LGBT สิทธิมนุษยชน และการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัว

เมื่อกล่าวถึงคำว่า LGBT อาจจะมีหลายท่านที่ไม่คุ้นเคยกับคำว่า LGBT และอาจจะสงสัยว่า ย่อมาจากอะไร มีความหมายอย่างไร รวมทั้งมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการทำงานด้านสตรีและครอบครัวอย่างไร

คำว่า LGBT ย่อมาจาก Lesbian Gay Bisexual and Transgender (หญิงรักหญิง ชายรักชาย ผู้ที่รักสองเพศ และผู้ที่ข้ามเพศ) แปลโดยรวมในภาษาไทย หมายถึง กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (gender diversity) หรือกลุ่ม เพศที่สาม LGBT เป็นคำศัพท์และแนวคิดที่พัฒนาในประเทศตะวันตกในช่วงทศวรรษที่ 20 โดยอธิบายถึงผู้ที่มีความชอบและการแสดงออกทางเพศอีกกลุ่มหนึ่ง นอกเหนือจากกลุ่มคนที่รักต่างเพศ (heterosexual) นอกจากนั้น ยังมีคำศัพท์อื่นที่ใช้เรียกกลุ่ม LGBT เช่น Queer ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่พัฒนาขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีผู้นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับ LGBT

Lesbian หมายถึง ผู้หญิงที่มีความสนใจและพึงพอใจทางเพศกับผู้หญิง

Gay หมายถึง ผู้ชายที่มีความสนใจและพึงพอใจทางเพศกับผู้ชาย

Bisexual หมายถึง ผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีความสนใจและพึงใจทางเพศทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ

Transgender หมายถึง บุคคลที่มีความรู้สึกความชอบ และการแสดงออกทางเพศตรงข้ามกับเพศทางชีวิวิทยาหรือเพศที่มีโดยกำเนิด

Transmen / Transwomen คือ ผู้ที่แปลงเพศ

หลังจากการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ทั่วโลกได้นำปฏิญญาดังกล่าวเป็นแนวทางในการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมักถูกนำเสนอออกมาในเชิงลบ เช่น เป็นผู้ที่มีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง ก้าวร้าว นอกจากนั้น สังคมยังกีดกันสิทธิหรือโอกาสความก้าวหน้าในการพัฒนาตนเอง ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจาก อคติความเชื่อที่ไม่ถูกต้องต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การกีดกันในการรับตำแหน่งบริหารระดับสูง

จากสถานการณ์การละเมิดสิทธิต่าง ๆ ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาคมโลกเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

หลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles) จึงได้ถูกกำหนดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศจากทั่วโลก เพื่อเป็นมาตรฐานการปฏิบัติในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยใช้บรรทัดฐานจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งหลักการดังกล่าวได้ ครอบคลุมถึงสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศพึงมีพึงได้ เช่น สิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับคนทั่วไป สิทธิที่จะได้รับการปกป้องจาก การซื้อขายมนุษย์ทุกรูปแบบ สิทธิในการประกอบอาชีพ และสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก

ในส่วนของประเทศไทย สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 30 ซึ่งเน้นถึงหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 30 ได้ระบุถึงการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้คำอธิบายว่าเพศ หมายรวมถึง ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือว่า เป็นความก้าวหน้าของกฎหมายไทยที่ได้ระบุถึงความหลากหลายทางเพศในกฎหมายสูงสุดของประเทศ อีกทั้งในสังคมไทยโดยทั่วไปไม่ได้มีการต่อต้านกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่รับรองและให้ความคุ้มครองเฉพาะแก่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิการสมรส

ในฐานะที่สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกละเมิดและรัฐควรให้การคุ้มครอง ดังนั้น ในการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นสิทธิมนุษยชนควรตระหนักว่า กลุ่มเป้าหมายในการทำงานไม่ได้มีเพียงแค่หญิงหรือชายเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศรวมอยู่ด้วย ซึ่งมีปัญหาความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างจากบุคคลอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ในการส่งเสริมความเสมอภาค หญิงชายควรคำนึงถึงมิติหญิงชายที่ไม่จำกัด แค่ความเป็นหญิงหรือชาย และควรคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงที่มีความหลากหลายเพศ เช่น กลุ่มหญิงรักหญิง หรือผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ผู้หญิงที่สมรสกับสามีที่เป็นเกย์ ซึ่งจะทำให้การกำหนดนโยบาย โครงการ กิจกรรมมีความครอบคลุมถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ มากขึ้น สำหรับการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ควรคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ มากขึ้น สำหรับการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ควรคำนึงถึงรูปแบบของครอบครัวที่มีความแปรเปลี่ยนไป ในปัจจุบันมีกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวมากขึ้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวก็มีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างไปจากครอบครัวต่างเพศ ถึงแม้ในทางกฎหมายกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้การรับรอง แต่การดำเนินการเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ เช่น การกำหนดแนวทางในการให้บริการที่คำนึงความหลากหลายทางเพศในกรณีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวแก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

ท่ามกลางสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย การเคารพและยอมรับสิ่งที่แตกต่างหลากหลายอย่างมีความเข้าใจ เป็นพื้นฐานในการทำงานที่คำนึงถึงกลุ่มคนที่มีสภาพปัญหา ความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่าง จะทำให้การทำงานเกิดประโยชน์สามารถกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงแก่ประชากรกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ LGBT สิทธิมนุษยชนและการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัว โดยพีรดา ภูมิสวัสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการ สำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *