กระบวนการลงโทษผู้นำรัฐบาลเกาหลีใต้

เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของนายพล ชุน ดู ฮวาน ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และบาดแผลแก่ประชาชนชาวเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่กวางจู ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 จนนำไปสู่การเรียกร้อง และเอาผิดกับผู้นำการรัฐประหาร และการปราบปรามการชุมนุมในครั้งนั้น คือ นายพลชุน ดู ฮวาน และนายพลโร แด วู รัฐบาลพลเรือนของประธานาธิบดี คิม ยอง ซัม (Kim Young-Sam) ซึ่งดำรงตำแหน่งใน ค.ศ. 1993 ในขณะนั้น ต้องเผชิญกับการเรียกร้องจากสาธารณะถึงการสอบสวน และลงโทษผู้นำทางทหาร และผู้มีส่วนร่วมเหล่านี้ แม้ว่า รัฐบาลก่อนนั้น คือ รัฐบาลของประธานาธิบดีโร แด วู ผู้ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก นาย ชุน ดู ฮวาน โดย นาย โร แด วู เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยการลงประชามติของประชาชน แม้ประธานาธิบดี โร แด วู จะได้มีความพยายามในการชดเชยเหยื่อผู้เสียหายจากการชุมนุมที่กวางจู โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการผ่านกฎหมายอนุญาตให้มีการชดเชยให้กับเหยื่อ และนำนาย ชุน ดู ฮวาน เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโดยรัฐสภาพแล้วก็ตาม ความพยายามดังกล่าวยังไม่สามารถบรรเทาความต้องการของประชาชน ในการสอบสวนหาความยุติธรรมของการรัฐประหาร และการปราบปรามการชุมนุมที่กวางจูลงได้

ในปี ค.ศ. 1994 ทางสำนักอัยการประจำกรุงโซล ได้ตัดสินใจไม่ดำเนินคดีผู้นำทหารทั้งสองคน ถึงแม้ว่า จะยอมรับการรัฐประหารในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1979 มีผลว่า เป็นการกบฏ อาชญากรรม และเป็นการฆาตกรรม และในการปราบปรามการชุมนุมในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 จะเป็นการฆาตกรรมก็ตามด้วย เนื่องจาก อัยการมีความกังวลว่า การดำเนินคดีกับผู้นำทางการทหารอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ และคณะรัฐประหารเมื่อทำการรัฐประหารแล้วก็เข้าควบคุมเพียงแค่กองทัพ ไม่ได้เข้าควบคุมองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี อัยการสรุปความคิดเห็นว่า การรัฐประหารที่สำเร็จไม่ควรจะถูกลงโทษหลังจากการทำรัฐประหารนั้นได้ล่วงเลยมาแล้ว การตัดสินใจไม่ดำเนินคดีของอัยการนำไปสู่การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในปี 1995

นายพลชุน ดู ฮวาน
ที่มาของภาพ : https://prachatai.com/journal/2021/11/96067

การสั่งไม่ฟ้องคดีกับคณะรัฐประหารในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1979 ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากมีความเห็นว่า การตัดสินใจสั่งไม่ฟ้องของอัยการเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ถือเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 บัญญัติว่า ประธานาธิบดีจะถูกฟ้องร้องในคดีอาญาในระหว่างดำรงตำแหน่งมิได้ เว้นแต่ได้กระทำความผิดฐานกบฏ หรือขายชาติ ซึ่งหากพิจารณาแล้ว นายชุน ดู ฮวาน และนาย โร แด วู ก็สามารถที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาก่อกบฏ และการฆาตกรรมได้ แต่อย่างไรก็ดี ทั้งสองคนเป็นผู้วางฐานที่สำคัญในทางเศรษฐกิจและการเมือง และเมื่อเสร็จสิ้นนายชุน ดู ฮวานก็ลาออก และนาย โร แด วู ผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อก็มาจากการลงประชามติเลือกโดยประชาชน ซึ่งเป็นเหตุผลที่เพียงพอในการงดเว้นการเอาผิดกับผู้นำทางทหารทั้งสอง สาธารณชนเกาหลีไม่พอใจกับการให้เหตุผลในทางกฎหมายเช่นนี้ และมีการกดดันให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติออกกฎหมายใหม่ เพื่อนำผู้นำทางทหารทั้งสองมาลงโทษ รวมถึงมีการเปิดเผยว่า อดีตประธานาธิบดีทั้งสองได้รับสินบนจำนวนมหาศาลในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ทำให้ประชาชนชาวเกาหลีมีความโกรธแค้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ในที่สุดประธานาธิบดีคิม ยอง ซัม ก็เสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติ และสภานิติบัญญัติได้ผ่านร่างกฎหมายออกมาเป็น “กฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยวันที่ 18 พฤษภาคม” (the Special Act Concerning the May 18 Democratization Movement) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1995 ภายใต้กฎหมายพิเศษฉบับดังกล่าว นายชุน ดู ฮวาน นายโร แด วู และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารวันที่ 12 ธันวาคม และการปราบปรามการชุมนุมวันที่ 18 พฤษภาคม จะถูกดำเนินคดี และต่อมาก็ได้มีการควบคุมตัวนายชุน ดู ฮวาน และนายโร แด วู โดยสำนักงานอัยการประจำกรุงโซล

กฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย
กฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย วันที่ 18 พฤษภาคม ระบุไว้ในมาตรา 1 และ 2 ถึงจุดประสงค์ของการกระทำความผิดที่เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1979 และเหตุการณ์วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 และการกระทำอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ในระหว่างการพิจารณาคดี ฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งว่า กฎหมายพิเศษดังกล่าวเป็นการบัญญัติเพื่อลงโทษกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะ และทำให้ขัดต่อหลักความเท่าเทียม นอกจากนี้ การลงโทษย้อนหลัง ยังละเมิดต่อหลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังอีกด้วย โดยมีการยื่นเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดี Case on the Special Art on the May 18 Democratization Movement, etc.

ในประเด็นแรกที่จำเลยอ้างว่า กฎหมายพิเศษดังกล่าวเป็นการบัญญัติเพื่อลงโทษกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กฎหมายพิเศษดังกล่าว แม้ออกมาเพื่อใช้กับกรณีเฉพาะกับสองเหตุการณ์ แม้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถือได้ว่า การรัฐประหารเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง และความต้องการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นการสร้างความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญได้

ในประเด็นที่สอง เรื่องการใช้กฎหมายย้อนหลังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกกฎหมายพิเศษดังกล่าวไม่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง โดยมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ศาลพิจารณามาตรา 2 ของกฎหมายพิเศษดังกล่าวว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจาก มาตรา 2 กำหนดว่า การฟ้องคดีที่กระทำในช่องเวลาวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1979 และวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 และมีการขยายอายุความในการดำเนินคดีออกไป ซึ่งถือว่า เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 13(1) ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตราดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการเรื่องการออกกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลัง โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งหมด 9 คน มีจำนวน 4 คนเห็นว่า การขยายอายุความเพื่อให้มีการดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงเวลาวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1979 และวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 นั้นเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีก 5 คนเห็นว่า การขยายอายุความดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจาก ตามมาตรา 113(1)แห่งรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ กำหนดว่าการตัดสินประเด็นที่เกี่ยวกับการขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น ตุลากากรศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 6 เสียง แต่ในกรณีนี้มีเพียงห้าเสียง บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวของกฎหมายพิเศษฉบับนี้จึงถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายพลโร แด วู
ที่มาของภาพ : https://today.line.me/th/v2/article/LXXEV5z

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว นำไปสู่กระบวนการดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีทั้งสองคน และผู้มีส่วนร่วมในปี 1996 ศาลประจำกรุงโซลได้มีคำพิพากษาความผิดของอดีตประธานาธิบดีทั้ง 2 คนของประเทศเกาหลีใต้มีความผิดในข้อหากบฏ รับสินบน และข้อหาฆาตกรรมประชาชนในการปราบปรามการชุมนุม โดยศาลประจำกรุงโซลได้ตัดสินลงโทษประหารชีวิตนายชุน ดู ฮวานและศาลสูงกรุงโซลได้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนาย โร แท วู ถูกศาลประจำกรุงโซลตัดสินโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือนและลดลงเหลือ 17 ปี ส่วนผู้มีส่วนร่วมคนอื่นได้รับโทษ 3-8 ปี ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการจำคุกไม่นาน อดีตประธานาธิบดีทั้งสองก็ได้รับการอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวใน ค.ศ. 1997

การพิจารณาความผิดของอดีตประธานิบดีทั้งสอง แม้ในขั้นต้นจะมีการลงโทษประหารชีวิตและจำคุก แต่ในที่สุดก็ได้รับการอภัยโทษเหลือจำคุกจริงไม่ถึง 1 ปี ซึ่งการจำคุกดังกล่าวน้อยมาก เมื่อเทียบกับโทษเดิมที่ถูกตัดสินไว้ แต่ก็อาจถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ปรากฏให้เห็นได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจาก เมื่อมีการรัฐประหารแล้ว หากการรัฐประหารสำเร็จลง ควบคุมประเทศไว้เรียบร้อย รวมถึงมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ผู้นำการรัฐประหารเหล่านั้นก็จะกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่มีความชอบในการบริหารประเทศไป แต่การลงโทษความผิดฐานกบฏแก่ผู้นำการรัฐประหารที่สำเร็จ และผู้มีส่วนร่วม ถือได้ว่า เป็นความก้าวหน้าของกระบวนการพิจารณาคดีและการเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศเกาหลีใต้

ที่มา: มาตรกร(ไม่)ลอยหน้า คนสั่งฆ่า(ไม่)ลอยนวน : บทเรียนจากเกาหลีใต้. บทความในการประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ เรื่อง “จินตนาการใหม่ ภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทย” วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมฟูราม่า จังหวัดเชียงใหม่.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *