Recruitment process vector flat style design icon

การวิเคราะห์สถานการณ์การไปทำงานในเกาหลีใต้ของแรงงานไทย ซึ่งมีทั้งการลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย และการไปทำงานอย่างถูกต้องผ่านระบบ Employment Permit System อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ตอน ได้แก่ ตัดสินใจว่าจะไปทำงานในเกาหลีใต้หรือไม่ และหากตัดสินใจไป จะไปโดยวิธีที่ถูกต้อง (ผ่านระบบ EPS) หรือลักลอบเข้าไปทำงานแบบนักท่องเที่ยว ซึ่งจะแต่ละขั้นตอนถือเป็นการตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผล (rational decision) ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัด (constraints) อาทิ ทรัพยากร เช่น เงินทุน และเวลา (financial and time constraints) ข้อมูลข่าวสาร (information)

กระบวนการตัดสินใจไปทำงานของแรงงาน
ที่มาภาพ เรื่อง ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ โดยนายประพันธ์ ดิษยทัต สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ

กระบวนการตัดสินใจไปทำงานของแรงงานซึ่งกระบวนการตัดสินใจแต่ละขั้นตอนมีแนวคิดหรือทฤษฎีที่สามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์ต่างกัน ดังนี้

ในขั้นตอนที่ 1 ที่แรงงานไทยตัดสินใจว่าจะย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเกาหลีใต้หรือไม่ อาจอธิบายได้โดยทฤษฎี Push – Pull Theory ซึ่งเป็นการวิเคราะห์และศึกษาปัจจัยผลักดันและดึงดูด (push and pull factors) ที่ประกอบกันเป็นแรงจูงใจ (incentive) ที่นำไปสู่การตัดสินใจของแรงงานในฐานะที่เป็น economic agent

ปัจจัยผลักดัน หมายถึง ปัจจัยจากภายในประเทศของตนที่ส่งผลให้แรงงานมีความประสงค์จะย้ายถิ่นฐาน เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า อาทิ ฐานะทางครอบครัว สภาวะการถูกกดขี่ทางการเมืองในประเทศต้นทาง ความขัดสนหรือขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ (economic opportunities) เป็นต้น

ปัจจัยดึงดูด หมายถึง ปัจจัยในประเทศปลายทางที่จูงใจให้แรงงานย้ายถิ่นฐานไป อาทิ ระดับค่าจ้าง และเงินเดือนที่สูงกว่าในประเทศต้นทาง อุปสงค์สำหรับแรงงานในประเทศปลายทาง โอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า และเสรีภาพทางการเมืองที่ดีกว่า เป็นต้น ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ซึ่งตั้งสมมุติฐานว่า แรงงานมีข้อมูลครบถ้วน (perfect information) เกี่ยวกับค่าแรง ค่าใช้จ่ายในเดินทาง และต้นทุน (cost) ต่าง ๆ ในการหางานทำในสถานที่ใหม่ แรงงานดังกล่าวย่อมตัดสินใจอย่างมีเหตุผล (rational decision) โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และต้นทุน โดยมีจุดประสงค์เพื่อได้รับประโยชน์สูงสุด (maximize benefit) ของตน ดังนั้น แรงงานจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐานหากรายได้และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (expected benefit) สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (expected costs)

ในขั้นตอนที่ 2 เมื่อแรงงานตัดสินใจว่าจะไปทำงานแล้ว การตัดสินใจเลือกว่าจะไปทำงานตามช่องทางที่ถูกกฎหมายผ่านระบบ EPS หรือจะลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายเป็นผลของการประเมินผลประโยชน์ในเชิง cost – benefit analysis ของแต่ละทางเลือก โดยต้นทุน (cost) ในขั้นที่ 2 นี้มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัว เช่น การเรียนภาษาเกาหลี ค่าเสียโอกาสจากการเสียเวลารอขึ้นบัญชีจนกว่านายจ้างจะเรียกตัว และรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากคามไม่โปร่งใสในระบบ (rent – seeking) และหากเลือกที่จะไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะไม่สามารถหางานทำ ความเสี่ยงจากการถูกจับและลงโทษ หรือความเสี่ยงจากการประสบภัยหรือตกทุกข์ได้ยากในเกาหลีใต้ เป็นต้น ทั้งนี้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าทุกคนมีข้อมูลอย่างสมบูรณ์ (perfect information) ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดเป็นได้ (optimum decision) แต่ในความเป็นจริง แรงงานไทยจำนวนมากไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์

อีกปัจจัยที่มีสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของแรงงานในการไปทำงานต่างประเทศ คือ การชักจูงของเพื่อนละญาติมิตร ซึ่งอธิบายได้ตามทฤษฎีเครือข่ายสังคมของแรงงานย้ายถิ่น (Migrant Network Theory) ซึ่งระบุว่า การมีโครงข่ายกับแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศก่อนแล้ว รวมทั้งนายจ้างในประเทศต้นทางอาจส่งผลให้เกิดการตัดสินใจของแรงงานในการไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจาก การมีเครือข่ายจะช่วยให้แรงงานมีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการโยกย้ายถิ่นและเกี่ยวกับโอกาสการหางานในประเทศปลายทาง รวมทั้งอาจให้ความช่วยเหลือในการหาที่พักและทางการเงินในระยะแรก ๆ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการย้ายถิ่นและลดความเสี่ยง ซึ่งยังผลให้การจ้างงานหรือความต้องการแรงงานในประเทศต้นทางได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และแรงงานสามารถคาดการณ์รายได้ที่จะได้รับค่อนข้างแน่นอนกว่า ทั้งนี้ เครือข่ายดังกล่าวอาจพัฒนาเป็นสถาบันซึ่งทำให้โยกย้ายถิ่นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและยากต่อการที่ภาครัฐจะเข้ามาควบคุม

นอกเหนือจากแนวคิดในเชิงทฤษฎีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยหรือ “โอกาส” อื่น ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของแรงงาน อาทิ ความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยประเทศไทยและเกาหลีใต้มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยอนุญาตให้พำนักอยู่ได้ 90 วัน หรือความต้องการแรงงานที่สูงของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ กอปรกับสภาวะขาดแคลนแรงงานขั้นต่ำ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ ถึงแม้ว่า โดยนโยบายพยายามปราบปรามแรงงานที่ผิดกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงก็ทำเสมือน “ปิดตาข้างหนึ่ง” เพื่อสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น การที่มีนายหน้า หรือ broker แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ก็เป็นการ “ขยายแรงจูงใจและโอกาส” ให้แรงงานไทยเสี่ยงโชคไปหางานทำในเกาหลีใต้อีกด้วย[1]


[1] ขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ โดยนายประพันธ์ ดิษยทัต สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *