แนวคิดปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด

ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด หมายถึง ปัจจัยที่เป็นตัวแปรต้นในการศึกษาค้นคว้าวิจัย เช่น ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ปัจจัยด้านราคา ปัจจัยด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และปัจจัยช่องทางการส่งเสริมทางการตลาด[i]

รัฐนันท์ สิงห์มานิตย์ (2552) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางของผู้ชาย พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางของผู้ชาย เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ปัจจัยด้านราคา ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ปัจจัยด้านความแตกต่างของบุคคล ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด ปัจจัยด้านกระบวนการทางจิตวิทยา และปัจจัยด้านการจัดจำหน่าย[ii]

ส่วนประสมทางการตลาด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ราคา ข่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมทางการตลาด มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร[iii] พบว่า

  1. ส่วนประสมทางการตลาด ด้านผลิตภัณฑ์ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ในข้อท่านมักจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน โดยไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจาก ด้านผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่เสนอขายสู่ตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจในการบริโภคและผลิตภัณฑ์ที่ดีจะทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงส่งผลให้ผู้บริโภคมักจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน ถ้าหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคสนใจ
  2. ส่วนประสมทางการตลาด ด้านราคา มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ในข้อท่านมักจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน โดยไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า ในข้อท่านรู้สึกตื่นเต้นเวลาที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก และในข้อท่านรู้สึกเพลิดเพลินเวลาที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจาก ราคาเป็นจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์กูลิโกะ ผู้บริโภคจะเปรียบเทียบระหว่าง คุณค่า ของผลิตภัณฑ์กับราคาของผลิตภัณฑ์ ถ้าคุณค่าสูงกว่าราคาผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อ ดังนั้น จึงส่งผลให้ผู้บริโภคมักจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน ถ้าหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย คือ เป็นราคาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถจ่ายได้
  3. ส่วนประสมทางการตลาด ด้านการส่งเสริมการตลาด มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ในข้อท่านมักจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน โดยไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า และในข้อท่านรู้สึกตื่นเต้นเวลาที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจาก การส่งเสริมการตลาดเป็นปัจจัยที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยการส่งเสริมการตลาดเป็นการสื่อสารคุณค่าหรือประโยชน์ต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์จูงใจให้ผู้บริโภคได้รู้จักและมีความต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ ดังนั้น เป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคมักจะซื้อผลิตภัณฑ์กูลิโกะแบบฉับพลัน ถ้าหากได้รับการกระตุ้นด้วยการส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค
  4. ส่วนประสมทางการตลาด ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ในข้อท่านรู้สึกเพลิดเพลินเวลาที่ได้ซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อไว้ในตอนแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจาก ส่วนประสมทางการตลาดด้านช่องทางการจัดจำหน่าย จะเป็นตัวนำเสนอสินค้าเพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายได้อย่างสะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการซื้อแบบฉับพลันด้วยความรู้สึกที่เพลิดเพลิน

ส่วนประสมทางการตลาด หมายถึง กิจกรรมหรือวิธีการที่บริษัทใช้ เพื่อส่งเสริมให้ตราสินค้าหรือสินค้าเป็นที่รู้จักในตลาด ประกอบด้วย[iv]

  1. ผลิตภัณฑ์ (Product) เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เสนอแก่ตลาดที่สามารถสนองความจำเป็นและความต้องการของผู้บริโภคและตลาดได้ ผลิตภัณฑ์แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ (Tangible Product) จำพวกสินค้า (Goods) และผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Product) คือ การบริการ (Service) โดยการพิจารณาจะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (Product variety) คุณภาพ (Quality) การออกแบบ (Design) ตราสินค้า (Brand) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) การรับประกันสินค้า (Warranty) รวมไปถึงการบริการ (Services)
  2. ราคา (Price) เป็นองค์ประกอบทางการตลาดที่ทำให้เกิดรายได้กับธุรกิจ เนื่องจาก ราคามีส่วนในการทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ มีความแตกต่างกันและมีผลต่อผู้บริโภคในการรับรู้ถึงคุณค่าที่ได้รับ ผู้บริโภคจะเปรียบเทียบระหว่างคุณค่า (Value) ของสินค้าหรือบริการกับราคา (Price) หากคุณค่าสูงกว่าราคา ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้ชายและนักการตลาดต้องคำนึงถึงคุณค่าของสินค้าหรือบริการที่รับรู้ในมุมมองของผู้บริโภค การกำหนดราคาเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมากในการประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องมีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง เช่น ต้นทุนของสินค้าและบริการ สภาพการแข่งขันเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด
  3. ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) หมายถึง การส่งผ่านสินค้าและบริการจากผู้ผลิต ไปสู่ผู้บริโภคด้วยช่องทางต่าง ๆ สถานที่ตั้งของผู้ให้บริการและความยากง่ายในการเข้าถึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ทั้งนี้ ความยากง่ายในการเข้าถึงมิใช่เฉพาะทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น ประเภทของช่องทางการจัดจำหน่ายและความครอบคลุมจึงมีความสำคัญ ช่องทางการจัดจำหน่ายแต่ละช่องทางจะมีความสามารถในการสร้างยอดขายและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป
  4. การส่งเสริมการตลาด (Promotion) เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภค โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการกระตุ้นยอดขาย แนะนำสินค้าสู่ผู้บริโภค การสร้างความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อตราสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการใช้สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ขายกับผู้บริโภค เพื่อชักจูงเกิดทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อ โดยการติดต่อสื่อสารนี้มีรูปแบบที่หลากหลาย พิจารณาให้มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคและผลิตภัณฑ์
  5. บุคลากร (People) เป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ การให้ข้อมูลและคำแนะนำสินค้าและบริการ ความเป็นกันเอง ความกระตือรือร้นในการให้บริการ การเอาใจใส่ การตอบข้อซักถาม ทัศนคติที่ดี ความรวดเร็วในการทำงาน ความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มีส่วนในการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้
  6. ลักษณะทางกายภาพ (Physical Evidence) เป็นการสร้างและนำเสนอลักษณะทางกายภาพ และรูปแบบการให้บริการ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภค รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติและการส่งมอบสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการรับรู้และการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้สินค้าและบริการ
  7. กระบวนการ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขั้นตอนในด้านการบริการที่นำเสนอให้กับผู้ใช้บริการ เพื่อมอบคุณภาพการให้บริการ และทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความประทับใจ โดยพิจารณาจากกาให้บริการที่มีความสะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว

[i] โสภิต พรหมวิจิตร. (2559). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกินไวเทนนิ่งของพนักงานออฟฟิตในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด.

[ii] รัฐนันท์ สิงห์มานิตย์. (2552). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางของผู้ชาย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

[iii] ปานรวี ธนกิจรุ่งทวี และสุพาดา สิริกุตตา. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร http://kowdum.com/article/fileattachs/27072021114039_f_0.pdf

[iv] สุภารัตน์ คามบุตร. (2562). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงของผู้บริโภคในเขตนนทบุรี. ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *