“ทิพยสมบัติ” บุญจากการรักษาอุโบสถศีล (บุญจากการศีล 8)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส อุปมาถึงอานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีลไว้ว่า ถ้าจะมาเปรียบกับสมบัติของพระราชาที่แม้จะครองความเป็นใหญ่ถึง 16 แคว้น ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวของผลบุญอันเกิดจากการรักษาอุโบสถเลย เพราะสมบัติมนุษย์เป็นสมบัติหยาบเหมือนสมบัติของคนกำพร้า มีความสุขได้ไม่กี่ร้อยปีก็ต้องพลักพราก นั่นคือ อยู่บนโลกมนุษย์ไม่กี่ปีก็ตาย ซึ่งเทียบไม่ได้กับการได้เสวยทิพยสมบัติอันยาวนานในสวรรค์ที่เกิดจากอานิสงส์ของการรักษาอุโบสถ

เป้าหมายหลักในการรักษาอุโบสถศีลนั้น ก็เพื่อทำให้จิตใจสงบ จิตใจไม่กวัดแกว่งฟุ้งซ่านไปในเรื่องกามารมณ์ แต่จะยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ถือ ซึ่งเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ของคฤหัสถ์ สำหรับผู้ที่ยังไม่ปรารถนาออกบวช ซึ่งโดยปกติในวันพระ พุทธศาสนิกชน ที่สะดวกก็จะพากันแต่งชุดขาวเพื่อไปสมาทานอุโบสถศีล และไปฟังธรรมที่วัด แล้วก็พักอาศัยอยู่ที่วัด จนกว่าจะครบกำหนด และถ้าไม่ได้ไปวัด ก็จะตั้งใจสมาทานศีล ด้วยตนเองที่บ้านนั่นเอง

การรักษาอุโบสถศีลนี้ แม้ว่า จะมีโอกาสรักษาได้ไม่นาน แต่กลับสามารถส่งผลให้มีอานิสงส์มากมายเกินควรเกิดคาดได้ การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องกลับทำให้ทรัพย์สินพอกพูนทวียิ่งขึ้น เห็นช่องทางทำเงินไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าฝรั่งเขาเรียกว่า ใช้ The Secret ดึงดูดสิ่งที่ดี ๆ สิ่งที่ประเสริฐเข้ามาหาตัวเรา ดังเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาล มีเศรษฐีท่านหนึ่งแห่งนครพาราณสี ชื่อว่า สุจิบริวาร ท่านเป็นผู้ที่มีความชื่นชมยินดีในการทำบุญ ทั้งยังชักชวน บุตร ภรรยา และพวกพ้องบริวารทั้งหลายให้รักษาศีล 5 เป็นปกติครั้นถึงวันพระ ก็จะชักชวนให้รักษาอุโบสถศีล

ครั้นนั้น มีชายยากจนคนหนึ่งได้ไปขอทำงานรับจ้างในบ้านของอัครมหาเศรษฐี ซึ่งตามปกติแล้วท่านอัครมหาเศรษฐีจะให้ลูกจ้างที่ทำงานทุกคน ทำสัญญากันตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานกับอัครมหาเศรษฐีว่า จะรักษาศีล แต่สำหรับชายยากจนผู้นี้ ท่านอัครมหาเศรษฐีเพียงแต่กล่าวว่า “เจ้าจงทำงานตามค่าจ้างที่ได้รับของตนเถิด” โดยมิได้ให้ทำสัญญาเกี่ยวกับการรักษาหรือถือศีลเลย

วันหนึ่งท่านเศรษฐีได้สั่งหญิงรับใช้ว่า “วันนี้เป็นวันอุโบสถ เธอจงจัดอาหารให้คนงานในบ้านเราแต่เช้าตรู่ เมื่อเขาบริโภคอาหารกันแต่เช้า จะได้สมาทานรักษาอุโบสถศีล”

หญิงรับใช้ก็ได้ไปปฏิบัติตามคำสั่ง เมื่อคนในบ้านบริโภคอาหารเช้า แล้วได้อยู่รักษาอุโบสถศีลในที่พักของตนเอง ยกเว้นแต่ชายยากจนนั้น ได้ออกไปทำงานแต่เช้า และไม่ทราบเรื่องวันอุโบสถเลย เขาทำงานตลอดทั้งวัน จนกระทั่ง บ่ายจึงกลับมา

เมื่อหญิงรับใช้นำอาหารมาให้เขา ก็ถามด้วยความแปลกใจว่า “วันนี้ ผู้คนหายไปไหนกันหมด ทำไมไม่มีเสียงเอ็ดอึงเช่นเคย”

หญิงรับใช้ตอบว่า “วันนี้ วันพระ เขาพากันรักษาอุโบสถศีลอยู่ในที่พักของตนกันหมด”

ชายผู้นั้น จึงรำพันว่า “ทุก ๆ คนเขาเป็นผู้มีศีล หากตัวเราไม่มีศีล ย่อมไม่สมควรเลย”

เขาจึงไม่บริโภคอาหาร แต่เข้าไปถามท่านเศรษฐีว่า “นายครับ ผมจะอธิษฐานวันอุโบสถในเวลานี้ได้ไหม จะถือว่า เป็นอุโบสถกรรมหรือไม่ครับ”

ท่านเศรษฐีตอบว่า “เจ้าไม่ได้อธิษฐานไว้ตั้งแต่ตอนเช้า จึงไม่นับว่า เป็นอุโบสถกรรมที่ครบทั้งหมด แต่ยังถือว่า เป็นอุโบสถกรรมครึ่งหนึ่ง”

ชายยากจน จึงตอบว่า “เพียงเท่านี้ก็ได้ครับ”

…ชายยากจนผู้นี้ เขาจึงได้สมาทานศีลอธิษฐานอุโบสถ แล้วก็ไปยังที่พักนอนรำพึงถึงศีลของตน ครั้นเวลาล่วงมาถึงกลางดึกในคืนนั้น ชายยากจนผู้ก็ไม่ได้บริโภคอาหารเลย ตลอดทั้งวัน แล้วก็มีอาการไม่สบาย เกิดมีอาการลมขึ้นในท้อง แม้ท่านเศรษฐีจะนำเอาเภสัชต่าง ๆ มาให้กินเพื่อบรรเทาอาการ เขากลับตอบว่า “ผมจะไม่ทำลายอุโบสถศีลของผม ผมสมาทานอุโบสถศีล โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน”

ในที่สุด เมื่อความเจ็บปวดรุนแรงเกิดขึ้น ชายยากจนผู้นั้นก็ไม่อาจครองสติได้ และคนทั้งหลายก็เห็นว่า เขาคงจะถึงแก่ความตายเป็นแน่ จึงได้นำตัวเขาออกมานอนนอกระเบียง ในขณะนั้นเอง พระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงทำประทักษิณพระนคร แล้วเสด็จผ่านมา ชายยากจนก็ได้เห็นพระราชา แล้วก็เกิดความปรารถนาอยากจะได้ราชสมบัติเช่นนั้นบ้าง และจากนั้นเขาก็สิ้นใจตาย

ด้วยผลจากการรักษาอุโบสถศีลเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ทำให้เขาได้เกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้ากรงพาราณสี เมื่อครบ 10 เดือนก็ประสูติ และได้รับการขนานพระนามว่า อุทัยกุมารเมื่อทรงเจริญวัยขึ้น ทรงศึกษาสำเร็จศิลปะทุกประการ และมีพระญาณระลึกชาติได้ พระองค์มักจะทรงรำพึงถึงเหตุการณ์ในชาติก่อนแล้วเปล่งอุทานว่า “นี่คือ ผลแห่งกรรมเพียงเล็กน้อยของเรา” ดังนั้น อยากมีทิพย์สมบัติก็ต้องปฏิบัติเอาเอง ถ้าไม่เชื่อ มีทางเดียว ต้องพิสูจน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *