แนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้

รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ ศึกษาเรื่อง แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี : สาเหตุและแนวทางแก้ไข ได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ โดยวิธีการหนึ่งได้ดำเนินการ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ทั้งช่องทางสื่อโทรทัศน์ และโซเซียลมีเดียผ่านเฟซบุ๊คของกระทรวง มีการถ่ายทอดการสัมภาษณ์แรงงานไทยที่กำลังทำงานในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ และการทำงานที่ดีมีมาตรฐาน กล่าวเชิญชวนให้ไม่ลักลอบไปทำงานที่เกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย อยางไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กระทรวงแรงงานควรจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานให้ชัดเจน โดยกำหนดเป็นเป้าหมายว่า ในแต่ละปีจะลดจำนวนแรงงานไทยผิดกฎหมายลงเป็นจำนวนเท่าไร จะลดระยะเวลาที่ใช้ในการจัดส่งแรงงานให้เหลือไม่เกินกี่วัน และจะเพิ่มจำนวนแรงงานไทยที่จัดส่งเทียบเป็นสัดส่วนต่อจำนวนโควตาแรงงานที่ได้รับจัดสรรเป็นเท่าไร เป็นต้น

สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับสำนักงานฝ่ายแรงงานควรชักจูงให้แรงงานไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงที่ได้รับการผ่อนผันจากเกาหลีใต้ (1 ตุลาคม 2560 – 31 มีนาคม 2562) และเพื่อให้แรงงานไทยมีความพร้อม และสามารถใช้ภาษาเกาหลีในการสื่อสารได้อย่างมีคุณภาพ รัฐบาลทั้งสองประเทศควรส่งเสริมการอบรมภาษาให้ได้มาตรฐาน โดยประสานสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเกาหลีให้กับแรงงานไทย และประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยตระหนักถึงความสำคัญของการรู้ภาษาเกาหลี และกระทรวงแรงงานไทยควรมีบทบาทในการเข้าควบคมุมาตรฐานการสอนของสถาบันสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการส่งแรงงานของภาครัฐไทย โดยเฉพาะการออกหนังสือรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีความล่าช้า และลดโอกาสในการเรียกสินบน อีกทั้งยังต้องปราบปรามขบวนการนายหน้า บริษัทหางาน บริษัททัวร์ ทั้งในประเทศ และเกาหลีใต้ ที่นำเข้าแรงงาน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างตำรวจไทยกับเกาหลีใต้ สืบหาข้อมูลผ่านช่องทางการโฆษณาชักจูงแรงงานทางโซเซียลมีเดียต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยควรปรึกษากับรัฐบาลเกาหลีใต้ให้อนุญาตนำเข้าแรงงานอาชีพหมอนวดจากประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากของคนเกาหลีใต้อีกด้วย อย่างเช่น ที่ประเทศมาเลเซียนำเข้าหมอนวดจากไทยถูกต้องตามกฎหมาย

หากรัฐต้องการสนับสนุนการไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทย ควรหาช่องทางเพิ่มโควตาให้คนไทยสามารถไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ได้จำนวนมากขึ้น เพราะหากเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำของเกาหลีใต้กับไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่คนงานไทยเดินทางไปทำงานมากเป็นอันดับที่ 1 แล้ว พบว่า แรงงานที่ทำงานที่ไต้หวันได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเดือนละ 22,000 บาท และจะต้องค่านายหน้า ค่าที่พัก และค่าอาหารเองอีกด้วย จากการคำนวณของ Kiriya Kulkolkarn (2017)[1] แรงงานจะต้องทำงานนานถึง 4 – 7 เดือน เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ในขณะที่การทำงานที่เกาหลีใต้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในเรื่องนายหน้า ค่าที่พัก และค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้รวมอยู่ที่ 40,000 – 53,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน เงินประกัน (บางส่วนจะได้รับคืนเมื่อเดินทางกลับ) และค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษาเกาหลี ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำของเกาหลีใต้อยู่ที่เดือนละ ประมาณ 46,987 – 50,809 บาท ดังนั้น แรงงานจะใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ก็สามารถมีเงินออกส่งกลับบ้านได้

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานไทยควรจัดเตรียมอาชีพที่เหมาะสมให้กับแรงงานคืนถิ่น ให้สามารถนำความรู้และทักษะการทำงานที่ได้รับจากประเทศเกาหลีใต้กลับมาใช้ในประเทศไทยได้อย่างเป็นประโยชน์ ให้ได้ทำงานตรงกับทักษะที่มี ไม่อยู่ในสภาพตกงาน และได้รับรายได้ที่เหมาะสมกับทักษะที่มี ไม่อยู่ในสภาพตกงาน และได้รับรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอ สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ โดยประสานกับบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ในประเทศไทยเพื่อรับแรงงานคืนถิ่นเข้าทำงาน อีกทั้งยังควรสนับสนุนให้แรงงานคืนถิ่นนำเงินส่งกลับหรือเงินออมไปลงทุนสร้างฐานะให้มั่นคง เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปหางานทำในต่างประเทศอีกโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับแรงงานต่างชาติอื่น ๆ ในเกาหลีใต้ การลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายของแรงงานไทยส่งผลเสียต่อตัวแรงงานเองที่จะมีความเสี่ยงถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย นักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะผู้หญิงไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจาก การตรวจคัดกรองที่เข้มข้นขึ้น และค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือแรงงานผิดกฎหมายเป็นภาระทางการคลังของประเทศ

สาเหตุสำคัญเกิดจากโอกาสที่จะเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่ระดับต่ำ เพราะแรงงานไม่สามารถสอบภาษาเกาหลีผ่าน ต้องรอเป็นเวลานานกว่าจะได้ไปทำงาน และตำแหน่งงานที่เปิดรับมีจำกัด แม้มีความเสี่ยงที่จะถูกจับและต้องเสียค่านายหน้าในอัตราที่สูง แต่ค่าจ้างขั้นต่ำในเกาหลีใต้มีอัตราที่สูงกว่าไทยมาก แรงงานไทยจึงนิยมลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังเกิดจากอาชีพหมอนวดไม่ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่มีความต้องการภายในประเทศสูง ทำให้แรงงานหญิงไทยลักลอบเข้าไปทำงานจำนวนมาก

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงแรงงานควรจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดเป็นเป้าหมายว่า ในแต่ละปีจะลดจำนวนแรงงานไทยผิดกฎหมายลงเป็นจำนวนเท่าไร จะลดระยะเวลาที่ใช้ในการจัดส่งแรงงานให้เหลือไม่เกินกี่วัน และจะเพิ่มจำนวนแรงงานไทยที่จัดส่งเทียบเป็นสัดส่วนต่อจำนวนโควตาแรงงานที่ได้รับจัดสรรเป็นเท่าไร นอกจากนี้ ควรชักจูงให้แรงงานไทยผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศไทย และเพื่อให้แรงงานไทยสามารถสอบผ่านภาษาเกาหลีได้จำนวนมากขึ้น จำเป็นต้องทำให้แรงงานไทยตระหนักถึงความสำคัญของการรู้ภาษาเกาหลี จัดส่งครูหรืออาสาสมัครชาวเกาหีมาสอนภาษาเกาหลีให้กับแรงงานไทย และกระทรวงแรงงานเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานของสถาบันสอนภาษา เช่น จัดตั้งสถาบันจัดอันดับและตรวจสอบมาตรฐานโรงเรียนสอนภาษาในประเทศไทย

นอกจากนี้ ควรลดระยะเวลาการออกหนังสือรับรองความประพฤติ และปราบปรามขบวนการนายหน้า บริษัทหางาน บริษัททัวร์ ทั้งในประเทศไทยและเกาหลี ที่ชักจูงแรงงานให้เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยควรปรึกษากับรัฐบาลเกาหลีใต้ในการอนุญาตแรงงานอาชีพหมอนวดจากประเทศไทยให้สามารถเข้าไปทำงานได้ และจัดเตรียมอาชีพที่เหมาะสมให้กับแรงงานคืนถิ่น ให้สามารถนำความรู้และทักษะการทำงานที่ได้รับจากประเทศเกาหลีใต้กลับมาใช้ในประเทศไทยได้อย่างเป็นประโยชน์ ตรงกับทักษะที่มี ไม่อยู่ในสภาพตกงาน และได้รับรายได้ที่เหมาะสม และสนับสนุนให้แรงงานคืนถิ่นนำเงินส่งหลับหรือเงินออมมาลงทุนสร้างฐานะที่มั่นคง[2]


[1] Kiriya Kulkolkarn. (2017). Net Benefit of Thai Workers from Working in Taiwan. Journal of HR intelligence. 12 (1) : 56-78.

[2] ขอขอบคุณที่มาบทความ แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี :  สาเหตุและแนวทาวแก้ไข. โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *