จิตวิทยาของสี

ในยุคการค้นพบแสงสีจึงทำให้เกิดหลักจิตวิทยาของสีขึ้น การเห็นสีเป็นการรับรู้เบื้องต้นและจะเชื่อมโยงไปสู่การรับรู้ในเชิงจิตวิทยา การมีปฏิกิริยาต่อสีไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่สัตว์ทุกประเภทที่ตาไม่บอดสีก็มีปฏิกิริยาต่อสีเหมือน ๆ กัน

นักจิตวิทยาได้กล่าวว่า สีสามารถดึงดูดอารมณ์ของคนได้ เพราะสีทุกสีเกี่ยวข้องด้วยความรู้เฉพาะบางอย่าง เช่น พฤติกรรม ประสบการณ์ สภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์ในอดีตของคน

สีมีพลังที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของคน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้มีการทดสอบของวิศวกรที่บริษัท พิต์สเบิร์ก เพลตกลาส ที่ตีพิมพ์ในหนังสือของบริษัท ระบุว่า ภายใต้แสงปกติธรรมดาจะใช้กิจกรรมกล้ามเนื้อ 23 หน่วย จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยภายใต้แสงสีฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 28 หน่วยภายใต้แสงสีเขียว 30 หน่วยภายใต้แสงสีเหลือง ถ้าคนเราอยู่ภายใต้แสงสีใดสีหนึ่งแม้เพียง 5 นาที จิตใจและกล้ามเนื้อของเราจะแปรเปลี่ยนไปตามปฏิกิริยาตอบสนองทางจิตวิทยาต่อสีนั้น ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า ปฏิกิริยาตอบสนองทางจิตวิทยาของเราต่อสี ส่งผลต่อปฏิกิริยาทางร่างกายของเรา

จากการทดสอบของวิศวกรบริษัทดังกล่าวได้บอกไว้ว่า การใช้งานสีในทางจิตวิทยาถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางอุตสาหกรรมโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่ง โดยนำสีมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการผลิตอย่างแท้จริง และสีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประมาณปี ค.ศ. 1910 มีหลักฐานจากนักอุตสาหกรรมว่า สีบางสีช่วยลดความล้าของตา อารมณ์ดีขึ้น และเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพในการผลิตของโรงงานอีกด้วย และยังทำให้อุบัติเหตุในการทำงานลดลง

ในทางการแพทย์ นายแพทย์ วิลเลียม เจ.เฟเบอร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของคลินิกและศูนย์วิจัยทางเมตาโบลิกของมิลวอย์กีเพน มลรัฐวิสคอนซิน ยืนยันว่า สีมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ โดยเขานำสีฟ้าอ่อนภายในคลินิกโดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสีในการรักษาโรค สีนั้นช่วยให้มีผลต่อตัวเขาและพนักงานมากขึ้น คนไข้ของเขาตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้สีในห้องว่า สีช่วยให้พวกเขารู้สึกเจ็บน้อยลงหลังจากเข้าไปอยู่ในห้องแค่เพียง 5 นาที และสีบางสีในโรงพยาบาลก็ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วขึ้น และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งแพทย์และพยาบาลอีกด้วย

เรารับรู้สีโดยสัญชาตญาณโดยเฉพาะผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ในอดีตจะใช้สีต่าง ๆ ในการกระตุ้นอารมณ์ เช่น การใช้ธง หรือสีของผ้า เป็นการแบ่งแยกพักพวก หรือแยกฝ่ายมิตรและศัตรู ชนพื้นเมืองที่อาศัยในอเมริกาใต้และป่าแอฟริการู้จักใช้จิตวิทยาในรูปแบบของสีที่ใช้ในยามสงครามเพื่อให้ข้าศึกตื่นตระหนก

ความรู้สึกเกี่ยวกับสีตามหลักจิตวิทยา สามารถแบ่งออกเป็นอิทธิพลของสีที่มีต่อความรู้สึกของมนุษย์ ดังต่อไปนี้

  • สีแดง เป็นสีแห่งความกล้าหาญ รุนแรง ตื่นเต้น มั่งมี มีอำนาจ สะดุดตาตามหลักสากลบ่งบอกถึงอันตราย
  • สีเขียว ให้ความรู้สึกสบาย เป็นสีแห่งพลังวังชา มีชีวิตชีวา สดชื่น ร่มเย็น
  • สีเขียวเหลือง ให้ความรู้สึกเจริญงอกงาม อ่อนเยาว์
  • สีส้ม ให้ความสนุกสนาน ร่าเริง อบอุ่น
  • สีม่วง ให้ความรู้สึกผิดหวัง เศร้า และแสดงความภักดี สีเสน่ห์
  • สีขาว ให้ความบริสุทธิ์ใหม่ สดใส และความรู้สึกว้าเหว่ ว่างเปล่า
  • สีดำ ให้ความรู้สึกหดหู่ และเศร้าใจ เป็นสีแห่งความลึกลับ
  • สีฟ้า ให้ความรู้สึกสงบเสงี่ยมเรียบร้อย สดใส สะอาด
  • สีเทา ให้ความรู้สึกอ่อนโยน เศร้าสงบ
  • สีชมพู ให้ความรู้สึกนุ่มนวล น่ารัก อ่อนหวาน
  • สีเหลืองอ่อน ให้ความอ่อนเพลีย ละเหี่ยใจ
  • สีเหลืองแก่ ก่อให้เกิดพลังวังชา ความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความร่าเริง
  • สีตองอ่อน ก่อให้เกิดความรู้สึกเย็น ๆ แต่ตื่นเต้น
  • สีน้ำเงิน ให้ความรู้สึกเย็น ๆ เฉย ๆ สงบ สุขุม

ทั้งหมดนี้เป็นจิตวิทยาของสีที่มีอารมณ์ร่วมของมนุษย์ในทุกเชื้อชาติที่เห็นพ้อต้องกัน หากนำมาใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ก็สามารถเป็นภาษาสื่อสารเชื่อมโยงความรู้สึกซึ่งกันและกันได้ อาจมีบางกรณีที่มความแตกต่างกันในเรื่องของความเชื่อทางวัฒนธรรมหรือศาสนา ซึ่งอาจทำให้จิตวิทยาของสีเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย แต่โดยจิตวิทยาสีแล้วจะมาจากธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ซึ่งมนุษย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติ

การนำสีตามหลักจิตวิทยามาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน สรุปประโยชน์ที่ได้รับ ดังนี้

  1. ด้านการแสดงเวลาของภาพเขียน เพราะสีในภาพเขียนนั้น จะแสดงให้รู้ภาพตอนเช้า ตอนกลางวันหรือตอนบ่าย
  2. ด้านการค้า คือ ทำให้สินค้าสวยงาม น่าซื้อ นอกจากนี้ ยังใช้กับงานโฆษณา เช่น โปสเตอร์ต่าง ๆ
  3. ด้านประสิทธิภาพของการทำงาน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ถ้าทาสีสถานที่ทำงานให้ถูกหลักจิตวิทยา เป็นทางหนึ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้น่าทำงาน คนงานจะทำงานมากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น
  4. ด้านการตกแต่ง สีของห้อง และเฟอร์นิเจอร์ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความสว่างของห้อง รวมทั้งความสุขในการใช้ห้อง ถ้าเป็นโรงเรียนเด็กจะเรียนได้ผลดีขึ้น ถ้าเป็นโรงพยาบาลคนไข้จะหายเร็วขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *