“Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQ ทั่วโลก

หลายประเทศทั่วโลกมีการเดินขบวนเฉลิมฉลองเทศกาลไพรด์นี้อย่างคึกคัก เพื่อสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ “LGBTQ” อันได้แก่ กลุ่มหญิงรักหญิง (Lesbian) ชายรักชาย (Gay) บุคคลที่รักสองเพศ (Bisexual) บุคคลข้ามเพศ ซึ่งมีอัตลักษณ์ของเพศวิถี หรือการแสดงออกทางเพศตรงกันข้ามกับอัตลักษณ์ของเพศโดยกำเนิด (Transgender/Transsexual) บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบเลื่อนไหล (Queer) และบุคคลที่มีภาวะเพศกำเนิดทั้ง 2 เพศ (Intersex)

“Stonewall Inn” จุดกำเนิดของ “Pride Month”

ย้อนไป 50 ปีก่อน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ณ จุดกำเนิดของ “Pride Month” กว่าที่กลุ่ม LGBTQ จะได้รับการยอมรับเช่นทุกวันนี้ การรักเพศเดียวกันในช่วงเวลานั้น ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา และการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็เป็นสิ่งที่สังคมไม่อาจยอมรับได้ แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในยุคนั้น ก็มีพื้นที่ในการเปิดเผย และแสดงความเป็นตัวของตัวเองพื้นที่เล็ก ๆ ในบาร์แห่งหนึ่งกลางกรุงนิวยอร์กที่ชื่อว่า “Stonewall Inn” แม้จะมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมหากตำรวจเข้าตรวจค้นก็ตาม

เช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) เจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กได้เข้าตรวจบาร์ “Stonewall Inn” ตามปกติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเช้ามืดวันนั้น คือ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในบาร์ ซึ่งแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดได้ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่จนเกิดเป็นเหตุจลาจลที่ขยายวงกว้างออกมาบนถนนบริเวณหน้าบาร์ คำว่า “Gay Power!” ถูกส่งเสียงตะโกนกึกก้องในเช้ามืดวันนั้น แม้เหตุการณ์ในวันนั้นจะยุติลง แต่คืนต่อมาจำนวนผู้ชุมนุมที่ออกมาร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพทางเพศก็เพิ่มมาขึ้นหลายพันคน และกลายเป็นเหตุการณ์จลาจลครั้งสำคัญที่ส่งเสียงเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศไปยังคนทั่วโลก

เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลในวันนั้น ปีต่อมมา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ได้มีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรกที่กรุงนิวยอร์ก และเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา อาทิ ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก โดยในปี ค.ศ. 2000 โดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ประกาศให้ในเดือนมิถุนายนเป็น “เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์ และเลสเบี้ยน” (Gay & Lesbian Pride Month) และ

ในอีก 9 ปีต่อมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น “เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ” (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) อันได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายที่มีเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

มิถุนายนของทุกปี จึงกลายเป็นเดือนสำคัญแห่งการเฉลิมฉลองสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในเมืองใหญ่ ๆ ของหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว ปัจจุบัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยมักจัดกิจกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันที่มีการจัดกิจกรรมพาเหรด “Chiangmai Pride” ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่บางส่วนที่มองว่า กิจกรรมของกลุ่ม LGBTQ ไม่เหมาะสม จนงานต้องยุติลง นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีการจัดงาน “IDAHOT” (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia) หรือ “วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ” ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปีด้วย

ประเทศไทยกับสิทธิด้านวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

ประเทศไทยมีพัฒนาการการยอมรับเรื่องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2560 ระบุว่า “สิทธิด้านวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ” ที่ได้รับการคุ้มครองในประเทศไทยเกี่ยวข้องกับหลักการ 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ หลักการสำคัญที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principle) ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นความโน้มเอียงทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเน้นหลักการไม่เลือกปฏิบัติและไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิด้านวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศเป็นสำคัญ ส่วนที่สอง คือ หลักการสำคัญตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะในมาตรา 4 และมาตรา 27 รวมทั้งกฎหมายภายในประเทศฉบับต่าง ๆ อาทิ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามสร้างมาตรการและแนวทางในการคุ้มครองสิทธิด้านวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เช่น การบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในบางกลุ่มสังคมวัฒนธรรมยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและมีอุปสรรคในการเข้าถึงความเป็นธรรม โดยรายงานฉบับดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ที่น่าสนใจใน 5 มิติ สรุปได้ดังนี้

มิติที่หนึ่ง การกระทำหรือการกำหนดให้เป็นความผิด จากการตรวจสอบข้อบททางกฎหมายยังไม่พบการกระทำหรือการกำหนดในลักษณะดังกล่าว แต่ทว่า พบลักษณะของการตีความที่ส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติในทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีคำนิยาม “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ที่มุ่งคุ้มครองชาย หญิง และผู้มีการแสดงที่แตกแต่งจากเพศโดยกำเนิด แทนที่จะมุ่งคุ้มครองเฉพาะผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนั้น หมวด 3 การตรวจสอบการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ มาตรา 17 วรรคสอง ของกฎหมายฉบับนี้ยังเปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติได้ด้วยเหตุผลตามหลักการทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น

มิติที่สอง การกระทำหรือการกำหนดให้เป็นการตีตราหรือเหมารวม พบว่า ยังมีสื่อที่ตอกย้ำภาพต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในลักษณะเหมารวม เช่น ภาพตัวแทนของกลุ่มชายรักชายมักจะสื่อในทางกามารมณ์ หรือความหมกมุ่นเรื่องเพศ โรคเอดส์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และอาชญากรรมต่าง ๆ

มิติที่สาม การยอมรับทางกฎหมายที่มีการแสดงวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ พบว่า มีกฎหมายที่มีการแสดงวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศอยู่บ้าง เช่น พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แต่ก็ยังไม่ครอบครองในภาพรวม และยังไม่มีการปรับปรุง แก้ไข กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีผู้ต้องขังชายซึ่งเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศและมีสรีระร่างกายเป็นหญิง ถูกควบคุมตัวร่วมกับผู้ต้องขังชายภายในเรือนจำ ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย

มิติที่สี่ การยอมรับหรือการอยู่ร่วมกับวิถีวัฒนธรรมอื่น ๆ พบว่า บุคคลที่แสดงวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศสามารถดำเนินวิถีชีวิตและประกอบอาชีพหรือได้รับการจ้างงานในอาชีพที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อบันเทิงซึ่งผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ นักแสดง หรือนักร้อง อย่างไรก็ตาม ยังมีการเลือกปฏิบัติในเชิงระบบในด้านอื่น ๆ ทั้งการเข้าถึงโอกาสในการศึกษา การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ การสมัครงาน การเข้ารับราชการหรือการประกอบอาชีพบางประเภท ตลอดจนการแต่งกายตามวิถีทางเพศในการรับปริญญา

มิติที่ห้า ความรู้ ความเข้าใจต่อวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ พบว่า ประชาชนบางส่วนยังคงมีทัศนคติซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่มีการติดป้ายประกาศหน้าห้องสุขาว่า “เพศที่สามไม่ใช้ห้องน้ำผู้หญิง” ด้วยเหตุผลที่เกรงว่า จะมีผู้เจตนาไม่สุจริตแอบอ้างเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาใช้บริการห้องน้ำผู้หญิงเป็นเหตุให้มีการจัดทำสุขาเฉพาะสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ ยังพบว่า หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานสุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ยังมีเนื้อหาที่มีอคติทางเพศ เช่น การระบุว่า ประชากรมีเพียงสองเพศ คือ ชายและหญิง หรือการกำหนดให้การแสดงออกที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ

50 ปีที่ผ่าน นับแต่เกิดเหตุจลาจล Stonewall Inn กลางกรุงนิวยอร์ก แม้ผู้มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันจะได้รับการยอมรับจากสังคมขึ้นมาก และสามารถแสดงออกซึ่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ของตนได้อย่างเปิดเผยในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังต้องเผชิญกับอคติของสังคมที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ตีตรา และตอกย้ำบทบาทของพวกเขาตามที่สังคมคาดหวัง เช่น บทบาทการเป็นตัวตลก รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยยังคงถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ ทำให้ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมและมีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ

ธงสีรุ้งสดใสที่ประดับประดาขบวนพาเหรดของชาว LGBTQ ในเดือนมิถุนายนนั้น แฝงไว้ซึ่งเรื่องราวแห่งการต่อสู้ในอดีตและอนาคตแห่งความหวัง เช่นนี้แล้ว “Pride Month” หรือ “เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ” จึงมิควรเป็นเพียงช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่ควรเป็นช่วงเวลาที่สังคมได้ร่วมกันตระหนักถึงสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของเพื่อนร่วมโลกที่จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมเสมอหน้ากัน แม้จะต่างกันด้วยวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ[1]


[1] ขอบคุณที่มาบทความ จากมุมมองสิทธิ์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6 จาก https://www.tiwang.go.th/fileupload/63492june06.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *