Portrait of gorgeous mature European female with short hairstyle relaxing at home sitting at table in living room crossing arms on chest trying to warm up in cozy cashmere turtleneck sweater, smiling

ข้อมูลที่นำมาเขียนในบทความนี้ มาจากหนังสือ “วัยทอง (ฉบับปรับปรุง)” ของแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข พิมพ์ครั้งที่ 6 ตามที่ได้เล่ามา แอดมินได้รับการผ่าตัดมดลูก รังไข่แล้ว รอดูอาการหรือจากการตัดรังไข่ จึงได้เริ่มหาซื้อมาหนังสือมาอ่านเป็นความรู้ เพราะคุณหมอที่ดูแลอยู่บอกว่า รอดูอาการว่าเป็นมากหรือน้อย จะรับได้รึเปล่า รับไม่ได้ก็ไปพบคุณหมออีกครั้ง เพื่อเริ่มการปรึกษาเพื่อรับฮอร์โมน แต่คุณหมอก็แจ้งเรื่องผลของการรับฮอร์โมน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่แอดมินจึงต้องเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการวัยทอง และการรับฮอร์โมน ซึ่งในหนังสือมีเรื่องของ 24 อาการวัยทอง หรือโรคที่อาจแทรกซ้อนทำให้เกิดอาการคล้ายวัยทอง จึงได้นำมาเผยแพร่ต่อเพื่อผู้ที่สงสัยอาการของตนเองว่า มีอาการของวัยทองรึเปล่า เพราะในหนังสือคุณหมอได้เขียนอธิบายบอกเล่าอาการวัยทอง และอาการที่คล้ายกันมาด้วย อย่างไรก็ดี หากมีอาการที่คล้ายคลึงกันนี้ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องกันนะคะ

อาการที่ 1 ร้อนวูบวาบซู่ขึ้นตามเนื้อตัว เหงื่อไหล

หากเกิดจากวัยทอง อาการนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ ร้อนซู่ขึ้นมาทันทีทันใด เป็นมากที่ใบหน้าและร่างกายส่วนบน ตามมาด้วยอาการเหงื่อไหลย้อยในตอนกลางคืน ประเภทใครร้อนเราหนาว ใครหนาวเราร้อน ดังนั้น จึงต้องปิดเปิดแอร์หรือพัดลมทั้งคืน เหงื่อไหลมากและร้อนจนนอนไม่หลับ (จริง ๆ อาการนี้ก็เกิดขึ้นกับแอดมินเช่นกัน)

ผู้หญิงไทยมีอาการนี้น้อยกว่าคนอเมริกัน เชื่อว่า อาจเพราะอาหารการกิน สิ่งแวดล้อม ค่านิยมของสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้ชาวเอเชียรวมทั้งคนไทยเห็นการหมดประจำเดือนเป็นเรื่องของธรรมชาติ

อาการร้อนจะเป็นวูบ ๆ หากวันหนึ่งวูบเกิน 5 ครั้ง มักจะทนไม่ไหว หากร้อนวูบวันหนึ่งเกิน 10 ครั้ง จะมีอาการเหมือนคนเป็นโรคประสาท กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง

อาการร้อนวูบวาบเป็นอาการที่รุนแรงจนต้องมาพบแพทย์ และเป็นอาการของวัยทองที่ทำให้ผู้หญิงมาพบแพทย์มากที่สุด รวมทั้งสถิติของผู้หญิงไทยด้วย

ข้อควรระวัง : อาการนี้คล้ายคลึงกับอาการเครียด วิตกกังวล โรคต่อไทรอยด์เป็นพิษ ติดสุรา และการรับประทานยาต้านฮอร์โมน

อาการที่ 2 รู้สึกใจเต้นเร็ว แรง

อาการนี้เป็นอาการที่เจอมากเป็นอันดับ 2 ใจสั่นมักเกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่อาจห้ามได้ด้วยตนเอง ทำให้กลัว วิตกกังวล ยิ่งกลัว ยิ่งเป็นมาก บางครั้งรู้สึกหัวใจจะหยุดเต้น มักสัมพันธ์กับอาการนอนไม่หลับ

ข้อควรระวัง : อาการนี้คล้ายคลึงกับโรคเครียด โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และโรคหัวใจ

อาการที่ 3 อารมณ์สวิงสวาย ขี้บ่น ไม่แน่ไม่นอน เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ร้องไห้ง่าย

คนวัยทองที่ตกอยู่ในอารมณ์นี้มักใจน้อย ร้องไห้ฟูมฟายง่ายทั้ง ๆ ที่ไม่มีเรื่องที่ควรจะเศร้าเสียใจ อาการนี้ทำให้ซึมเศร้า กังวล กลัวใครไม่เข้าใจ น้อยใจ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จนอาจคิดฆ่าตัวตายได้ในบางราย

ข้อควรระวัง : อาการนี้คล้ายคลึงกับอาการวิตกจริต ซึมเศร้า

อาการที่ 4 นอนไม่หลับ แม้ไม่มีอาการร้อนวูบวาบ

งานวิจัยพบหญิงวัยทอง 6 ใน 10 รายต้องต่อสู้กับอาการนอนไม่หลับจนได้รับความทุกข์ทรมาน มักเกิดขึ้น 5 – 7 ปีก่อนจะหมดประจำเดือนจริง ๆ

ข้อควรระวัง : อาการนี้คล้ายคลึงกับอาการเครียด วิตกกังวลอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมในการนอนไม่เหมาะสม รับประทานสารกระตุ้นประสาท เช่น กาเฟอีน (มีในน้ำชา กาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ยาแก้หวัด ยากระตุ้นประสาท) หรืออาจมีสาเหตุจากโรคทางกายและการรับประทานยาบางชนิด

อาการที่ 5 ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มาบ่อย มาน้อยลง นาน ๆ มาครั้ง แต่มามากกว่าเดิม หรือขาดหายไป

ข้อควรระวัง : หากมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น มามาก หรือกะปริกะปรอย ต้องระมัดระวังว่า อาจไม่ใช่อาการวัยทอง แต่อาจเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งภายใน ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์โดยด่วน

อาการที่ 6 ความสนใจทางเพศลดลง

หญิงวัยทองครึ่งต่อครึ่งลดความสนใจทางเพศลง จากผลของการที่ฮอร์โมนเพศลดลง ความเครียดทั้งภายใจ และความเสื่อมของระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติที่เกิด ได้แก่ ไม่มีอารมณ์ ไม่สามารถเล้าโลมได้ น้ำหล่อลื่นน้อย ช่องคลอดแห้ง เจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ถึงจุดสุดยอด ยิ่งมีอาการยิ่งกลัว จึงส่งผลให้ยิ่งลดความสนใจทางเพศมากยิ่งขึ้นไปอีก

ข้อควรระวัง : อาการนี้อาจเป็นอาการเตือนว่า มีความผิดปกติซ่อนอยู่ เช่น เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขข้อ ฯลฯ หรือเป็นผลจากการรับประทานยารักษาโรค และอาจเกิดจากปัญหาทางจิตใจ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ที่ควรต้องรีบรักษา

อาการที่ 7 ช่องคลอดแห้ง น้ำหล่อลื่นน้อย

เกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศเอสโทรเจน ส่งผลให้ผนังช่องคลอดบางลง ต่อมน้ำหล่อลื่นไม่ทำงาน ทำให้คัน เจ็บแสบช่องคลอด และมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น

ข้อควรระวัง : อาจเป็นโรคภายใน เช่น โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ ติดเชื้อรา

อาการที่ 8 ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

โดยทั่วไปเมื่ออายุมากขึ้นยิ่งพบอาการนี้มากขึ้น เชื่อว่า สาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจน

ข้อควรระวัง : อาการปวดกล้ามเนื้อด้านหลังหรือด้านข้าง อาจจะเป็นโรคไต เช่น ไตอักเสบ ไตบวมน้ำ ฯลฯ

อาการปวดกล้ามเนื้อตามร่างกายและคลำพบก้อน อาจจะเป็นเนื้องอกหรือเนื้อร้ายของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การปวดเมื่อยังอาจสัมพันธ์กับความเครียดและการนอนไม่หลับได้ด้วย

อาการที่ 9 เครียด ซึมเศร้า กลัว

เชื่อว่า เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนลดระดับลง จะสามารถเกิดอาการเหล่านี้ได้ อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และไม่สามารถควบคุมตนเอง คนข้างตัวจึงต้องคอยระวัง เพราะหากเป็นมากอาจนำไปสู่การคิดทำร้ายผู้อื่นหรือตนเองได้

ข้อควรระวัง : อาจเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคจิต โรคประสาท ฯลฯ

ยังไง เดี๋ยวเรามาต่อกันในบทความต่อไปนะคะ ขอขอบพระคุณที่ได้อ่านติดตามเรื่องราวกันมานะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *