ความหมายของสีประจำวัน

ส.พลายน้อย (2530) ได้เขียนบทความเรื่อง “ความหมายของสีตามประเพณี” โดยมีรายละเอียด คือ ประเพณีวัฒนธรรมในการเรียกชื่อสีของไทยนั้นมีมาตั้งแต่โบราณ นิยมเรียกเปรียบเทียบกับสีธรรมชาติ เช่น เรียกสีตองอ่อนหรือสีเขียวอมเหลืองว่า “สีตองอ่อน” คือ เอาไปเปรียบเทียบกับสีของใบตองหรือใบกล้วยอ่อน ๆ เรียก “สีชมพู” ว่า “สีทับทิม” โดยเอาไปเปรียบเทียบกับเมล็ดในทับทิม สีเลือดนกเอาไปเปรียบเทียบกับสีของเลือดนก หรือสีฟ้าเอาไปเปรียบเทียบกับสีของท้องฟ้า เป็นต้น เสมือนว่า มนุษย์เริ่มต้นรู้จักในเรื่องสีครั้งแรกผ่านธรรมชาติ จากนั้น จึงมีการถ่ายทอดการเรียนรู้ดังกล่าวผ่านรุ่นสู่รุ่นจนเกิดคำนิยามเรียกชื่อ ความหมาย การสร้างหรือเลือกใช้ และประโยชน์ของสีกันมากขึ้น โดยตามประเพณีไทยโบราณนั้นมีการใช้สีที่แตกต่างกันออกไป เพราะสีแต่ละสีมีความหมายและความสำคัญที่ต่างกัน ประกอบด้วย

ความหมายของสีธงชาติ โดยธงชาติไทยมี 3 สี “สีแดง” นั้น หมายถึง ชาติ และความสามัคคี “สีขาว”  หมายถึง ศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคนในสังคมไทย และ “สีน้ำเงิน” หมายถึง พระมหากษัตริย์

ความหมายของสีประจำวัน โดยสีประจำวันของไทยมาจากสีกายของเทวดาทั้ง 7 กล่าวคือ ใน 1 สัปดาห์มี 7 วัน ซึ่งแต่ละวันก็มีสีที่ต่างกัน ดังนี้

  1. พระอาทิตย์ ตามตำนานว่า พระอิศวรเอาราชสีห์ 6 ตัวมาป่น แล้วห่อด้วยผ้าสีแดง พรมน้ำอมฤตจนบังเกิดเป็นพระอาทิตย์ซึ่งมีกายสีแดง
  2. พระจันทร์ ตามตำนานว่า พระอิศวรร่ายเวทมนต์ให้นาง้ฟา 15 นางกลายเป็นผงละเอียดแล้วห่อด้วยผ้าสีเหลืองอ่อนจนบังเกิดกลายเป็นสีเหลืองนวล
  3. พระอังคาร ตามตำนานว่า พระอิศวรร่ายพระเวทให้กระบือ 8 ตัว กลายเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าสีแดงหลัว บังเกิดเป็นพระอังคาร มีสีกายเป็นสีแก้วเพทายชมพู
  4. พระพุทธ ตามตำนานว่า พระอิศวรร่ายพระเวทให้พญาคชสาร 17 ตัว กลายเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าสีเขียวใบไม้ ประพรมด้วยน้ำอมฤตจนบังเกิดเป็นพระพุธ มีสีกายมรกต
  5. พระพฤหัสบดี ตามตำนานว่า พระอิศวรร่ายพระเวทให้พระฤาษี 19 ตนกลายเป็นผง แล้วเอาผ้าสีดแสดมาห่อผงนั้น ประพรมด้วยน้ำอมฤตจนบังเกิดเป็นพระพฤหัสบดี มีสีกายเป็นสีแสด
  6. พระศุกร์ ตามตำนานว่า พระอิศวรร่ายพระเวทให้โค 21 ตัวกลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีน้ำเงิน ประพรมด้วยน้ำอมฤตจนบังเกิดเป็นพระพฤหัสบดีมีสีกายเป็นสีแสด
  7. พระเสาร์ ตามตำนานว่า พระอิศวรร่ายพระเวทให้เสือ 10 ตัว กลายเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าสีดำหลัว ประพรมด้วยน้ำอมฤตจนบังเกิดเป็นพระเสาร์ มีกายสีดำคล้ำ

จากตำนานความหมายของสีประจำวันนั้น จะเห็นได้ว่า สีกายของเทวดาทั้ง 7 เป็นสีเดียวกับผ้าที่นำมาห่อ จึงมีชื่อของเทวดาเหล่านั้นมาใช้เรียกเป็นชื่อวันในสัปดาห์ของไทย

ความหมายของสีประจำวันที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคลต่อชีวิต

ตามคตินิยมของประเพณี สีที่เป็นมงคลจะเป็นสีที่มีความสวยงาม มองดูแล้วสดชื่น สบายตาและใจ ในงานมงคลจึงห้ามแต่สีที่มองดูแล้วเกิดความเศร้าหรือหดหู่ใจ เช่น ห้ามแต่สีม่วงและสีดำไปในงานแต่งงาน หรือแม้แต่ไปเยี่ยมคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่มีอาการหนัก

นอกจากนี้ สีบางสีที่ใช้ประจำวันก็มีทั้งที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคล เพราะในบางสีก็เป็นกาลกิณีกับผู้ที่เกิดในวันนั้น ๆ ตามการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

  • วันอาทิตย์ ตามปกติใช้สีแดง ถ้าใช้สีอื่นก็ควรเป็นสีเขียวเป็นศรี สีชมพูเป็นเดช ส่วนสีฟ้าและน้ำเงินนั้นห้ามเด็ดขาด
  • วันจันทร์ ตามปกติใช้สีเหลือง สีเขียวเป็นเดช สีดำเป็นศรี ห้ามใช้สีส้ม
  • วันอังคาร ตามปกติใช้สีชมพู สีดำเป็นเดช สีเหลืองเป็นศรี ห้ามใช้สีขาวและสีเงิน
  • วันพุธ ตามปกติใช้สีเขียว สีเหลืองเป็นเดช สีม่วงเป็นศรี ห้ามใช้สีชมพูและสีม่วงแดง
  • วันพฤหัสบดี ตามปกติใช้สีแสด สีน้ำเงินเป็นเดช สีส้มเป็นศรี ห้ามใช้สีดำ สีม่วงคล้ำ หรือสีน้ำเงินเข้ม
  • วันศุกร์ ตามปกติใช้สีฟ้าหรือสีคราม สีขาวเป็นเดช สีชมพูเป็นศรี และห้ามใช้สีม่วงเม็ดมะปราง
  • วันเสาร์ ตามปกติใช้สีดำ สีม่วงเป็นเดช และห้ามใช้สีเขียวทุกชนิด

สีนั้นมีมาตั้งแต่โบราณ โดยมนุษย์เรานั้นเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับสีครั้งแรกผ่านธรรมชาติ จนภายหลังได้มีการนิยามชื่อ ความหมายและมีการนำความหมายของสีไปใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของมนุษย์ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดความสำคัญของสีธงชาติ การกำหนดใช้เป็นสีประจำวันในสัปดาห์ การนำมาประยุกต์ใช้เป็นสีเสื้อผ้าที่ใช้แต่งกาย และการเลือกใช้สีเพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต โดยแต่ละสีก็จะมีเรื่องราวที่มาที่ไปและความหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้น มนุษย์จึงมีความเชื่อและมีการเลือกใช้สีต่างกันโดยจะทำการเลือกสีที่มีความหมายตามดวงชะตาของตนเอง เพื่อเป็นการสร้างบารมีและความเป็นมงคลให้กับชีวิต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *