บริบทการเมืองเกาหลีใต้

“ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้” (The Republic of Korea) แต่เดิมมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนกระทั่งประเทศญี่ปุ่นเข้าปกครองใน ค.ศ. 1910 – 1945 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาจึงได้เข้าปกครองประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945- 1948 และสหรัฐอเมริกาได้มอบเอกราชให้แก่ประเทศเกาหลีใต้ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1948 และถือเอาวันนี้ เป็นวันชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เรียกว่า “สาธารณรัฐเกาหลี” (The Republic of Korea) โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีประธานาธิบดี (President) ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุข และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในการบริหารประเทศ

ประเทศเกาหลีใต้มีระบบสภาเดียว คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (National Assembly) และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมานับแต่นั้นมา หลังจากการได้เอกราชประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน และผ่านความรุนแรงมาไม่น้อย รวมทั้งผ่านความพยายามในการจัดการลงโทษผู้ที่กระทำการรัฐประหาร และปราบปรามการชุมนุมอย่างไม่ค่อยปรากฏในประเทศอื่น และเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยน (Transitional justice)

นับจากประเทศเกาหลีใต้ได้รับเอกราชในปี 1948 ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านการชุมนุมประท้วงมาอย่างมากมาย การชุมนุมของประเทศเกาหลีใต้เป็นการชุมนุมที่มีความหลากหลายทั้งเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การชุมนุมเพื่อเรียกร้องค่าแรง และสวัสดิการแรงงานที่ไม่เป็นธรรม การชุมนุมในประเทศเกาหลีใต้เกิดขึ้นเป็นระยะนับแต่ประเทศได้เอกราชมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1960 โดยนาย ชิง มัน รี ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนั้น และถูกกล่าวหาว่า โกงการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะ รัฐบาลจึงได้ใช้กำลังตำรวจในการเข้าจัดการกับผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “การปฏิวัติเดือนเมษายน” (April Revolution) เป็นการชุมนุมเพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดี ซิง มัน รี และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1960 การชุมนุมครั้งนี้ ประธานาธิบดี ซิง มัน รี ได้ประกาศกฎอัยการศึก และทหารได้ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้หันไปเข้าข้างนักศึกษา โดยไม่มีการจับกุมผู้ชุมนุมตามคำสั่ง ทำให้ประธานาธิบดี ซิง มัน รี ลาออกจากตำแหน่งในที่สุด หลังจากการลาออกของประธานาธิบดี ซิง มัน รี ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศ และให้ประธานาธิบดีเป็นเพียงผู้นำประเทศ และผู้นำกองทัพ

ในปี ค.ศ. 1961 ประเทศเกาหลีใต้ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 โดยนายพล ปัก จุง ฮี ซึ่งต่อมาได้ลาออกจากกองทัพเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และในที่สุด นายพล ปัก จุง ฮี ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1963 และได้รับเลือกอีกในวาระที่ 2 ค.ศ. 1967 (ประธานาธิบดีเกาหลีที่ครองอำนาจนานที่สุด “นายพล ปัก จุง ฮี”)

หลังจากการสังหารนายพล ปัก จุง ฮี ที่ประชุมแห่งชาติเพื่อการรวมประเทศ (National Congress for Unication – NCU) ได้เลือกนาย ซอย คิว ฮา (Choi Kyu-hah) ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีแทน แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1979 นายพล ชุน ดู ฮวาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายพล โร แดวู ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากนายพล ชุง เชือง ฮวา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยนาย ซอย คิว ฮา ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นเดิม ภายหลังการรัฐประหารได้มีการประกาศกฎอัยการศึก และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับยูชิน

การรัฐประหารนายพล ชุน ดู ฮวาน ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ชาวเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก มีการเรียกร้องให้มีการใช้รัฐธรรมนูญ และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว จนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง นักศึกษาได้ออกเดินขบวนเรียกร้องให้นายพล ชุน ดู ฮวาน ลาออก และยกเลิกกฎหมายอัยการศึก จนนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกไปทั่วประเทศในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ซึ่งมีผลให้มหาวิทยาลัยถูกสั่งปิด รัฐสภาถูกยุบ รวมถึงห้ามมีการแสดงกิจกรรมทางการเมือง และมีการจับกุมผู้นำทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม คือ นาย คิม แด จุง จนนำไปสู่การประท้วงและเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเกาหลีใต้ มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายมากมาย ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “การสังหารหมู่ที่กวางจู” เหตุการณ์ความรุนแรงทำให้ประธานาธิบดี ซอย คิว ฮา ประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1980 และนายพล ชุน ดู ฮว่าน ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ใน ปี ค.ศ. 1981 ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี ชุน ดู ฮวาน มีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ มีการปราบปรามการชุมนุมผ่านการใช้กำลังเข้าปรามปราม ผ่านการจับกุมผู้นำการชุมนุม และที่สำคัญมีการปราบปรามผู้ชุมนุมผ่านการประกาศใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายสร้างความสงบในสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษนักศึกษาที่ก่อการประท้วง จนกระทั่ง เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งสำคัญในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1987 คือ “การลุกขึ้นสู้ในเดือนมิถุนายน” มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกว่า 1.5 ล้านคน การปราบปรามการชุมนุมในครั้งนี้มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก จนทำให้ นาย ชุน ดู ฮวาน ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นการปิดฉากบทบาทของผู้บัญชาการทหารสูงสุดจนถึงประธานาธิบดีของนาย ชุน ดู ฮวาน ลง

“การลุกขึ้นสู้ในเดือนมิถุนายน”  เป็นการชุมนุมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเกาหลีใต้ไปเป็นอย่างมาก ภายหลังจากการลงจากตำแหน่งของนาย ชุน ดู ฮวาน ประชาธิปไตยของประเทศเกาหลีใต้ได้ดำเนินต่อไป และเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเผด็จการทหาร สู่รัฐบาลพลเรือน มีการพัฒนาประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า

จะเห็นได้ว่า ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ (The Republic of Korea) ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองต่าง ๆ มาไม่น้อย เหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของเกาหลีใต้ คือ “การสังหารหมู่ที่กวางจู” (Gwangju Massacre) ในปี 1980 โดยการสังหารหมู่ที่กวางจูนำโดยนายพล ชุน ดู ฮวาน ผู้ที่สั่งการให้ทหารเข้าใช้กำลังควบคุมสถานการณ์ที่เมืองกวางจู จนกลายมาเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก หลังเหตุการณ์ “การสังหารหมู่ที่กวางจู” รวมถึงเมื่อได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายพล ชุน ดู ฮวานได้ทำการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้นำรัฐบาล และกองทัพ ภายหลังจากที่นายพล ชุน ดู ฮวาน ลงจากตำแหน่งได้มีความพยายามในการเรียกร้องให้มีการลงโทษอดีตประธานาธิบดี ชุน ดู ฮวาน ต่อการกระทำผิดที่เกิดขึ้นที่เมืองกวางจู จนปี 1995 ได้มีการผ่านกฎหมายฉบับใหม่ ชื่อว่า “กฎหมายพิเศษเพื่อพิจารรณาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยวันที่ 18 พฤษภาคม” (the Special Act Concerning the May 18 Democratizaion Movement) จนนำไปสู่การพิจารณาลงโทษประหารชีวิตนายพล ชุน ดู ฮวาน ต่อความผิดในข้อหากบฏ

ขอบคุณที่มา : ฆาตกร (ไม่) ลอยหน้า คนสั่งฆ่า (ไม่) ลอยนวน : บทเรียนจากเกาหลีใต้. นิฐิณี ทองแท้. หนังสือประมวลบทความในการประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ. (2563)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *