงแรกนั้นนโยบายของรัฐให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นลำดับต้น โดยมองว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มด้อยโอกาส เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐ จึงมีการกำหนดแนวนโยบายให้การรักษาผู้สูงอายุแบบให้เปล่า นโยบายทางสังคมเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยในระยะแรกนั้นเป็นนบายแบบกว้าง ๆ มองผู้สูงอายุในฐานะผู้พึ่งพิง เน้นการสงเคราะห์ ช่วยเหลือเป็นหลัก ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 กลุ่มผู้สูงอายุได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวค่อนข้างมาก จึงมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับโครงข่ายปลอดภัยทางสังคมแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชุนของรัฐ หลังจากปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา นโยบายด้านผู้สูงอายุจะมีลักษณะเป็นองค์รวมมากขึ้น เน้นการพัฒนาผู้สูงอายุในทุกมิติ เน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อสังคมสูงวัยและเน้นการเสริมสร้างบทบาทของครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีบทบาทหลักในการดูแล ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

สำหรับแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น เริ่มมีการกล่าวถึงในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นเรื่องการออมและการสร้างหลักประกันรายได้ และการส่งเสริมการทำงานให้เหมาะสมกับวัยนโยบายที่มีการแปลงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ เบี้ยยังชีพ ซึ่งเริ่มจากการเพิ่มจำนวนเงินที่ได้รับรายเดือน เปลี่ยนจากการสงเคราะห์หรือคัดเลือกผู้สูงอายุที่ยากจนหรือขาดแหล่งพึ่งพิงเป็นสวัสดิการ หรือหลักประกันทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับรายได้ประเภทอื่นจากรัฐและมาขอขั้นทะเบียนใช้สิทธิ์ ปัจจุบันมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพให้เป็นอัตราแบบขั้นบันไดตามอายุที่เพิ่มขึ้น การออมเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่เริ่มมีการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติแล้วในระดับหนึ่ง ด้วยการมีพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2554 และมีการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติขึ้น

ในส่วนของนโยบายด้านที่อยู่อาศัยนั้นไม่ได้มีการแถลงเป็นนโยบายอย่างชัดเจน แต่ดูหมือนว่ารัฐจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่กับครอบครัวและชุมชนให้นานที่สุด และยังไม่มีแนวนโยบายที่จะเพิ่มสถานบริบาลผู้สูงอายุของรัฐ อีกนโยบายหนึ่งที่มีการกล่าวถึงในระยะหลัง คือ นโยบายด้านสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ปลอดภัย หรือเอื้อต่อการมีส่วนร่วมในทางสังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อรองรับผู้สูงอายุรวมทั้งมีการพยายามที่จะปรับปรุงอาคารและสถานที่อื่น ๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย

จากระยะเวลาที่ผ่านมาของประเทศไทย ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของประชากรโดยรวมและประชากรกลุ่มที่ถูกกระทบเป็นอย่างมาก คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและชนบทจะถูกทอดทิ้ง ขาดผู้ดูแล ฉะนั้น ประเทศไทยจึงได้มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิของผู้สูงอายุไว้เป็นการเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้สูงอายุที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐทั้งในด้านการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุน เพื่อต้องการพัฒนาผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ประกอบกับผู้สูงอายุในปัจจุบันมีความต้องการรับรู้สิทธิของตนเองที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะขอกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ดังนี้

กฎหมายแม่บทที่ผู้สูงอายุควรรู้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดสิทธิของผู้สูงอายุไว้อย่างชัดเจน โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ดังนี้

หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

มาตรา 54 บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 80 รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข็มแข็งของชุมชน รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผุ้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2550 มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ดังนี้

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

มาตรา 40 บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้ (6) เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการและหรือทุพพลภาพย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมจะมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ

หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

มาตรา 53 บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา 80 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้

(1)คุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัย ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัวและชุมชน รวมทั้งต้องสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้

มาตรา 84 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ …(4)จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง…

กฎหมายที่รองรับนโยบายด้านผู้สูงอายุ

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุเป็นกฎหมายเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ตราขึ้นเพื่อรองรับสิทธิของผู้สูงอายุตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้มีการนำนโยบายและแผนด้านผู้สูงอายุไปปฏิบัติให้เกิดผล

พระราชบัญญัตินี้ตราขึ้นในปี พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 และต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพ และกระบวนการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ สาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้คือ การกำหนดโครงสร้าง องค์กร อำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านผู้สูงอายุของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานหลักด้านผู้สูงอายุและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการในพระราชบัญญัติยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ ให้มีการจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ ตลอดจนให้สิทธิต่าง ๆ แก่ผู้สูงอายุ ดังที่ปรากฏในมาตรา 11 ได้แก่

  1. การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จัดไว้โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ
  2. การศึกษา ศาสนา และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
  3. การประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม
  4. การพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายชุมชน
  5. การอำนวยความสะดวกและปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือการบริการสาธารณะอื่น
  6. การช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะตามความเหมาะสม
  7. การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ
  8. การช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง
  9. การให้คำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดีหรือในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว
  10. การจัดที่พักอาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง
  11. การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (สิทธิในวงเล็บที่ 11 นี้แก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2553)
  12. การจัดการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี

ในการดำเนินการให้เป็นไปตามสิทธิในแต่ละด้านนั้น ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่จัดบริการแก่ผู้สูงอายุให้เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้

  1. การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่จัดไว้โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ
    1. บริการที่จัดให้ การจัดช่องทางพิเศษเฉพาะเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว
    2. ขอรับบริการได้ที่ หน่วยงานที่ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย
  2. การศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
    1. บริการที่จัดให้ จัดศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน และให้มีหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงขั้นอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย และมีรายการต่าง ๆ เพื่อผู้สูงอายุ
    2. ขอรับบริการได้ที่ หน่วยงานที่ให้บริการทางการศึกษาข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร
  3. การประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม
    1. บริการที่จัดให้ การให้ข้อมูล คำปรึกษา ข่าวสารตลาดแรงงาน การจัดหางาน รับสมัครงาน บริการข้อมูลทางอาชีพ ตำแหน่งว่างงาน การอบรมและฝึกอาชีพ โดยมีศูนย์กลางข้อมูลทางอาชีพและตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่ง
    2. ขอรับบริการได้ที่หน่วยงานที่ให้บริการประกอบอาชีพฝึกอาชีพในสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร
  4. การพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน
    1. บริการที่ให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมผู้สูงอายุให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมภายในชุมชน และ/หรือระหว่างชุมชนการส่งเสริมการใช้ศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเพิ่มการจัดกิจกรรมทางกีฬา นันทนาการ การถ่ายทอดภูมิปัญญา และส่งเสริมการรวมกลุ่มออมทรัพย์ของผู้สูงอายุ
    2. ขอรับบริการได้ที่ หน่วยงานให้บริการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร
  5. การลดหย่อนค่าโดยสาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
    1. บริการที่จัดให้ เช่น
      • การลดค่าโดยสารรถไฟทุกชั้นตลอดทาง ทุกสาย (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ระหว่างเดือนมิถุนายนกันยายน โดยไม่ต้องเข้าแถวรอซื้อตั๋ว มีที่นั่งรอรับตั๋วพนักงานช่วยยกสัมภาระ ปฐมพยาบาบเมื่อเจ็บป่วย
      • การลดค่าโดยสารรถไฟแอร์พอร์ต ลิงค์ให้ผู้สูงอายุครึ่งราคา และยกเว้นค่าโดยสารในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายนของทุกปี
      • รถไฟฟ้าใต้ดินลดค่าโดยสารครึ่งราคา
      • รถไฟฟ้า BTS มีลิฟต์บริการที่สถานีหมอชิต สยาม อโศก อ่อนนุช และช่วงนนทรี
      • รถโดยสารประจำทาง ขสมก. ลดค่าโดยสารครึ่งราคา (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ตลอดวัน และยกเว้นค่าโดยสารในวันผู้สูงอายุแห่งชาติวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี และจัดที่นั่งสำรองสำหรับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ
      • รถโดยสารบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ลดค่าโดยสารครึ่งราคา (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) มีบริการจัดที่นั่งพักผ่อน และห้องสุขา
      • สายการบิน (บางสายการบิน) ลดค่าโดยสารชั้นประหยัดเที่ยวบินภายในประเทศและอำนวยความสะดวกขึ้นเครื่องเป็นลำดับแรก
      • ท่าอากาศยาน จัดสิ่งอนวยความสะดวก ได้แก่ ลิฟต์ โทรศัพท์ ทางลาด ห้องสุขา มุมพักผ่อน สำหรับผู้สูงอายุ
  6. การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในยานหนะบริการสาธารณะอื่น
    1. บริการที่จัดให้ ได้รับการดูแล ช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ การบริการสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และจัดพาหนะอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ
    2. ขอรับบริการได้ที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในยานพาหนะในสังกัดกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร
  7. การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่
    1. บริการที่จัดให้ การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ
    2. ขอรับบริการได้ที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา
  8. การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ
    1. บริการที่จัดให้ ได้รับการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ สวนสัตว์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานที่ท่องเที่ยวในความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นต้น
    2. ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
      • อุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      • กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
      • สำนักงานการสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร
  9. สิทธิด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
    1. บริการที่จัดให้ ได้รับการลดอัตราค่าเข้าร่วมกิจกรรม การส่งเสริม สนับสนุน การจัดกิจกรรม การอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุ หอศิลป์ สถานที่จัดกิจกรรม
    2. ขอรับบริการได้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ สวนสัตว์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานที่ท่องเที่ยวในความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
  10. การบริการด้านการท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ
    1. บริการที่จัดให้ ด้านการท่องเที่ยว มีการจัดกิจกรรมหรือโครงการเฉพาะสำหรับผู้สูงอาย ด้านกีฬาและนันทนาการ ผู้สูงอายุจะได้รับการบริการตรวจสุขภาพ ทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย การใช้บริการในสนามกีฬา สวนสุขภาพ ลานกีฬาแอโรบิค สนามเปตอง ห้องออกกำลังกาย การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแข่งขันกีฬา การลีลาศ และการรับสมัครเป็นสมาชิกชมรมศุภชลาสัย
    2. ขอรับบริการได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย และการกีฬาภูมิภาค
  11. การลดหย่อนภาษีเงินได้ และการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้บริจาคทรัพย์สินเงินให้แก่กองทุนผู้สูงอายุ
    • บุคคลที่ได้รับสิทธิ ได้แก่ ผู้เลี้ยงดูบิดา มารดา ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จำนวน 30,000 บาทและผู้บริจาคทรัพย์สินเงินให้แก่กองทุนผู้สูงอายุ สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
      • ผู้ที่เป็นบิดา มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปีอาศัยอยู่ในประเทศไทยและอยู่ในความอุปการะของผู้มีเงินได้
      • ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้เลี้ยงดูบิดา มารดาของตนเอง รวมทั้งบิดา มารดาของสามีหรือภริยา
      • กรณีสามีหรือภริยาเป็นผู้มีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท
    • กรณีผู้มีเงินได้หลายคนอุปการะ เลี้ยงดูบิดา มารดา คนเดียวกัน ให้ผู้มีเงินได้เพียงคนเดียวที่มีหลักฐานรับรองอุปการะเป็นผู้ที่มีสิทธิหักลดหย่อน
      • หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู บิดา มารดา
      • ขอรับบริการได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ และสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง
  12. การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายประสบปัญหาครอบครัวจะได้รับการช่วยเหลือตามสภาพปัญหาความต้องการ เช่น การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ การดำเนินคดี การให้คำแนะนำปรึกษา โดยผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรมจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงินไม่เกิน 500 บาท
    • ขอรับบริการได้ที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรม หรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานสงเคราะห์คนชราอยู่ในความรับผิดชอบ และกรุงเทพมหานคร
  13. การช่วยเหลือด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่ม
    1. บริการที่จัดให้ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย ที่ประสบความเดือดร้อนเรื่องอาหารและ/หรือเครื่องนุ่งห่ม สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกินวงเงินครั้งละสองพันบาท และจะช่วยได้ไม่เกินสามครั้งต่อคนต่อปีโดยถือตามปีงบประมาณ
    2. ขอรับบริการได้ที่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 2 สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการกรุงเทพ 8 แห่ง สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด
  14. การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย
    1. บริการที่จัดให้ ผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยจะได้รับการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยในกรณีชั่วคราวหรือตลอดไป โดยหลักฐานที่ต้องนำไปแสดง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ รวมทั้งทะเบียนฉบับจริงและสำเนาอย่างละ 1 ชุดและหลักเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนด
    2. ขอรับบริการได้ที่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการกรุงเทพ 8 แห่ง สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด
  15. การช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพ
    1. บริการที่จัดให้ ผู้สูงอายุตามเกณฑ์ที่มีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองมีทะเบียนบ้าน มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ลงทะเบียนและยื่นคำร้องขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และไม่เป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 โดยได้รับเงินช่วยเหลือแบ่งตามช่วงอายุแบบขั้นบันได คือ อายุ 60 – 69 ปี จะได้รับเดือนละ 600 บาท อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับเดือนละ 700 บาท อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับเดือนละ 800 บาท อายุ 900 ปีขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 1,000 บาท
      • ผู้ประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพ สามารถมาลงทะเบียนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองมีทะเบียนบ้านอยู่ ภายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้รวมทั้งทะเบียนบ้านฉบับจริงและสำเนาอย่างละ 1 ชุด และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยสามารถขอรับเป็นเงินสดหรือนำเงินเข้าบัญชีธนาคารก็ได้
    2. ขอรับบริการได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาลเมืองพัทยา
  16. การช่วยเหลือในทางคดี
    1. บริการที่จัดให้ ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและประสานงาน จัดหาทนายให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือว่าความแก้ต่างคดี และให้การดูแลจากอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในพื้นที่
    2. ขอรับบริการได้ที่ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยใน คดีอาญา คลินิกยุติธรรม ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด
  17. การช่วยเหลือเงินสงเคราะห์จัดการศพ
    1. บริการที่จัดให้ เมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิตลง จะได้รับการช่วยเหลือเงินจัดการศพรายละ 2,000 บาทโดยหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเงินสงเคราะห์จัดการศพ ประกอบด้วยผู้สูงอายุที่ถึงแก่กรรม ต้องมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย สามารถการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์จัดการศพ โดยต้องยื่นคำขอภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันออกใบมรณะบัตร
      • เอกสารในการยื่นคำขอ ประกอบด้วย
        • หนังสือรับรองผู้รับผิดชอบในการจัดการศพตามประเพณี (โดยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน)
        • แบบคำขอรับเงินสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี
        • ใบมรณะบัตร และสำเนาในมรณะบัตรของผู้สูงอายุ จำนวน 2 ฉบับ
        • บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 2 ฉบับ
        • สำเนาบัตรประจำตัวผู้ใหญ่บ้าน (แต่งเครื่องแบบสีกากี) จำนวน 1 ฉบับ
        • หนังสือรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล)
    2. ขอรับบริการได้ที่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการกรุงเทพ 8 แห่ง สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด สอบถามโทรศัพท์หน่วยงานได้ที่ศูนย์ประชาบดี โทรศัพท์สายด่วน 1133

สิทธิของผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องการทราบ เนื่องจาก เป็นผลประโยชน์ตรงและจะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสวัดิการต่าง ๆ หรือสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุเพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดได้จาก “คู่มือสิทธิผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546” สอบถามที่สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ โทรศัพท์ 02-651-6904 และ 02-651-7782

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *