ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีวัยทอง

โรคหัวใจและหลอดเลือด หมายถึง โรคที่มีผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง หรือหลอดเลือดแข็งตัว เลือดที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การเต้นของหัวใจผิดจังหวะและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนเสียชีวิตได้ โดยโรคกลุ่มนี้จะพบในผู้ชาย 5 – 6 เท่าของสตรีวัยก่อนมีประจำเดือนที่ไม่มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ไม่เป็นโรคเบาหวานและไม่สูบบุหรี่ แต่เมื่อสตรีหมดประจำเดือนแล้ว อัตราเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจะเท่ากับชายในวัยเดียวกันและยังสูงกว่าสตรีวัยเดียวกันที่ยังไม่หมดประจำเดือน 2 – 3 เท่า

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีวัยทอง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีวัยทอง เกิดจากการลดระดับลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลให้มีระดับ Low Density Lipoprotein (LDL) ในเลือดสูงมีการสะสมไขมันเหล่านี้ที่ผนังหลอดเลือดจนเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม อายุ ภาวะโภชนาการเกินหรืออ้วน ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย และการมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

อาการและอาการแสดงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

ส่วนใหญ่โรคนี้จะไม่มีอาการและอาการแสดงให้เห็นเด่นชัด แต่อาการที่พบบ่อยสำหรับโรคนี้ คือ เหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บแค้นหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับหรือรัดบริเวณกลางหน้าอกและอาจร้าวบริเวณคอ หน้ามืด เวียนเศีรษะ

การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีวัยทองที่ดีที่สุด

การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีวัยทองที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่

  1. บริโภคอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้เกิดสมดุลของพลังงานในร่างกาย โดยสตรีวัยทองควรได้รับพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรีต่อวัน และควรรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรีต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัวชนิดทรานส์ ลดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เน้นรับประทานผักผลไม้หลากสี และบริโภคไม่ต่ำกว่า 600 กรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด (ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือบริโภคเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาหรือน้ำเปล่า ซีอิ๊ว ไม่เกิน 1.5 – 2 ช้อนโต๊ะ) อาหารขยะ อาหารจานด่วน และอาหารสำเร็จรูป
  2. หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอหรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย หมายถึง การออกแรงให้ร่างกายมีการหายใจแรงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นปานกลาง และออกต่อเนื่องเป็นเวลา 10 นาทีขึ้นในแต่ละครั้ง เช่น การทำงานบ้าน การเดินขึ้นลงบันได การทำสวน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมทางกายนี้สามารถทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน
  3. งดการสูบบุหรี่ สารนิโครตินในบุหรี่จะส่งผลให้ระดับความดันโลหิตในร่างกายสูงขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น
  4. ลดความเครียด การลดความเครียดที่ดีที่สุด คือ การทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ ซึ่งแต่ละคนจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น การออกกำลังกาย การออกไปเที่ยว การนั่งสมาธิ การทำกิจกรรมกับครอบครัว เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *