แนวคิดเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

แนวคิดเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันนี้ธุรกิจต่าง ๆ มีการนำเอาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้แก่ การซื้อสินค้าและบริการ การพัฒนาและออกแบบสินค้า การวิจัย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การสร้างชุมชนเพื่อการติดต่อสื่อสาร การให้บริการทางด้านการศึกษา การให้บริการทางด้านความบันเทิง การทำการตลาดอิเล็กทรอนิกส์และการร่วมมือกันทางธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มจากธุรกิจจัดทำเว็บไซต์แล้ว ลูกค้าเปิดเว็บไซต์เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าแล้วทำการติดต่อสอบถามรายละเอียดจนเกิดการตัดสินใจซื้อ ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ก้าวสู่ความสำเร็จบนโลกเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเว็บไซต์จะต้องได้รับการออกแบบหน้าเว็บให้มีความประทับใจและสะดุดตาผู้ชมในครั้งแรก รวมถึงเมื่อมีผู้เข้าชมในเว็บไซต์แล้วข้อมูลภายในเว็บไซต์ต้องสามารถสนับสนุนการทำงานของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ แล้วระบบประกันความเสี่ยงต้องเป็นระบบที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี[i]

องค์ประกอบเว็บไซต์ 7C’s หมายถึง[ii]

  1. รูปแบบ (Context) หมายถึง สี การจัดรูปแบบ และการออกแบบเว็บไซต์ที่มีความเหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภทที่จัดจำหน่าย และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายเมื่อเข้าใช้บริการเว็บไซต์นั้น ๆ
  2. ส่วนประกอบเนื้อหา (Content) หมายถึง ตัวอักษรและรูปภาพที่อธิบายถึงคุณลักษณะรายละเอียดสินค้าและวิธีการสั่งซื้อ รวมถึงเงื่อนไขของการบริการหลังการขาย
  3. ชุมชนเพื่อการติดต่อสื่อสาร (Community) หมายถึง กลุ่มสังคมบนเว็บไซต์ที่ผู้บริโภคสามารถติดต่อ พูดคุยกับคนอื่น ๆ ในเว็บไซต์นั้นได้ และยังสามารถติดต่อกับผู้ที่จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางอื่น ๆ ทาง Social network เช่น Facebook หรือ Line ของผู้ให้บริการ
  4. การทำให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า (Customization) หมายถึง ลักษณะการให้บริการของเว็บไซต์ที่สามารถปรับแต่งการใช้งานให้มีความเหมาะสมกับผู้บริโภค เช่น การนำเสนอสินค้าแต่ละแบบที่เหมาะสมกับลักษณะของผู้บริโภค ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลที่ผู้บริโภคกรอกในขั้นตอนการสมัคร
  5. การติดต่อสื่อสาร (Communication) หมายถึง การที่ผู้บริโภคสามารถติดต่อสื่อสารกับทางเจ้าของเว็บไซต์ เช่น ทางโทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์ เป็นต้น
  6. การเชื่อมโยง (Connection) หมายถึง ความสามารถของเว็บไซต์ในการเชื่อมโยงทั้งภายในเว็บไซต์และเชื่อมโยงไปเว็บไซต์อื่น ๆ และความสามารถในการต้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าทั้งภายในและภายนอกเว็บไซต์
  7. การติดต่อค้าขาย (Commerce) หมายถึง เว็บไซต์มีขั้นตอนและระบบการสั่งซื้อที่ไม่ยุ่งยาก และเว็บไซต์มีระบบการชำระสินค้าที่สะดวก ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้อได้ง่าย

พฤติกรรมผู้บริโภคต่อปัจจัยองค์ประกอบเว็บไซต์ 7C’s ทั้ง 7 ด้าน พบว่า ด้านการติดต่อค้าขาย มีค่าเฉลี่ยสูงสุด โดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ เว็บไซต์มีระบบการชำระเงินที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รองลงมา คือ ด้านส่วนประกอบเนื้อหา โดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ เว็บไซต์มีการจัดวางข้อมูลที่ชัดเจน สะดวกต่อการเลือกรับชม ถัดมา คือ ด้านการเชื่อมโยง โดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ สามารถค้นหาข้อมูลของสินค้าภายในเว็บไซต์ได้ ถัดมา คือ ด้านรูปแบบโดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ รูปแบบของเว็บไซต์สร้างความน่าดึงดูดต่อการใช้บริการ ถัดมาคือ ด้านชุมชนเพื่อการติดต่อสื่อสาร โดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ เว็บไซต์มีช่องทางการติดต่อกับผู้ที่จำหน่ายสินค้าให้ใช้บริการ ถัดมาคือ ด้านการติดต่อสื่อสาร หรือ E – mail ของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์ สามารถติดต่อสอบถามได้สะดวก และลำดับสุดท้าย คือ การทำให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า โดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ ภายในเว็บไซต์สามารถปรับแต่งรูปลักษณ์ของสินค้าได้ตามต้องการ เช่น เปลี่ยนมุมมองของสินค้า[iii]

ผู้บริโภคยุคดิจิทัล หมายถึง ผู้บริโภคสมัยใหม่ที่มีการใช้บริการซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ผ่านทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์[iv]

การยอมรับเทคโนโลยี หมายถึง การตัดสินใจเลือกที่จะนำเทคโนโลยีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมไปใช้ จนเมื่อแน่ใจว่า เทคโนโลยีนั้น สามารถให้ประโยชน์อย่างแน่นอน จึงเกิดการลงทุนและการยอมรับตามมา โดยระยะเวลาในการตัดสินใจยอมรับนั้นไม่มีกำหนดแน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและลักษณะของเทคโนโลยี[v]

พฤติกรรมผู้บริโภคต่อปัจจัยแบบจำลองการยอมรับเทคโนโลยี ทั้ง 3 ด้าน พบว่า การรับรู้ถึงความง่ายต่อการใช้งาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด โดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ ผู้บริโภคสามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้โดยง่าย รองลงมา คือ ทัศนคิที่มีต่อการใช้งาน โดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สร้างความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ให้แก่ผู้บริโภค สร้างความน่าสนใจ ในการที่จะเลือกซื้อสินค้าออนไลน์และมีการอัพเดทสินค้า ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ลำดับสุดท้าย คือ การรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับ โดยประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น[vi]


[i]ชัชวาล โคสี. (2559). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

[ii]ชัชวาล โคสี. (2559). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

[iii] ชัชวาล โคสี. (2559). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

[iv] เปรมกมล หงส์ยนต์. (2562). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์ (ลาซาด้า) ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลในกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสยาม.

[v]ชัชวาล โคสี. (2559). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

[vi] ชัชวาล โคสี. (2559). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *