แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร

นิยามเกี่ยวกับการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร

การรับรู้ หมายถึง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางสื่อออนไลน์ ได้แก่ Facebook Instagram Line Shopee TH และ Kaidee.com[i]

โซเชียลเน็ตเวิร์ค หมายถึง เว็บไซต์หรือโปรแกรม จะเชื่อมโยงผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน สามารถส่งข้อมูลระหว่างกัน ผ่านทางรูปภาพ ข้อความต่าง ๆ ติดตามในสิ่งที่ตนเองสนใจ[ii]

การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร หมายถึง การเปิดรับข้อมูลเกี่ยวกับ SM Entertainment ผ่านช่องทาง Facebook, Instagram, YouTube, Twitter, V live, Official Website[iii]

คุณค่าของการแบ่งปันทางอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง การที่ผู้บริโภคได้รับข้อมูล หรือคุณค่าตราสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ และอินสตาแกรม ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ส่งผลถึงการนำข้อมูลไปบอกต่อ แบ่งปันข้อมูลทั้งในการแบ่งปันแบบส่วนตัวและแบบสาธารณะ[iv]

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร

สาวิตรี พรหมสิทธิ์ (2559) ศึกษาเรื่อง การเปิดรับ ทัศนคติ และแนวโน้มในการแบ่งปันข้อมูลทางเฟซบุ๊กของเจเนอเรชั่นวายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ พบว่า ความถี่ในการเปิดรับการแบ่งปันข้อมูลทางเฟซบุ๊กมีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อการแบ่งปันข้อมูลของเจเนอเรชั่นวาย ขณะที่ระยะเวลาในการเปิดรับการแบ่งปันข้อมูลทางเฟซบุ๊ก ไม่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อการแบ่งปันข้อมูลของเจเนอเรชั่นวาย และทัศนคติต่อการแบ่งปันข้อมูลทางเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และตราสินค้า มีความสัมพันธ์กับแนวโน้มพฤติกรรมโดยรวมในการแบ่งปันข้อมูลของเจเนอเรชั่นวาย[v]  

วิภาวี จันทร์แก้ว (2560) ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมการเปิดรับสื่อ ทัศนคติ และการใช้ประโยชน์ กรณีศึกษาเฟซบุ๊กแฟนเพจ ตังตฤณแฟนคลับ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ยที่พบมากที่สุด คือ อายุ 40 ปีขึ้นไป ระดับการศึกษาสูงสุดที่พบมากที่สุด คือ ปริญญาตรี และมีอาชีพพนักงานบริษัทเอกชนมากที่สุด มีพฤติกรรมการเปิดรับสื่อเฟซบุ๊กแฟนเพจในลักษณะการเข้าไปใช้งานทุกวัน ความถี่ในการเข้าใช้งาน 2 – 5 ครั้งต่อวัน ใช้งานในช่วงเวลา 18.01 – 22.00 มากที่สุด อุปกรณ์การใช้งาน คือ โทรศัพท์มือถือสิ่งที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างรู้จักแฟนเพจ คือ ค้นหาด้วยตนเอง เหตุผลของการเลือกเป็นแฟนเพจ คือ การติดตามข้อมูลข่าวสาร มีปริมาณการได้รับข้อมูล 2 – 3 ครั้งต่อวัน และลักษณะการมีปฏิสัมพันธ์ต่อแฟนเพจที่มีส่วนร่วมมากที่สุด คือ กดปุ่มชื่นชอบเนื้อหาที่นำเสนอ นอกจากนั้น ยังพบว่า ทัศนคติที่มีต่อแฟนเพจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีทัศนคติด้านเนื้อหาที่นำเสนอเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในระดับมากที่สุด และมีการใช้ประโยชน์จากแฟนเพจอยู่ในระดับมาก โดยมีการนำความรู้และข้อคิดที่ได้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่ในระดับมากที่สุด อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติที่มีต่อแฟนเพจและการใช้ประโยชน์จากแฟนเพจนั้นยังมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันอีกด้วย[vi]

ดลนภา รูปขันธ์ และภิเษก ชัยนิรันดร์ (2558) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียผ่านเฟซบุ๊กของผู้ขายสินค้ากลุ่มสุภาพสตรี พบว่า ในการสร้างปัจจัยแห่งความสำเร็จในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียผ่านเฟซบุ๊กมี 4 องค์ประกอบ คือ การรับรู้ถึงแบรนด์ การเชื่อมโยงแบรนด์ การรับรู้ถึงคุณภาพ และความจงรักภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งการรับรู้ถึงแบรนด์ (Brand Awareness) คือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณลักษณะของสินค้า คุณสมบัติ และคุณประโยชน์ จากกรณีศึกษา พบว่า การใช้ Facebook Ads ในการเพิ่มจำนวนแฟนเพจหรือฟอลโลเวอร์เป็นสิ่งจำเป็นในระยะเริ่มต้นของการใช้โซเชียลมีเดีย เครื่องมือสำคัญในการสร้างการรับรู้ คือ การทำกิจกรรมทางการตลาด การตั้งชื่อของเวปเพจ การแชร์ข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เกิดการบอกต่อ และสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ในส่วนของเนื้อหา คือ ไม่จำเป็นต้องมาจากตัวกิจการ หรือแบรนด์แต่ฝ่ายเดียว แต่เนื้อหาที่มาจากตัวผู้บริโภคเป็นคนส่งเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะด้วยส่งเข้ามาเองหรือมีสิ่งกระตุ้นให้เกิดการส่งเนื้อหาเข้ามา[vii]

วรเดช ผุดผ่อง (2558) ศึกษาเรื่อง การเปิดรับสื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงสื่อโฆษณาในสื่อเว็บไซต์ยูทูบของวัยรุ่นไทย พบว่า การเปิดรับสื่อโฆษณาในสื่อเว็บไซต์ยูทูบในด้านประเภทของสื่อโฆษณาที่พบเห็น และในด้านการเคยเปิดรับชมสื่อโฆษณาในสื่อเว็บไซต์ยูทูบในด้านประเภทของสื่อโฆษณาที่พบเห็น และในด้านการเคยเปิดรับชมสื่อโฆษณาของกลุ่มตัวอย่างมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับต่างกับทัศนคติต่อสื่อโฆษณาในสื่อเว็บไซต์ยูทูบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ผลการวิจัยยังพบทัศนคติต่อสื่อโฆษณาในสื่อเว็บไซต์ยูทูบของกลุ่มตัวอย่างมีความสัมพันธ์เชิงลบในระดับต่ำกับพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงสื่อโฆษณาในด้านการข้ามสื่อโฆษณาในด้านการขจัดสื่อโฆษณา และในด้านพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงสื่อโฆษณา โดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 แต่ไม่พบความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงสื่อโฆษณาในสื่อเว็บไซต์ยูทูบในด้านการเพิกเฉยต่อสื่อโฆษณา[viii]


[i] สุจรรยา น้ำทองคำ. (2558). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคทางสื่อออนไลน์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

[ii] ศรัณยนันฑ์ ศรีจงใจ. (2561). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านช่องทางการถ่ายทอดเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. ปริญญาบริหารูรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

[iii] ภัทรมน จันทร์คงช่วย. (2560). การรับรู้คุณค่าตราสินค้าที่มีต่อ SM Entertainment. ภาคนิพนธ์วารสารมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการการสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[iv] สุรสิทธิ์ อุดมธนวงศ์. (2561). อิทธิพลของการรับรู้คุณค่าตราสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์กลุ่มยานยนต์ที่มีผลต่อคุณค่าของการแบ่งปันทางอิเล็กทรอนิกส์และความผูกพันตราสินค้าของผู้บริโภค. คณะบริหารธุรกิจ, สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น.

[v] สาวิตรี พรหมจันทร์. (2559). การเปิดรับ ทัศนคติ และแนวโน้มพฤติกรรมในการแบ่งปันข้อมูลทางเฟซบุ๊กของเจเนอเรชั่นที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์. วิทยาการจัดการสมัยใหม่. 9(1), 65 – 79.

[vi] วิภาวี จันทร์แก้ว. (2560). พฤติกรรมการเปิดรับสื่อ ทัศนคติ และการใช้ประโยชน์ กรณีศึกษา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ดังตฤณแฟนคลับ. วารสารการสื่อสารและการจัดการ นิด้า. 2(1), 134 – 152.

[vii] ดลนภา รูปขันธ์ และภิเษก ชัยนิรันดร์. (2558). ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียผ่านเฟซบุ๊กของผู้ขายสินค้ากลุ่มสุภาพสตรี. ในการประชุมวิชาการทางธุรกิจและนวัตกรรมทางการจัดการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2558. (หน้า 1148 – 1156). ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

[viii] วรเดช ผุดผ่อง. (2558). การเปิดรับสื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงสื่อโฆษณาในสื่อเว็บไซต์ยูทูบของวัยรุ่นไทย. การค้นคว้าอิสระ น.ม.ชลบุรี : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *