ความเชื่อเรื่องสีจีวร

“จีวร” ถือว่า เครื่องหมายของพระอรหันต์ มีหลักฐานปรากฏในพระคัมภีร์อุบาลีเถราปทานว่า “บุคคลเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่ (แม้) เปื้อนอุจจาระที่ถูกทิ้งไว้ตามถนนหนทาง ก็ควรประนมมือไหว้ผ้านั้น อันเป็นธงชัยของพระอริยะเจ้า ด้วยเศียรเกล้า” ในฉันทันตชาดก ติงสนิบาตร กล่าวว่า “พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างฉัททันต์ กำลังจะเดินตรงเข้าไปทำร้ายนายพรานป่าใจบาป ผู้คิดจะฆ่าตน แต่พอมองเห็นจึวรที่นายพรานชูให้เห็นกลับคิดได้ว่า ผู้มีธงชัยหรือเครื่องหมายแห่งพระอรหันต์ไม่ควรถูกฆ่า จึงไม่ได้ทำร้าย และให้อภัยแก่นายพรานปล่อยให้รอดไป”

สีของจีวร แต่เดิมนั้นพระภิกษุใช้มูลโค (โคมัย) หรือใช้ดินแดงย้อมจีวร จึงทำให้สีของจีวรเป็นสีคล้ำไม่เหมาะสม และมีการทักท้วงกันขึ้น จึงได้นำความกราบบังคมทูลให้พระองค์ทรงทราบ พระพุทธเจ้าได้มีดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม 6 ชนิดสำหรับย้อมจีวรพระภิกษุ คือ การให้ใช้น้ำย้อมมีนำมาจากดอกไม้ รากไม้ ต้นไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ และผลไม้” เมื่อได้ย้อมเสร็จแล้ว จีวรพระภิกษุจะออกมาเป็นสีเหลืองหม่น สีกรัก หรือสีเหลืองเจือแดงเข้มเหมือนการย้อมด้วยแก่นขนุน

สีจีวรที่ต้องห้าม คือ

  • สีเขียวคล้ำ สีเหมือนดอกผักตบชวา
  • สีเหลือง สีเหมือนดอกกรรณิการ์
  • สีแดง สีเหมือนชบา
  • สีหงสบาท (สีเหมือนเท้าหงส์) สีแดงกับเหลืองปนกัน
  • สีดำ สีเหมือนลูกประคำดีควาย
  • สีแดงเข้ม สีเหมือนหลังตะขาบ
  • สีแดงกลาย ๆ แดงผสมคล้ายใบไม้แก่ ๆ ใกล้ร่วง (เหมือนสีดอกบัว)

มีบางแห่งระบุว่า สีต้องห้าม คือ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด และสีชมพู ถ้าจีวรมีสีตรงตามนี้ ให้ภิกษุย้อมใหม่ ถ้าทำลายสีเดิมไม่ออกก็ให้นำไปใช้เป็นผ้าปูลาดสำหรับรองนั่งหรือใช้งานอื่น ๆ หรือใช้ซับในระหว่างจีวรสองชั้นก็ได้

สีจีวรของพระสงฆ์ไทยปัจจุบันในสมัยพุทธกาล แม้พระภิกษุสงฆ์จะย้อมจีวรด้วยสีธรรมชาติแท้ ๆ แต่ก็เชื่อว่า สีคงไม่ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดแน่นอน คงจะมีผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง แม้ในยุคปัจจุบันก็มีการใช้สีจีวรต่าง ๆ แต่พอแยกออกได้ 2 สี คือ สีเหลืองเจือ แดงเข้ม และสีกรักสีเหลืองหม่น

วัดใดจะใช้จีวรสีไหนก็ได้ ไม่มีข้อห้าม เพราะถือว่า ถูกต้องตรงตามพระบรมพุทธานุภาพญาติทั้ง 2 สี แต่ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดเดียวกัน ก็น่าจะใช้จีวรสีเดียวกัน ส่วนสีที่นิยมในพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) นิยมใช้สีกรัก หรือสีเหลืองหม่น เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนผ้าไตรที่ทางฝ่ายพระราชพิธีจัดเตรียมไว้ถวายพระด้วย ทั้งนี้ เพื่อความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย และปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

ผู้มีจิตศรัทธาต้องการถวายผ้าจีวรแก่พระสงฆ์ควรทราบ

  1. ข้อควรปฏิบัติ คือ จะเลือกซื้อจีวรแบบไหนสีใดไปถวายพระวัดใด ต้องคำนึงถึงคุณภาพของผ้า ที่พระทานสามารถใช้สอยได้อย่างเหมาะสม อีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องเลือกสีให้ถูกต้องตามความนิยมของแต่ละวัด เช่น วัดบวรนิเวศ ใช้สีกรักหรือเหลืองหม่น วัดสระเกศ ใช้สีเหลืองเจือแดงเข้ม เป็นต้น
  2. จุดประสงค์การถวายผ้าจีวร เพื่อให้พระภิกษุหมดภาระในการแสวงหาผ้านุ่งห่ม ไม่ต้องกังวลใจ มีเวลาปฏิบัติธรรมอย่างเพียงพอ และเป็นการช่วยให้พระภิกษุมีผ้านุ่งห่ม ป้องกันเหลือบยุง บำบัดความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันไม่ให้ป่วยไข้เพราะร้อนและหนาวเกินไป และรักษาสุขภาพอนามัย คือ ใช้ชายจีวรกรองน้ำดื่มเมื่อถึงคราวจำเป็น
  3. อานิสงส์การถวายจีวร ผู้ถวายต้องตั้งเจตนาบริจาคให้เป็นทานบารมีที่บริสุทธิ์จริง ๆ ไม่ให้เกิดการเสียดาย จึงบังเกิดเป็นบุญมหาศาล แยกได้ดังนี้
    1. สามารถตัดบาทออกไปจากจิตใจได้เด็ดขาด
    2. กำจัดกิเลสขวางโลก คือ ความโลภ ความตระหนี่ถี่เหนียว ให้บรรเทาเบาบางจนจางหายไปในที่สุด
    3. ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นสุขสดใสใจเบิกบาน
    4. เกิดความภาคภูมิใจที่มั่นคงอยู่ในบุญกุศล
    5. พ้นจากความยากจน ความลำบากขัดสนทุกภพทุกชาติ
    6. มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยปัจจัย 4 ทุกภพทุกชาติ
    7. เกิดชาติใดภพใดจะเป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณผุดผ่องแจ่มใส
    8. ทำให้บังเกิดความอิ่มบุญ เย็นใจตลอดเวลาทุกครั้งที่นึกถึง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *