วัฒนธรรมเกาหลีใต้

หลักการของลัทธิขงจื๊อมุ่งเน้นความเป็นเอกภาพของสังคม การยึดหลักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ปกครองกับผู้อยู่ภายใต้การปกครอง บิดากับบุตร ภรรยากับสามี ผู้มีอาวุโสกว่ากับผู้อ่อนอาวุโส และเพื่อนกับเพื่อน โดยในโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ได้กำหนดให้ประชาชนจะต้องเชื่อฟัง และจงรักภักดี โดยให้ถือว่า “ความจงรักภักดี” มีความสำคัญมากกว่าการเชื่อฟัง นอกจากนี้ ผู้อยู่ภายใต้การปกครองต้องให้ความเคารพ ให้เกียรติ และรับใช้ปกครอง ผลของความจงรักภักดีจะทำให้ผู้ปกครอง และผู้อยู่ภายใต้การปกครอง มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ แม้จะบ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียมกัน แต่ได้ถูกพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสม ถ้าหากนำมาซึ่งสันติและความกลมเกลียวกัน

ความสัมพันธ์ในเชิงคู่ของลัทธิขงจื๊อ ได้กลายเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์แบบลำดับชั้น และความไม่เท่าเทียมกันของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในแนวดิ่ง และต่อมา มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณ และการมีเจตนคติในการเคารพเชื่อฟังผูกรวมเข้าไป แนวคิดเหล่านี้ได้มีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดสังคมที่ผู้ปกครองมีอำนาจ โดยประชาชนต้องให้ความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง ผู้อ่อนอาวุโส จะให้ความเคารพต่อผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า บุตรจะต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณ และเชื่อฟังต่อบิดาและมารดา

ลัทธิขงจื๊อจากจีนเข้ามาเผยแพร่ในเกาหลีสมัยอาณาจักรโคเรีย (Koryo) ตอนปลาย[1] และได้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในสมัยนั้น เมื่อลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ปรากฏขึ้นใน จีน ชาวเกาหลีก็ได้ให้การยอมรับ มีการจัดตั้งสถาบันในระดับชาติขึ้นทำการสอน ศาลเจ้าขงจื๊อได้รับก่อตั้งขึ้นในเมืองหลวง มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาลัทธิขงจื๊อ และในสมัยราชวงศ์โจซอน (Choson Dynasty) ในระยะเวลาถัดมา ลัทธิขงจื๊อถือได้ว่ามีบทบาทอย่างมากในเกาหลี ทั้งในด้านการเมืองและสังคม

จากอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อที่มีต่อสังคมเกาหลีดังกล่าว จึงมีส่วนเกื้อกูลต่อการรวบอำนาจทางการเมืองของประธานาธิบดีอีซึงมัน โดยอาศัยการตีความตามแนวคิดที่ว่า ผู้ปกครองไม่เพียงแต่ได้รับความเชื่อฟัง หากแต่ยังได้รับความเคารพนับถือ เกียรติและการรับใช้จากประชาชน นอกจากนี้ ประชาชนในฐานะผู้อยู่ภายใต้การปกครองจะต้องทำหน้าที่ของประชาชนที่ดีตามหลักการของลัทธิขงจื๊อ[2]

องค์ประกอบทางวัฒนธรรมประจำชาติของเกาหลี 6 ประการคือ[3]

  1. Kibun มีความหมายถึง การรักษาอารมณ์และการคำนึงถึงความรู้สึกของบุคคลอื่น ในเกาหลีจึงมีพฤติกรรมที่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นและมักไม่ใช้คำว่า “ไม่” ในการปฏิเสธ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหน้า และมักเน้นความปรองดอง
  2. Nunchi มีความหมายถึง ความสามารถในการประเมินอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อื่นด้วยสายตาในการสังเกตุอวัจนะภาษาของผู้อื่น
  3. Inhwa หมายถึง ความปรองดอง คนเกาหลีจึงมักหลีกเลี่ยงการปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา ในทางธุรกิจคำคำนี้มีความหมายถึงความจงรักภักดีต่อผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชาต้องดูแลสวัสดิภาพของผู้ใต้บังคับบัญชา
  4. ระยะห่างระหว่างอำนาจและระดับชั้นการบังคับบัญชา เกาหลีเป็นประเทศที่มีระยะห่างระหว่างอำนาจและระดับชั้นของการบังคับบัญชา โดยมีคะแนน 64 ตามทฤษฎีมิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede (Power Distance Index: PDT) หมายความว่า ผู้มีตำแหน่งสูงจะได้รับการยอมรับ และได้รับเกียรติ และความเคารพจากผู้ที่มีตำแหน่งต่ำกว่า ไม่ว่าในการประชุม การรับประทานอาหารที่จะได้รับเกียรติให้นั่งก่อนผู้น้อยเสมอ เช่นเดียวกับการมีระบบรุ่นพี่ รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยซึ่งแตกต่างจากประเทศในตะวันตก เช่นเดียวกับการเจรจาต่อรองที่คู่เจรจาต้องมีตำแหน่งเท่าเทียมกัน จึงเจรจากันได้
  5. ปรัชญาขงจื๊อและการให้ความสำคัญกลุ่มปรัชญาขงจื๊อมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต และการดำเนินธุรกิจของคนเกาหลี ปรัชญาดังกล่าวได้วางรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดหน้าที่ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง บิดาและบุตร หน้าที่ของสามีและภรรยา การปฏิบัติต่อผู้อาวุโสกว่า การปฏิบัติตนระหว่างเพื่อน ปรัชญาขงจื๊อจะเน้นการทำตามหน้าที่ การรักษาเกียรติ ความซื่อสัตย์ การเคารพผู้อาวุโส และความจริงใจ ค่านิยมดังกล่าวส่งผลต่อสังคมของชาวเกาหลีในหลายด้าน เช่น ด้านฐานะทางสังคม การวางตัวและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยสังคมของเกาหลีจะปฏิบัติต่อบุคคลที่มีอายุ เพศ วุฒิ ทางการศึกษา ภูมิหลังทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ อาชีพ และอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน
  6. การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลบนพื้นฐานของความไว้วางใจ และผลประโยชน์ก่อนการทำธุรกิจ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำธุรกิจกับคนเกาหลี ขณะเดียวกัน การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการประกันความสำเร็จทางธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ได้มีงานวิจัยที่กล่าวว่า บริษัทในเกาหลีส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญต่อพนักงานชายมากกว่าพนักงานสตรี เนื่องจาก ลัทธิขงจื๊อที่เน้นความสำคัญตามสายการบังคับบัญชาที่ขึ้นอยู่กับอายุและเพศ พนักงานสตรีจึงมีเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าพนักงานชายในตำแหน่งเท่ากัน และยังได้กล่าวสนับสนุนว่า ลัทธิขงจื๊อเป็นหลักคุณธรรมที่กำหนดให้คนทำตามกฎเกณฑ์ที่ดีของสังคม เน้นจริยธรรม การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม เน้นความปรองดอง ตลอดจนการศึกษาที่จะนำไปสู่แนวการปฏิบัติที่ดีที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

สังคมเกาหลีจึงเป็นสังคมที่เป็นมิตร หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะกระทบต่อ “Kibun” ของบุคคลอื่น และเน้นความสำคัญของกลุ่มมากเช่นเดียวกับประเทศอื่นในเอเชีย สิ่งนี้ทำให้การตัดสินใจ และการเจรจาต่อรองของคนเกาหลีต้องใช้เวลามาก เนื่องจาก คนเกาหลีต้องปรึกษาหารือกับกลุ่มของตนเองก่อนตัดสินใจ


[1] อาณาจักรโคเรียวหรือโคเรีย (Koryo) มีอำนาจอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 918-1392

[2] วิเชียร อินทะสี. เกาหลีใต้ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลประธานาธิบดีอีซึงมัน http://www.asia.tu.ac.th/journal/EA_Journal2_50/B2.pdf

[3]พิชาภพ พันธุ์แพ. การจัดการแบบเกาหลีใต้ : น่าศึกษาและจับตามอง. file:///C:/Users/Admin/Downloads/ecbajournal,+Journal+manager,+%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A11-1-14-edit.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *