แรงงานข้ามชาติกับการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทย

การคุ้มครองแรงงานเป็นหนึ่งในสี่รูปแบบหลักของการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทย นอกเหนือจากการประกันสังคม ความช่วยเหลือทางสังคม และการให้บริการทางสังคม แรงงานข้ามชาติถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางสังคมสูง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียม และสร้างการเบียดขับทางสังคม (Devereux and Sabates – Wheeler 2004, 232)[1] ปัจจุบันอาเซียนมีแรงงานข้ามชาติราว 13.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมดในอาเซียน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบประมาณร้อยละ 60 ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงานได้ และต้องพึ่งพาระบบคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมสิทธิ์เพียงบางส่วนเท่านั้น สำหรับประเทศไทย แม้จะยืนยันในหลักการไม่เลือกปฏิบัติ แต่ก็ครอบคลุมเฉพาะแรงงานต่างชาติที่จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น และแรงงานกลุ่มดังกล่าวยังเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิ์ของตน เนื่องจาก ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีระบบการคุ้มครองสิทธิ์ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการจ้างแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งขาดความร่วมมือจากนายจ้าง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นไปอย่างหละหลวม (Hall 2012)[2]

งานศึกษาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติชาวลาวในภาคอุตสาหกรรมโดยชูพักตร์ สุทธิสา (2556)[3] สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการที่นำมาสู่ความอ่อนไหวทางสังคมอันเป็นภาพสะท้อนของการสะสมทุนจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน ผู้ประกอบการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการสร้างแรงจูงใจผ่านระบบอุปถัมภ์ ทำให้แรงงานต้องเบียดบังตนเองให้ทำงานหนัก และเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทน และสวัสดิการที่มากขึ้น ทำให้แรงงานมีความกดดันที่จะปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตภายใต้สภาพการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ใหม่ ในขณะที่งานวิจัยของบัญญัติ สาลี (2554)[4] ชี้ให้เห็นว่า เนื่องจาก รัฐไทยขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย และรูปแบบการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ จึงนำไปสู่การสร้างกลไกจัดการแรงงานที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับสภาพการณ์ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็นแรงงานนอกระบบหรือแรงงาน “เถื่อน” ตามวาทกรรม “เถื่อน” ที่รัฐ และสื่อมวลชนสร้างขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองที่เป็นทางการได้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแนวโน้มที่รัฐไทยจะพิจารณาว่า การคุ้มครองทางสังคมที่รัฐต้องจัดเตรียมให้กับแรงงานต่างชาติเป็นต้นทุน หรือเป็นภาระทางการคลัง จึงนำไปสู่ปัญหาอีกชุดหนึ่ง คือ รัฐจะวางแผนบริหารจัดการด้านการคลังในอนาคตตามแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของแรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้ ดังสะท้อนให้เห็นในงานศึกษาของเอื้อมพร พิชัยสนิท และกิริยา กุลกลการ (2560)[5] ที่เสนอว่า ควรสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนการบริหารจัดการ และการดำเนินการด้านสาธารณสุขควบคู่กันไป

อย่างไรก็ดี มีงานศึกษาอีกหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า การคุ้มครองทางสังคมแบบไม่เป็นทางการสามารถช่วยเสริมกลไกของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น งานวิจัยของคชษิณ สุวิชา (2554)[6] ชี้ให้เห็นว่า การจัดการด้านบริการสาธารณสุขสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นอกจากจะมีข้อจำกัดในแง่จำนวนบุคลากรผู้ให้บริการแล้ว เจ้าหน้าที่บางส่วนยังมีอคติเชิงชาติพันธุ์กับแรงงานข้ามชาติ ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนมีจุดแข็งในด้านการทำงานที่คล่องตัว และให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงรุก นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังเสนอว่า การเสริมสร้างกลไกการคุ้มครองทางสังคมแบบไม่เป็นทางการ โดยการพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น จะช่วยให้ระบบการคุ้มครองแรงงานโดยรวมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

งานวิจัยในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจรูปแบบการเคลื่อนย้ายและการปรับตัวของกลุ่มแรงงานต่างชาติ เพื่อพัฒนาข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนแรงงานข้ามชาติในการบริหารจัดการตนเอง งานศึกษาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติชาวเวียดนามที่เคลื่อนย้ายไปทำงานในจังหวัดอุบลราชธานี  ประเทศไทย และแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว โดยวัชรี ศรีคำ (2556)[7] แสดงให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติมีการปรับตัวในแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการการคุ้มครองทางสังคมในแบบที่แตกต่างกันไปด้วย

งานศึกษาของโสภี อุ่นทะยา และคณะ (2556)[8] เน้นศึกษาแรงงานข้ามชาติในแง่การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม การปรับตัวของแรงงาน การจัดการแรงงานข้ามชาติของชุมชน และแนวทางในการสนับสนุนการจัดการแรงงานข้ามชาติของชุมชน โดยพบว่า แรงงานข้ามชาติชาวลาวในชุมชนเทศบาลเมืองมุกดาหาร นอกจาก จะมีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในชุมชนแล้ว ยังมีวิธีการสร้างความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ และระบบอุปถัมภ์โดยการเข้าร่วมงาน ประเพณี ศาสนา และงานพัฒนาในชุมชน ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สนับสนุนให้แรงงานต่างชาติมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตนเองในระดับชุมชน อาทิ สนับสนุนให้ประธานชุมชนมีหน้าที่ดูแลแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างชัดเจน เป็นต้น ส่วนงานศึกษาของเก็ตถวา บุญปราการ และคณะ (2556)[9] ก็ให้ภาพการปรับตัวและรูปแบบการคุ้มครองทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการของแรงงานข้ามชาติไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ งานชิ้นนี้ให้ภาพการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติซึ่งทำงานในพื้นที่ชายแดนไทย – พม่า เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานด้วยกันเอง ตั้งแต่การให้ความรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิทธิด้านสาธารณสุข ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเริ่มจากการขับเคลื่อนภายในกลุ่มแรงงานภาคเกษตรก่อนจะขยายไปยังภาคอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา

จะเห็นได้ว่า ทิศทางการวิจัยเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเริ่มหันมาให้น้ำหนักกับการศึกษากลไกการคุ้มครองที่ไม่เป็นทางการมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้แรงงานข้ามชาติมีความมั่นคงในการทำงานมากขึ้น และขณะเดียวกันก็จะเสริมให้สามารถพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมที่เป็นทางการที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อนำปสู่การพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงานที่ดี โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและจะต้องพึ่งพิงแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้นในอนาคต


[1] Devereux, Stephen, and Rachel Sabates-Wheeler. 2004. “Transformative Social Protection.” IDS Working Paper 232. Institute of Development Studies, Brighton, England.

[2] Hall, Andy. 2012. “Migrant Workers and Social Protection in ASEAN: Moving towards a regional standard?” Journal of Population and Social Studies 21(1): 12-38.

[3] ชูพักตร์ สุทธิสา. 2556. “กระบวนการเข้าสู่การจ้างงานของแรงงานข้ามชาติลาวในภาค อุตสาหกรรม: ชุดโครงการแรงงานข้ามชาติ.” กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัย.

[4] บัญญัติ สาลี. 2554. “แรงงานนอกระบบข้ามชาติ: พัฒนาการแรงงานข้ามชาติและระบบการ จัดการแรงงานข้ามชาติในอาณาบริเวณชายแดนจังหวัดสุรินทร์.” กรุงเทพฯ: สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย.

[5] เอื้อมพร พิชัยสนิธ และ กิริยา กุลกลการ. 2560. แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากประเทศใน AEC กับนัยทางการคลังสำหรับประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ วิจัย.

[6] คชษิณ สุวิชา. 2554. “การจัดการสุขภาพแรงงานข้ามชาติบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว: นโยบาย ของรัฐและการตอบสนองของภาคประชาสังคมในพื้นที่ จ.หนองคาย.” กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

[7] วัชรี ศรีคำ. 2556. “การปรับตัวของแรงงานข้ามชาติเวียดนามในประเทศไทยและสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว.” วารสารภาษาและวัฒนธรรม 32(1): 47-65.

[8] โสภี อุ่นทะยา, ชัยวิวัฒน์ วงศ์สวัสดิ์, และ ทองสุข ไชยวงษ์จันทร์. 2556. “การจัดการของชุมชน และการปรับตัวของแรงงานข้ามชาติบนพื้นที่ชายแดน จังหวัดมุกดาหาร.” กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

[9] เก็ตถวา บุญปราการ, เบญจพร ดีขุนทด, และ เจตน์สฤษฏิ์ สังขพันธ์. 2556. “‘ดอกไม้แห่ง รุ่งอรุณ’: พื้นที่ต่อรองของแรงงานข้ามชาติและความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจชายแดน ไทย-พม่า.” กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ขอขอบคุณที่มาบทความ การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติกับการคุ้มครองทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการ : กรณีศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด โดย โสภิณ จิระเกียรติกุล ธัญรดี ทวีกาญจน์ วินิสสา อุชชิน ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ และณัฐช์นิชา ตั้งวีรัตน์กร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *