แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด (3)

ส่วนประสมทางการตลาด หมายถึง เครื่องมือทางการตลาดที่ใช้สำหรับธุรกิจสินค้าหรือบริการ เพื่อทำให้เกิดการบริหารคุณภาพรวม ที่จะสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ[i]

ปริยวิศว์ ชูเชิด (2558) กล่าวว่า ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดมีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ พบว่า ตัวแปรที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มี 4 ปัจจัย ได้แก่ ราคา การส่งเสริมการตลาด กระบวนการบริการและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์การตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ ร้อยละ 65.0[ii]

มณีรัตน์ รัตนพันธ์ (2558) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ พบว่า ปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ทุกปัจจัยมีความสำคัญระดับมาก มีเพียงปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ระดับปานกลาง และปัจจัยส่วนบุคคลมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ระดับนัยสำคัญสถิติ 0.05 ยกเว้นปัจจัยส่วนบุคคลด้านรายได้ต่อเดือนไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางการตลาดทุกด้าน[iii]

เขมขวัญ สุดดี (2557) ศึกษาเรื่อง กระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชาวไทยต่อการซื้อเสื้อผ้าผ่านเฟซบุ๊ค พบว่า ผู้บริโภครับรู้ถึงความต้องการ โดยเลือกซื้อเสื้อผ้าแฟชั่น เมื่อมีการออกแบบใหม่มากที่สุด ใช้วิธีหาข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจด้วยการหาข้อมูลจากการค้นหาผ่านเว็บไซด์ที่ให้บริการสืบค้นออนไลน์ จนกว่าจะตัดสินใจได้ การประเมินทางเลือก เพื่อตัดสินใจซื้อจะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านต่าง ๆ ในระดับมากทุกปัจจัย โดยเรียงตามลำดับการให้ความสำคัญ ดังนี้ ปัจจัยด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด ปัจจัยด้านราคา และปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ระยะเวลาที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นภายใน 1 วัน พฤติกรรมหลังการซื้อเมื่อพอใจจะซื้อสินค้าอื่นต่อไป หากไม่พอใจจะโพสตำหนิเกี่ยวกับสินค้านั้น และโดยส่วนใหญ่จะซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเฟซบุ๊คอีกในอนาคต เพราะสะดวกผลการศึกษาด้านปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุดในปัจจัยย่อยแต่ละด้าน มีดังนี้ ด้านผลิตภัณฑ์ คือ ดีไซน์ของเสื้อผ้า แฟชั่น ด้านราคา คือ แสดงข้อมูลชัดเจน ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย คือ มีสินค้าพร้อมส่งทันทีตลอดเวลา และด้านการส่งเสริมการตลาด คือ การรับเปลี่ยนคืนสินค้า[iv]

ปัทมพร คัมภีระ (2557) ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กของนักศึกษาหญิงในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ได้แก่ พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต และปัจจัยทางการตลาด ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ปัจจัยด้านราคา ปัจจัยด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และปัจจัยด้านการส่งเสริมการขาย[v]

ปุลณัช เดชมานนท์ (2556) ศึกษาเรื่อง การตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ในช่วงเวลาจำกัด พบว่า เหตุผลการเลือกซื้อมีความสัมพันธ์กับปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด ด้านราคา ด้านสถานที่ และด้านการส่งเสริมการขาย ในขณะที่วิธีการสั่งซื้อ และระยะเวลาในการสั่งซื้อมีความสัมพันธ์กับปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดทุกด้าน[vi]

นัทธมน เดชประภัสสร (2558) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางอินเทอร์เน็ต พบว่า ด้านลักษณะทางกายภาพ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคเป็นอันดับที่สอง ซึ่งประกอบด้วย รูปแบบของเว็บไซต์ที่น่าสนใจ ใช้งานง่ายและสะดวก สามรถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ มีการจัดเรียงข้อมูลที่ดีง่ายต่อการอ่าน ขั้นตอนการสั่งซื้อง่ายและไม่ซับซ้อน สามารถใช้บริการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ช่องทางการชำระเงินหลากหลาย สะดวก และรวดเร็ว รวมถึงความปลอดภัยของการชำระเงิน[vii]

ส่วนประสมทางการตลาดของผลิตภัณฑ์กูลิโกะ ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความคิดเห็นโดยรวมในระดับดี มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.56 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับดีมาก คือ ด้านผลิตภัณฑ์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.25 ด้านที่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับดี คือ ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.56 ด้านที่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง คือ ด้านราคาและด้านการส่งเสริมทางการตลาด มีค่าเฉลี่ยเท่ากันเท่ากับ 3.32 ตามลำดับ[viii]

นฤตย์อร ศรีคงแก้ว (2559) ศึกษาเรื่องปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมของประชาชนในกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยการตลาดในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยการตลาดในการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมในภาพรวมทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายปัจจัยจากค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านการส่งเสริมการตลาดการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร ภาพรวมอยู่ระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการประเมินผลทางเลือก ด้านการรับรู้ปัญหา และด้านการตัดสินใจซื้ออยู่ในระดับมากที่สุด และปัจจัยการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยการตลาด 4 ด้าน คือ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และด้านการส่งเสริมการขาย มีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมของประชาชนในกรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[ix]

ชัยวัฒน์ พิทักษ์รักธรรม (2558) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ สำหรับปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านพนักงาน ด้านกระบวนการและด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ในบางประเด็นเท่านั้น[x]

สุนทรา พงษ์ภักดี (2558) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยในการเลือกซื้อคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ปัจจัย โดยเรียงลำดับความสำคัญมากที่สุดไปหาน้อย ดังนี้ 1) ปัจจัยด้านทำเลและที่ตั้งโครงการ โดยให้พิจารณาจากทำเลที่ตั้งสะดวกสบายในการเดินทาง 2) ปัจจัยด้านกายภาพ โดยพิจารณาจากคุณประโยชน์ในการใช้งาน เช่น การออกแบบแปลนห้องขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในห้อง เป็นต้น 3) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม โดยพิจารณาจากภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมภายในโครงการ 4) ปัจจัยด้านภาพลักษณ์ของบริษัท โดยให้ความสำคัญกับเรื่องตราสินค้า และชื่อเสียงของบริษัท ทำให้มั่นใจในคุณภาพ การบริการ และการรับประกันของโครงการ 5) ปัจจัยด้านราคา โดยพิจารณาจากราคาขายมีความเหมาะสมกับคุณภาพโดยรวมของโครงการ และ 6) ปัจจัยด้านกลยุทธ์ทางการตลาด[xi]


[i] พัชราภรณ์ เมธีการย์. (2561). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของธุรกิจการจำหน่ายเครื่องสำอางผ่านเฟซบุ๊ก. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

[ii] ปริยวิศว์ ชูเชิด. (2558). ปัจจัยความสัมพันธ์ส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์.

[iii] มณีรัตน์ รัตนพันธ์. (2558). ปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประเทศไทย. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยหาดใหญ่.

[iv] เขมขวัญ สุดดี. (2557). กระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชาวไทยต่อการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านทางเฟซบุ๊ก. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[v] ปัทมาพร คัมภีระ. (2557). พฟติกรรมการซื้อเครื่องสำอางผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กของนักศึกษาหญิงในเขตกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[vi] ปุลณัช เดชมานนท์. (2556). การตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านสื่อเครือข่ายออนไลน์ในช่วงเวลาจำกัด. ภาคนิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

[vii] นัทธมน เดชประภัสสร. (2558). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางอินเทอร์เน็ต. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[viii] ปานรวี ธนกิจรุ่งทวี และสุพาดา สิริกุตตา. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อแบบฉับพลันของผลิตภัณฑ์กูลิโกะของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร http://kowdum.com/article/fileattachs/27072021114039_f_0.pdf

[ix] นฤตย์อร ศรีคงแก้ว. (2559ก). ความรู้เกี่ยวกับคอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์.

[x]ชัยวัฒน์ พิทักษณ์รักธรรม. (2558). ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภค. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร.

[xi] สุนทรา พงษ์ภักดี. (2558). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี (Super Luxury) ริมแม่น้อเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *