แนวคิดเรื่องบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกาย

ความคิดเรื่องบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกายนั้นมิได้เป็นไปเพื่อการสละหรือตัดกิเลสและตัดความตระหนี่ในจิตใจตนเอง แต่กลับเป็นการเพิ่มความตระหนี่ในใจให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภควาทกรรม หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการขับเน้น “สังโยชน์” ซึ่งหมายถึง “ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์” คือ เป็นการร้อยรัดกิเลสไว้ในใจมนุษย์ แบ่งได้เป็น 3 ประการ ดังนี้

  1. การทำบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกาย แสดงให้เห็นการมี “สักกายทิฏฐิ” หมายถึง “ความเห็นว่า เป็นตัวของตน” กล่าวคือ แนวทางการทำบุญของวัดพระธรรมกาย มีการสอนให้เข้าใจว่า การทำบุญเป็นเรื่องสำคัญ หากอยากได้บุญมากต้องเลือกทำบุญกับวัดพระธรรมกาย เพราะมีสายปูชะนียาจารย์ ได้แก่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง หรือแม้กระทั่ง ตัวตนของพระธรรมกาย เป็นผู้สอดส่องคุมบุญให้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภควาทกรรมเข้าใจว่า การร่วมบุญกับวัดพระธรรมกายมีความพิเศษ และเป็นการยืนยันการมีอยู่ของตัวตนของชีวิตหลังความตายในฐานะวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
  2. การทำบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกาย แสดงให้เห็นการมี “วิจิกิจฉา” หมายถึง “ความสงสัย, ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย” กล่าวคือ การทำบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกายมุ่งเน้นการอธิษฐานของอานิสงส์จากบุญเพื่อขอให้ตนเองได้รับสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภควาทกรรมมิได้เชื่อมั่นในกำลังความสามารถ และกำลังสติปัญญาของตนแต่กลับยึดถือว่า “บุญ” เป็นเครื่องกำหนดความเป็นไปในชีวิต ดังนั้น “บุญ” จึงเป็นเสมือนอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลให้ผู้ทำได้ผลในสิ่งที่ตนปรารถนา ซึ่งแท้จริงแล้วการทำบุญมิได้มีจุดมุ่งหมายเช่นนี้ และที่สำคัญที่สุดผู้ศรัทธาวัดพระธรรมกายจะถูกปลูกฝังให้มีความลังเล สงสัยในการทำบุญตามแบบพุทธศาสนาทั่วไป เพราะกลัวว่า ถ้าทำบุญกับวัดอื่น หรือทำบุญแบบอื่นอาจจะไม่ได้บุญคุ้มค่าเท่ากับที่ทำวัดพระธรรมกาย จนกระทั่ง วัดพระธรรมกายมีสถานะกลายเป็นวัดที่ผูกขาดบุญในที่สุด
  3. การทำบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกาย แสดงให้เห็นการมี “สีลพรตปรามาส” หมายถึง “การถือศีลพรตโดยสักว่าทำตาม ๆ กันไปอย่างงมงาย” กล่าวคือ การทำบุญตามแนวทางของวัดพระธรรมกายมุ่งเน้นให้ผู้บริโภควาทกรรมแต่งกายเหมือนกันด้วยชุดขาว เข้าปฏิบัติธรรมตามกันอย่างเป็นระเบียบเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหรืองานบุญที่วัดพระธรรมกายจัดขึ้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก โดยเชื่อว่า บุญที่ได้รับจะส่งอานิสงส์เป็นผลดีกับชีวิตตนเอง ปัจจัยด้านจำนวนมวลชนดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถเผยแพร่แนวคิดเรื่อง “บุญ” ตามแนวทางของวัดพระธรรมกายได้อย่างกว้างขวาง

จากที่กล่าวจะเห็นได้ว่า วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายไม่ได้สอนให้ผู้บริโภควาทกรรมสละกิเลสตามหลักปรัชญาพุทธศาสนา แต่กลับสร้างความยึดติดกับ “บุญ” และใช้ “บุญ” เป็นเครื่องกำหนดชีวิตมากกว่าการใช้สติปัญญาไตร่ตรอง

แนวคิด “อริยสัจ 4” กับวิถีการทำบุญของวัดพระธรรมกาย

สุนทรี โชติดิลก (2560) พบว่า การใช้ “บุญ” เป็นทางออกของปัญหาตามแนวทางของวัดพระธรรมกายนั้นมิได้เป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาหรือดับทุกข์ แต่กลับเป็นการเพิ่มความทุกข์ หรืออาจกล่าวได้ว่า ขัดกับหลัก “อริยสัจ 4” ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ใช้พิจารณาหาหนทางดับทุกข์ ผู้ศึกษาธรรมในทางพุทธศาสนามักใช้หลัก “อริยสัจ 4” เพื่อพิจารณาทุกข์ในสังสารวัฏ คือ การเกิด แก่ เจ็บ และตาย เพื่อหาหนทางบรรลุนิพพาน และอาจใช้ในการพิจารณาหาทางดับทุกข์จากปัญหาอื่นได้อีกด้วย สุนทรี โชติดิลกได้นำหลักธรรมนี้มาประยุกต์เพื่อใช้วิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาของวัดพระธรรมกาย โดยจะใช้ “บุญ” เป็นทางออกของปัญหาหรืออาจกล่าวได้ว่า ใช้ “บุญ” เป็นเครื่องดับทุกข์

หากพิจารณาตามหลัก “อริยสัจ 4” จะพบว่า คำสอนเกี่ยวกับ “บุญ” ตามแนวทางของวัดพระธรรมกายทำให้ผู้บริโภควาทกรรมยึดติดกับอำนาจของบุญโดยมิได้ใช้ปัญญาไตร่ตรองหาหนทางแก้ไขความทุกข์อย่างแท้จริง สามารถจำแนกการวิเคราะห์ได้ 4 ประการ

  1. ทุกข์ หมายถึง “สภาพที่ทนได้ยาก” หากพิจารณาข้อมูลวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่ผลิตเพื่อกลุ่มประชาชนทั่วไป มักนำเสนอให้เห็นว่า ความจนเป็นความทุกข์ การไม่มีเงินทองเป็นทุกข์
  2. สมุทัย หมายถึง “เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา คือ ความทะยานอยาก” หากพิจารณาข้อมูลวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายจะนำเสนอให้ผู้บริโภควาทกรรม “โลภบุญ” เพราะเข้าใจว่า ยิ่งมีบุญมากยิ่งมีทุกข์น้อย นั่นก็คือการเพิ่ม “ภวตัณหา” คือ ความทะยานอยาก อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งก็คือ อยากได้บุญเพื่อเปลี่ยนความทุกข์ที่มีอยู่ให้กลายเป็นความสุข
  3. นิโรธ หมายถึง “ความดับทุกข์ คือ ดับตัณหาได้สิ้นเชิง” วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายไม่ได้มุ่งสอนให้ตัดตัณหา (ความอยาก) แต่กลับเพิ่มตัณหามากยิ่งขึ้นด้วยการครอบงำทางความคิดว่า ยิ่งมีบุญมากชีวิตนี้ก็สุขสบาย อีกทั้งยังเพิ่มตัณหาแบบข้ามภพข้ามชาติ เพราะต้องการสะสมบุญให้มากเพื่อจะมีชีวิตสุขสบายในชาติหน้า
  4. มรรค หมายถึง “ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” หากพิจารณาวาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกาย จะพบว่า ไม่ได้นำเสนอข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ตามหลักมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ 1.สัมมาทิฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) 2. สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) 3. สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) 4. สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) 5. สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) 6. สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) 7. สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) 8. สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) แต่กลับนำเสนอข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จากการหวังผลของ “บุญ” ดลบันดาลให้ได้ในสิ่งที่พึงปรารถนา

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายมิได้สอนให้ผู้บริโภควาทกรรมเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งตามหลักอริยสัจ 4 แล้วควรไตร่ตรองหาสาเหตุแห่งทุกข์แล้วแก้ไขที่สาเหตุของความทุกข์นั้น แต่วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายกลับสอนให้อ้อนวอนอานิสงส์ของบุญเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตแทนการพึ่งพาสติปัญญาของตนเอง

แนวคิดการทำบุญด้วยการบริจาคเงินกับการถือครองทรัพย์ของพระสงฆ์

สุนทรี โชติดิลก (2560) กล่าวว่า แนวคิดการทำบุญของวัดพระธรรมกายมักเน้นการบริจาคเงิน ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยจากสังคมภายนอกว่า พระสงฆ์ถือครองทรัพย์ได้หรือไม่ ทั้งนี้ ใน “ภิกษุปาโมกข์” ข้อที่ 18 หมวดนิสสัคคีปาจิตต์ กล่าวถึง วินัยสงฆ์ว่า การถือครองทรัพย์นับเป็น “อาบัติ” อย่างหนึ่ง กล่าวคือ พระสงฆ์ห้ามถือเงินถือทอง หากถือไว้จะต้องสละเสียจึงจะรักษาความบริสุทธิ์ของศีลไว้ได้ จากลักษณะดังกล่าวทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการถือครองทรัพย์จำนวนมากของวัดพระธรรมกาย

หากพิจารณาบริบทสถาบันสงฆ์ในสังคมไทยจะเห็นได้ว่า มีการอนุโลมให้พระสงฆ์รับเงินบริจาคเพื่อยังชีพได้ ซึ่งข้ออนุโลมนี้ปรากฏตั้งแต่การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ดังกล่าวไว้ในทุติยสังคีติกถา ภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ 10 ประการว่า “10 ทองและเงินควร” (พระเทพวิสุทธิเมธี, 2557) ซึ่งมีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงอนุโลมให้พระสงฆ์ถือครองทรัพย์ได้

ในปัจจุบันวัดต่าง ๆ ในสังคมไทยก็มีการขอรับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ ภายในวัด จึงอาจกล่าวได้ว่า วิถีการรับบริจาคเงินของวัดพระธรรมกายก็เป็นกิจปกติในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยที่พระสงฆ์จำเป็นต้องขอรับบริจาคเพื่อดำรงพุทธศาสนาซึ่งพุทธศาสนิกชนก็เห็นว่า เป็นการทำ “บุญ” เพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาอันเป็นหนึ่งในหน้าที่ของพุทธบริษัท แต่ข้อที่ทำให้วัดพระธรรมกายถูกตั้งข้อสงสัยด้านการรับบริจาคสังคม คือ การระดับทุนเพื่อสร้างพุทธสถานขนาดใหญ่ และการหล่อพระทองคำจำนวนมาก

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า วาทกรรมที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายนั้นนำเสนอแนวคิด หรืออุดมการณ์เกี่ยวกับ “บุญ” ทั้งที่สอดคล้องกับแนวทางการทำบุญในพุทธศาสนา อาทิ การให้ทานการบริจาค แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างจากหลักพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมบุญที่จะต้องทำบุญให้มาก และต้องทำบุญกับวัดพระธรรมกายเท่านั้น การทำบุญที่สอนให้ยึดติดกับ “บุญ” และใช้ “บุญ” เป็นเครื่องกำหนดชีวิตมากกว่าการใช้สติปัญญาไตร่ตรอง รวมถึงการสอนให้อ้อนวอนอานิสงส์ของบุญ เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตแทนการพึ่งพาสติปัญญาของตนเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมมองว่า แนวคิดเรื่องบุญตามแนวทางของธรรมกายนั้นบิดเบือนไปจากแนวคิดเรื่องบุญในพระพุทธศาสนา เพราะมุ่งเน้นให้ผู้บริโภควาทกรรมเลือกทำบุญแบบขวนขวายเพื่อสะสมบุญ ซึ่งไม่ใช่หนทางการดับทุกข์ที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องบุญตามแนวทางของธรรมกายนั้น เป็นที่รู้จักและได้รับการเผยแพร่สู่สังคมในวงกว้างผ่านลูกศิษย์ หรือผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากรวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น วารสาร นิตยสาร หนังสือ แผ่นพับ ใบปลิว หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง DMC เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่องบุญตามแนวทางของธรรมกายจึงอาจส่งผล และมีอิทธิพลต่อการผลิตตัวบทวาทกรรมเกี่ยวกับบุญในสื่อสาธารณะ ในการนำเสนอความคิดบุญทำให้เกิดความสุข ที่แสดงให้เห็นผลหรืออานิสงส์จากการทำบุญ ทำให้ผู้บริโภควาทกรรมเกิดความคิดในการรอหรืออ้อนวอนอานิสงส์ของบุญ ยึดติดกับผลบุญเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต นำไปสู่การประกอบสร้างอุดมการณ์ความสุขโดยเฉพาะความสุขทางโลกที่จะทำให้ชีวิตในปัจจุบันดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นสุข

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *