ดีไซน์ที่ไม่มีชื่อ (3) (2)

สวัสดีค่ะ วันนี้เรามาต่อกันในเรื่อง 24 อาการวัยทอง ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจไม่ใช่อาการวัยทองจริง ๆ ก็ได้ ซึ่งอาจเป็นอาการที่มีลักษณะเหมือนกับอาการวัยทอง แต่ในความจริงเป็นอาการของโรคต่าง ๆ ได้ ยังไง ถ้าหากพบว่า มีอาการคล้าย ๆ กันแบบนี้ ก็ไปพบคุณหมอตรวจเช็คอาการนะคะ เพื่อการรักษาให้ถูกต้องค่ะ

อาการที่ 17 น้ำหนักเพิ่มขึ้น

คุณผู้หญิงวัยทองหลายท่านบ่นว่า กินก็น้อยลง แต่ทำไมน้ำหนักกลับเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำไขมันยังมาพอกพูนที่หน้าท้อง และสะโพกให้เอวหายไปเสียอีก อาการที่เกิดเหล่านี้ เป็นสัญญาณของวัยทอง ซึ่งเกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิง และการเผาผลาญอาหารน้อยลงไป

วิธีปฏิบัติเพื่อรับมือกับความอ้วนในวัยทอง คือ ปรับการรับประทานอาหาร กินอาหารไขมันต่ำ เน้นผักผลไม้ และออกกำลังตามที่ชอบ และถนัดเป็นประจำ

ข้อควรระวัง : อย่าชะล่าใจว่า วัยทองต้องอ้วนเป็นธรรมดา เพราะความอ้วนเองก็ทำให้เกิดอาการคล้ายวัยทอง เช่น ประจำเดือนผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อ ไขข้อ คันตามผิวหนัง ใจสั่น เจ็บหน้าอก ฯลฯ

อาการที่ 18 ผมร่วม ศีรษะล้าน

คุณผู้หญิงวัยทองจะพบว่า ผมตนเองขาดน้ำมันหล่อลื่น แห้ง กรอบ ร่วงง่าย หวีผมทีไรผมร่วงเป็นกำมือ เหล่านี้เป็นอาการขาดฮอร์โมนเพศหญิง

ข้อควรระวัง : หากผมร่วงและมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น บวม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาจจะมีโรคเรื้อรังอื่น ๆ ซ่อนอยู่ เช่น โรคตับ โรคไต โรคภูมิแพ้

อาการที่ 19 เวียนหัว เดินเซ

อาการนี้พบมากในวัยทอง เป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโทรเจน ทำให้ประสาทการรับรู้เปลี่ยนแปลงไป

ข้อควรระวัง : เป็นอาการที่ไม่น่าไว้วางใจ หากเป็นบ่อยหรือรุนแรง อาจเป็นโรคเกี่ยวกับหูหรือโรคระบบประสาทสมองได้ และควรระมัดระวังในคุณผู้หญิงที่รับประทานฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง เพราะอาจเป็นผลข้างเคียงของฮอร์โมนได้

อาการที่ 20 ร่างกายมีกลิ่นฉุน

ในคุณผู้หญิงวัยทอง ต่อมเหงื่อจะทำงานมาก ภูมิต้านทานที่แย่ลงทำให้มีแบคทีเรียที่ผิวหนังเข้าไปผสมผสาน เกิดกลิ่นฉุนเหม็น หรือบางคนเรียกกลิ่นคนแก่ได้ จะเป็นมากโดยเฉพาะบางท่านที่มีปัญหาสุขอนามัย ปัญหาเรื่องเหมือก ฟัน และระบบย่อยอาหาร

ข้อควรระวัง : อาจเป็นปัญหาโรคเหงือก ฟัน อาหารไม่ย่อย โรคมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้

อาการที่ 21 เล็บเปราะ หักง่าย

เป็นความเสื่อในคุณผู้หญิงวัยทอง การรับประทานแคลเซียมเสริมอาจทำให้อาการนี้ดีขึ้น

ข้อควรระวัง : เรื่องเล็บนี้อาจจะไม่ใช่อาการวัยทอง เนื่องจาก ความผิดปกติของเล็บอาจบ่งบอกโรคและอาการผิดปกติได้ ดังต่อไปนี้

  • ใต้ผิวเล็บมีสีซีด อาจเป็นโรคโลหิตจาง
  • เล็บมีสีดำ อาจติดเชื้อราที่เล็บ
  • เล็บมีสีม่วง สีเขียว สีน้ำเงิน อาจมีปัญหาโรคหัวใจ โรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง
  • เล็บมีสีเหลือง อาจเป็นโรคตับ ดีซ่าน
  • เล็บนูนขึ้นเหมือนช้อน อาจเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคโลหิตจาง ขาดธาตุเหล็ก
  • เล็บที่มีรอยกัดแทะ อาจเป็นโรคเครียด
  • เจ็บเล็บ อาจเกิดจากอาการอักเสบที่เนื้อข้าง ๆ เล็บ

อาการที่ 23 กินอาหารไม่อร่อย จืดปากจืดคอ

เป็นอาการของคนวัยทอง โดยเฉพาะอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เป็นปัญหาที่เกิดจากหลาย ๆ ปัญหาผสมผสานกัน เช่น ฟันไม่ดี เหงือกมีปัญหา ระบบย่อยไม่ทำงาน หูไม่ดี จมูกไม่ได้กลิ่น พบว่า อาการนี้ ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 7 เท่า

ข้อควรระวัง : หากมีแผลในปาก คอ เจ็บลิ้นรุนแรง อาจเป็นอาการอักเสบ ขาดสารอาหาร เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในช่องปาก

อาการที่ 23 หูอื้อ

ชาวบ้านเรียกอาการนี้ว่า “หูดับ” แต่อันที่จริงไม่ได้ดับสนิท แต่มักจะได้ยินเสียงไม่ปกติ อาจเป็นเสียงลมอื้ออึง เสียงแมลง เสียงกระดิ่ง เสียงระฆัง แม้แต่เสียงเพลง อาการนี้เชื่อว่า เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน

ข้อควรระวัง : อาจเป็นโรคหู โรคประสาท

การรับประทานฮอร์โมนทดแทนวัยทอง อาจจะเกิดอาการหูอื้อจากฤทธิ์ยาได้ นอกจากนั้น ยายังอาจทำให้ร่างกายบวมน้ำ เครียด ปวดหัว นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูงขึ้น โรคปวดหัวไมเกรนกำเริบ ฯลฯ

อาการที่ 24 กระดูกพรุน กระดูกหักแม้ล้มไม่รุนแรง ปวดกระดูกอย่างรุนแรง

เป็นอาการที่เกิดหลังสุดของอาการวัยทองที่กล่าวมา เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก การขาดฮอร์โมนทำให้กระดูกของผู้หญิงวัยทองหักและแตกง่าย

ข้อควรระวัง : อาจไม่ใช่อาการวัยทอง แต่เป็นภาวะกระดูกพรุนจากการขาดแคลเซียม ขาดวิตามินดี สูบบุหรี่ ชอบดื่มน้ำอัดลม ร่างกายผอมมาก ไม่ออกกำลังกายเลย

สำหรับแอดมินแล้ว หลังการผ่าตัดแล้ว ประมาณเดือนที่ 2 เริ่มมีอาการแรกคือ ร้อนวูบวาบตอนนอน รู้สึกตัวบ้างในช่วงที่ยังนอนไม่หลับ หรือขณะนั่งสวดมนต์ แต่สิ่งที่สังเกตได้ คือ ตื่นมาตอนเช้า ตัวเราจะเหนียว เหมือนมีเหงื่อออกมา จากปกติที่เรานอน คือ ก่อนนอนอาบน้ำ สวดมนต์ แล้วนอน ตื่นมา ตามร่างกาย ตัวเราจะยังสะอาดเหมือนอาบน้ำใหม่ (นอนในห้องแอร์) แต่หลังจากเริ่มมีอาการ ตื่นนอนมา ไม่สบายตัว ตัวเหนียว ทำอะไรต่อไม่ได้เลย ต้องอาบน้ำใหม่ทันที รู้สึกไม่สบายตัว คงเป็นเพราะมีเหงื่อออกในตอนนอน แต่เราไม่รู้สึกตัว คงหลับสนิท แต่มีบางช่วงที่ตื่นมาเพราะมีอาการหนาวสั่น ต้องรีบห่มผ้าห่มให้หนาขึ้น

และอาการที่เริ่มมา คือ เริ่มรู้สึก อ่อนเพลีย นอนเท่าไหร่ ก็ไม่พอ ร่างกายไม่ค่อยมีแรง เหนื่อยง่ายมาก จึงตัดสินใจไปพบแพทย์ ตรวจสุขภาพอีกครั้งในเรื่องของวัยทอง เพราะทางคุณหมอแจ้งว่า ถ้ามีอาการผิดปกติ และทนไม่ไหว ให้ไปตรวจ เผื่อต้องทานฮอร์โมน

หลังจากการตรวจสุขภาพแล้ว พบว่า มีอาการของโลหิตจาง คุณหมอก็แนะนำให้ทาน “น้ำมันปลา” ซึ่งทางเราหาซื้อทานเอง (ไม่ขอแนะนำ) ยังไง ก่อนจะทานอาหารเสริมทุกชนิดปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ อย่าซื้ออะไรทานไปเรื่อย ๆ มั่ว ๆ เพราะคำโฆษณา (แอบนอกเรื่องกันไป เพราะมีเพื่อน ๆ มาขายกันเยอะ แต่นี่ไม่คิดจะซื้อ ก็ตอบเพื่อน ๆ แบบเกรงใจไป เราอยู่ในความดูแลของหมอ) และคุณหมอก็ให้ยาบำรุงเลือดมาทานค่ะ ในส่วนของฮอร์โมน ตอนนี้ ยังไม่ได้เริ่มทาน เพราะอาการร้อนวูบ หนาวสั่น ในบางครั้ง ตัวเราเองยังพอทนได้ และยังไม่มีอาการอื่น ๆ มาให้ได้เห็นกันนะ ก็ต้องดูกันต่อไป

ในส่วนของอาหารที่คุณหมอแนะนำให้ทาน เป็นอาหารกลุ่มธัญพืช ถั่วต่าง ๆ ตอนนี้ ก็เน้นทานกลุ่มนี้ค่ะ แต่เน้นทำเอง ปรุงใหม่สดทุกวัน ตั้งแต่ ถั่วเขียวต้ม ถั่วแดงต้ม ถั่วดำต้ม ซุปงาดำ (หรืองาดำบดต้มแบบข้น) ลูกเดือยต้ม และในบางครั้งก็ตุ๋นเลยคะ เพื่อความอร่อย ถั่วเหลืองต้ม แต่อาหารที่เราทำเองโดยส่วนมาก เราแทบไม่ได้ใส่น้ำตาล เน้นแบบธรรมชาติล้วน ๆ บางคนก็อาจทานไม่ได้นะคะ เพราะลูกสาวเราก็ไม่ทาน เวลาทานลูกสาวก็จะใส่น้ำผึ้งลงไปเพิ่มความหวานนิดหน่อยค่ะ

ยังไง ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณผู้หญิงทุกท่าน ที่กำลังประสบกับอาการของวัยทองนะคะ ดูแลและรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ มีอาการอะไร ก็ขอให้ไปพบคุณหมอนะคะ อยู่ในความดูแลของคุณหมอคะ ทานยาและอาหารเสริม อาหารต่าง ๆ ตามคำแนะนำนะคะ ส่วนหนังสือ “วัยทอง (ฉบับปรับปรุง)” ของแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข แนะนำให้ลองหาซื้อมาอ่านกันนะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *