AESEAN Gay Rights บทบาทรุกหรือรับ

อาเซียนเป็นภูมิภาคมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม การสร้างความเป็นหนึ่งภายใต้ความหลากหลาย หรือ unity in diversity จะเป็นหลักการสำคัญในการลดความขัดแย้งต่าง ๆ ทั้งในระดับระหว่างประเทศ ภายในประเทศ และระดับบุคคล

ประเด็นความแตกต่างในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ถือได้ว่า มีความสลับซับซ้อนกัน คือ ประเด็นของความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity) กลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีจะชื่อเรียกแตกต่างกันไป อาทิเช่น บุคคลที่มีอัตลักษณ์และมีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่ากลุ่ม LGBT (Lesbian , gay, bisexual and transgender) และในหลายประเทศอาเซียน กลุ่มคนดังกล่าวนี้จะต้องเผชิญปัญหาของการถูกกดขี่ทารุณ ต่อต้านและการกีดกันจากสังคมภายนอก ซึ่งบางประเทศมีกฎหมายลงโทษคนรักร่วมเพศ โดยมีการโบยตีหรือโทษจำคุกขั้นสูงสุดถึง 20 ปี และในบางประเทศกระทรวงศึกษาธิการก็ได้จัดทำคู่มือบ่งชี้ลักษณะอาการของคนรักร่วมเพศสำหรับให้ผู้ปกครองหรือครูใช้เพื่อปกป้องเด็กจากกลุ่มคนรักร่วมเพศ

ในเวทีสหประชาชาติ การผลักดันเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ มีพัฒนาการที่ดีและมีนัยสำคัญ ในปี พ.ศ. 2554 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ รับรองข้อมติที่ 17/19 ซึ่งเห็นชอบให้มีการศึกษากฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลตามวิถีทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่แสดงบทบาทในเชิงรกในการรับรองข้อมติฉบับนี้ ทั้งนี้ อาเซียนยังไม่มีการดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจังในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศในปฏิญญาอาเซียนว่า ด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งผ่านการรับรองของผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ปฏิญญาฯ มิได้มีมาตราระบุเรื่องการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนดังกล่าวโดยตรง มีเพียงข้อความที่กล่าวถึงสิทธิในการสร้างครอบครัวระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น และว่าครอบครัวเป็นหน่วยทางธรรมชาติ (natural unit) เช่นเดียวกับที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับปี พ.ศ. 2491

นักสิทธิมนุษยชนรวมถึงภาคประชาสังคมมองว่า ครอบครัวเป็นนิยามและหน่วยทางสังคม (social unit) และเห็นว่า สังคมปัจจุบันมีรูปแบบการสร้างครอบครัวที่แตกต่างจากสมัยก่อน กล่าวคือ การที่สตรีเลือกที่จะมีบุตรโดยเลือกที่จะไม่แต่งงาน ก็ถือว่า สตรีคนนั้นได้เลือกที่จะสร้างครอบครัวแล้ว หรือการที่บุคคลที่มีเพศเดียวกันเลือกที่จะใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่แต่งงาน ก็ถือว่า เป็นการสร้างครอบครัวเช่นเดียวกัน ซึ่งการกล่าวถึงความหมายของการสร้างครอบครัวในปฏิญญาอาเซียนว่า ด้วยสิทธิมนุษยชนว่าเป็นสิทธิระหว่างชายกับหญิงนั้น มีนัยที่กระทบต่อสิทธิทางสังคม ซึ่งอาจหมายถึง การให้ความปลอดภัยทางสังคมแก่ครอบครัวของผู้ที่มีเพศเดียวกัน นอกจากนี้ การขาดมาตราการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือการเข้าใจที่ว่าสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศนับเป็นกลุ่มเปราะบาง (vulnerable group) จะเป็นการเปิดช่องว่างทางกฎหมายให้มีการกระทำรุนแรง รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่งในกระบวนการยกร่างปฏิญญาฉบับนี้ ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ไทยได้พยายามที่จะเสนอถ้อยคำ ซึ่งเน้นการเคารพและปกป้องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ รวมทั้งระบุว่า สิทธิในการสมรสเป็นสิทธิของทุกคน โดยไม่ระบุเจาะจงถึงเพศหรือกายวิภาคของผู้ที่จะสมรส อย่างไรก็ดี แรงต้านจากหลายประเทศอาเซียนในเรื่องนี้ ทำให้ข้อเสนอของไทยไม่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ดี สามารถพูดได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามและพัฒนาการที่สำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ไทยจะต้องผลักดันและโน้มน้าวต่อไป

การผลักดันการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศในกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงมีความจำกัดอยู่ในภาคประชาสังคมในกลุ่มเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะดำเนินกิจกรรมในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความหลากหลายทางเพศ และการป้องกันโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคติดต่อทางเพศอื่น ๆ ในกลุ่มของคนรักร่วมเพศ ล่าสุดนี้กลุ่มหลากหลายทางเพศในประเทศอาเซียนก็ได้รวมกันผลักดันในประเด็นเรื่องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ และการทำงานของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่จะต้องฝ่าฝันอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะการที่จะไม่ยอมรับของกลุ่มศาสนาและจากคนในสังคมในวงกว้าง การผลักดันนี้จะต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ โดยจะใช้สื่อที่เหมาะสม อาทิเช่น การใช้ภาพยนตร์ เช่น การจัดนิทรรศการภาพยนตร์ที่รวมความหลากหลายทางเพศ (ASEAN LGBTIQ Film Festival) ในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2555 ที่ จังหวัด เชียงใหม่ ซึ่งภาพยนตร์นี้จะสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนรวมถึงวิถีชีวิตของกลุ่มหลากหลายทางเพศ และจะสะท้อนถึงปัญหาที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะต้องประสบในการดำรงชีวิต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยเป็นที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติในเวทีการประกวดภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น เรื่อง Beautiful Boxer และ Out of the Box ในฝรั่งเศส สเปน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและควรที่จะสนับสนุนต่อไป

การรณรงค์และการผลักดันในประเด็นเรื่องสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ควรจะเริ่มจากการศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาประเด็นหลักที่มีความประสงค์จะผลักดัน ซึ่งที่ผ่านมาสังคมตะวันตกจะให้ความสำคัญกับการผลักดันในเรื่องสิทธิในการสมรส ซึ่งประเด็นนี้ดังกล่าวยังไม่เป็นที่จะยอมรับในวงกว้างในสังคมตะวันตก ถึงแม้ว่า จะมีวัฒนธรรมที่มีความเป็นเสรีนิยมกันก็ตาม ในปัจจุบันมีเพียง 11 ประเทศเท่านั้นที่ด้อนุญาตให้เพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ ซึ่งอาเซียนอาจจะไม่พร้อมที่จะหารืออย่างจริงจังในเรื่องนี้ ด้วยเนื่องจาก หลายประเทศอาเซียนต่างก็มีกฎหมายศาสนาที่มีอำนาจเหนือกฎหมายพลเมือง ดังนั้น ในกลุ่มหลากหลายทางเพศอาจจะผลักดันการปกป้องความรุนแรงและการเลือกที่จะปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในสถานที่ทำงาน ซึ่งก็จะดำเนินการได้สะดวกกว่าในช่วงระยะเวลานี้

การผลักดันการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ยังเป็นเรื่องท้าทายในหลายประเทศอาเซียน การดำเนินการโดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อหรือที่เรียกว่า การต่อสู้ทางการเมืองโดยวิธีทางอ้อมจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ การสร้างความเข้าใจและการยอมรับในสถาบันครอบครัวก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสร้างเกราะคุ้มกันจากการเลือกปฏิบัติได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งภาครัฐและทุกภาคส่วน จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิกลุ่มความหลากหลายทางเพศ[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ASEAN Gay Rights บทบาทรุกหรือรับ โดยภาโณตม์ ปรีชาญานุต https://image.mfa.go.th/mfa/0/OcXc7u4THG/migrate_directory/asean-media-center-20130121-105419-044348.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *