โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง

โรคกระดูกพรุน หมายถึง สภาวะที่ความหนาแน่นของกระดูกน้อยกว่าปกติ เนื่องจาก มีการสลายมากกว่าการสร้างของกระดูก หรือเป็นสภาวะร่างกายที่มีมวลกระดูกลดลง มีความแข็งแกร่งของกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกเปราะบาง แตก หัก ได้ง่าย โดยความแข็งแกร่งของกระดูกนั้น ประกอบด้วย ความหนาแน่นของกระดูก และคุณภาพของกระดูก โดยซึ่งโรคกระดูกพรุนนี้เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจาก เมื่อสตรีเริ่มมีอายุ 30 ปีขึ้นไปมวลกระดูกจะไม่มีการเพิ่มขึ้น และสลายอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน สาเหตุหนึ่งมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง เป็นปัจจัยเฉพาะที่เกิดในสตรีวัยทอง ซึ่งสามารถป้องกันหรือดูแลรักษาเพื่อชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทองได้ดังนี้

  1. ภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด นั่นคือ การหมดประจำเดือนเนื่องจาก รังไข่หยุดการทำงานก่อนอายุ 40 ปี มีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วย เช่น กลุ่มโรคภูมิต้านทานตนเอง โรคติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ ส่วนสาเหตุที่มักจะแก้ไขไม่ได้แต่สามารถดูแลรักษาได้ระยะแรก เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่ การได้รับเคมีบำบัด การรักษาด้วยรังสี เป็นต้น แก้ไขด้วยการรับประทานแคลเซียมได้
  2. ผู้ที่ประจำเดือนขาดหายไป เนื่องจาก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การได้ยาที่กดการทำงานของรังไข่เป็นระยะเวลานาน เพื่อรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ผิดที่ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ที่ออกกำลังกายเกินขนาด เช่น นักวิ่งมาราทอน นักกีฬา เป็นต้น
  3. ผู้ที่หมดประจำเดือนเร็ว คือ การหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี การแก้ไขมีความจำเป็นต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ส่วนมากจะให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
  4. ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง หรือจี้ด้วยไฟฟ้าเพื่อทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกที่ผิดปกติบริเวณรังไข่ จนไม่มีเนื้อรังไข่เหลืออยู่ การแก้ไขมีความจำเป็นต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ส่วนมากจะให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่นเดียวับผู้ที่หมดประจำเดือนเร็ว

อาการและอาการแสดงของโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง

อาการและอาการแสดงของโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทองไม่ได้เกิดขึ้นได้ในทันที ต้องอาศัยระยะเวลาช่วงหนึ่งในการสลายตัวของมวลกระดูก จนทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลงมาก ส่วนใหญ่พบในสตรีวัยทอง และมักพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายด้วยวิธีการหาความหนาแน่นของมวลกระดูก บางรายพบจากการแตกหักของกระดูก นอกจากนี้ ในสตรีวัยทองบางรายพบจากอาการขาดฮอร์โมนเอสโตเจน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งในการเกิดโรคกระดูกพรุน และเมื่อกระดูกพรุนมากขึ้น ในบางรายจะมีการเกิดการโค้งหรือการงุ้มลงของกระดูกสันหลัง ความสูงลดลง รูปร่างเตี้ยลง และเพื่อให้ได้สตรีวัยทองได้รับการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนอย่างทันท่วงที สตรีวัยทองจึงควรตรวจสุขภาพ ตรวจหาความหนาแน่นของมวลกระดูกอย่างสม่ำเสมอ และควรทำความเข้าใจอาการและอาการแสดงของโรค

อาการโรคกระดูกพรุนแสดงในระยะแรก

โรคกระดูกพรุนไม่มีอาการและอาการแสดงในระยะแรกปรากฏเด่นชัด แต่ให้สังเกตอาการที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน นั่นคือ อาการของการขาดหรือการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกมาในเวลากลางคืน วิตกกังวล ซึมเศร้า ช่องคลอดบางลง ผิวแห้ง ผมร่วง เป็นต้น

อาการโรคกระดูกพรุนแสดงในระยะยาว

การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ซึ่งอาการและอาการแสดงจะขึ้นอยู่กับปริมาณการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ระยะเวลาในการขาด และปัจจัยอื่น ๆ เช่น การขาดแคลเซียมและวิตามินดี การไม่ได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น หากไม่ได้รับการดูแลรักษามวลกระดูกจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ กระดูกจะสามารถแตกหักได้ง่าย โดยทั่วไปอาการและอาการแสดงในระยะยาวของโรคนี้ ได้แก่ เจ็บปวดหลัง ปวดกระดูก กระดูกแตกหักง่าย ส่วนสูงลดลงเนื่องจาก โค้งงุ้มของกระดูกสันหลัง ซึ่งอาการแสดงในระยะยาวนี้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • ระดับเล็กน้อย ผู้ป่วยระยะนี้ไม่มีอาการแสดง แต่บางรายอาจมีการปวดกระดูกได้เล็กน้อย เมื่อตรวจหาความหนาแน่นของมวลกระดูก พบความหนาแน่นของมวลกระดูกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
  • ระดับปานกลาง ผู้ป่วยระยะนี้มีอาการปวดกระดูกเล็กน้อย มีค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกอยู่ระหว่างร้อยละ 60 – 80 และไม่มีอาการกระดูกหักหรือทรุด
  • ระดับรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการปวดกระดูกมาก มีความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยกว่าร้อยละ 60 บางรายอาจพบว่า มีกระดูกหักหรือทรุด

การป้องกันโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง สามารถป้องกันได้ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และควรเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว ดังนี้

  1. รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอทุกวัน เนื่องจาก แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ในวัยเด็กร่างกายมีการเจริญเติบโต มีการนำแคลเซียมเข้าไปในสร้างกระดูกมากกว่าที่จะสลายออกมา สตรีอายุ 25 – 30 ปี และชายอายุ 30 – 35 ปี เป็นช่วงมีความหนาแน่นของกระดูกสูงสุด หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เกิดการเสื่อมของกระดูก มีการสลายแคลเซียมในการกระดูกมากกว่าการดึงแคลเซียมเข้าไปสร้าง ส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงเรื่อย ๆ การรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอจึงมีความจำเป็นในการช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูก
    1. อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ น้ำนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง เต้าหู้ และน้ำนมถั่วเหลืองที่ได้จากการเติมแคลเซียมคลอไรต์ลงในน้ำนมถั่วเหลือง และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น และอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ผักและผลไม้
    2. เมื่ออายุมากขึ้นความต้องการแคลเซียมจะเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะอัตราการดูดซึมแคลเซียมลดลง หากต้องการชะลอความเสื่อมของกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุนนอกจากบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงแล้ว ยังจำเป็นต้องออกกำลังกายควบคู่ด้วย และควรบริโภคอาหารที่มีฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี แมงกานีส ทองแดง และโบรอนซ์ เนื่องจาก แร่ธาตุเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของกระดูก และบริโภคอาหารที่มีวิตามินดี ซี เค ที่มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสตรีวัยทองเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน เพิ่มมวลกระดูก ให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ควรเลือกการออกกำลังกายแบบต้านน้ำหนัก เช่น การเดิน การวิ่ง การเต้นแอโรบิก กระโดดเชือก รำมวยจีน เต้นรำ เป็นต้น เพราะการออกกำลังกายชนิดนี้เป็นการออกกำลังกายที่ลงน้ำหนักที่กระดูก ส่งผลให้มีแคลเซียมไปเกาะที่กระดูกมากขึ้น จึงสามารถช่วยเพิ่มมวลกระดูก สร้างกระดูกใหม่ได้
  3. รับแสงแดด เมื่อร่างกายได้รับแสงแดดจะสังเคราะห์วิตามินดีได้ ซึ่งประโยชน์ของวิตามินดีนั้น คือ ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมไปสร้างกระดูก ดังนั้น จึงควรออกไปรับแสงแดดยามเช้าวันละ 10 – 15 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน หากร่างกายขาดวิตามินอาจจะต้องรับประทานเสริมเข้าไปวันละ 400 – 800 มิลลิกรัม
  4. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะการที่ร่างกายมีน้ำหนักตัวน้อย นั่นหมายความว่า มีมวลกระดูกน้อย เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งการรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์นั้น จะต้องมีภาวะโภชนาการที่ดี บริโภคอาหารครบ 3 มื้อ ให้ได้สารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น การไม่รับประทานอาหารประเภท โปรตีน หรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะอาหารจำพวกนี้จะกระตุ้นการทำงานของไตให้ขับแคลเซียมออกจากร่างกายมากกว่าปกติ การไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะโซเดียมจะทำให้ลำไส้ดูดแคลเซียมลดลง และกระตุ้นการทำงานของไตให้ขับแคลเซียมออกจากร่างกายมากกว่าปกติ ไม่ดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก เพราะในน้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอริกที่ทำให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อคโกแลต ในปริมาณมาก เพราะแอลกอฮอล์และคาเฟอีนมีส่วนขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก โดยกาแฟไม่ควรดื่มเกินวันละ 3 แก้ว แอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 หน่วยดื่มเทียบเท่าแอลกอฮอล์สุทธิ 30 มิลลิลิตร งดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีส่วนทำให้ระดับเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้มีการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งจะเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย หากมีโรคประจำตัวหรือมีภาวะที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ควรรักษาโรคนั้น ๆ

การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง จำแนกได้เป็น 2 ระยะ

  1. การส่งเสริมให้มวลกระดูกสามารถเพิ่มได้สูงสุดเต็มศักยภาพ มี 2 แนวทาง คือ ส่งเสริมให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในด้านการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน เพื่อให้ร่างกายมีการสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรง การได้รับสารอาหารเพียงพอและตรงตามความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่เป็นประจำ เป็นต้น หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อการสูญเสียมวลกระดูก เช่น ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น และการตรวจหาโรคหรือสาเหตุของโรคกระดูกพรุนที่มีผลต่อการสร้างกระดูกหรือเร่งการสลายมวลกระดูก เพื่อหาแนวทางการแก้ไขหรือให้ฮอร์โมนทดแทน เป็นการป้องกันไม่ให้ภาวะหรือโรคมีผลต่อมวลกระดูกจนเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา
  2. การป้องกันหรือชะลอการสูญเสียมวลกระดูกเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มี 2 แนวทาง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม การเลือกบริโภคอาหารให้เพียงพอและตรงตามความต้องการของร่างกาย การออกกำลังกายโดยการใช้แรง การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก และการใช้ยาเพื่อลดการสลายของมวลกระดูก หรือเพิ่มการสร้างกระดูก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *