แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยประชากรศาสตร์ (2)

กัลยกร หุนาปเทศ (2555) ศึกษาเรื่อง การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษา บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 31 – 35 ปี มีระดับการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรี และมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 25,001 – 35,000 บาท ในส่วนของพฤติกรรมการซื้อนั้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีความเห็นว่า นิยมซื้อห้องพักแบบ 1 ห้องนอน มีขนาดพื้นที่ประมาณ 35 – 45 ตารางเมตร ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อใช้พักอาศัยจริง แต่สำหรับคอนโดมิเนียมแบบ 2 ห้องนอนที่มีขนาดพื้นที่มากกว่า 60 ตารางเมตร ผู้ซื้อมักเป็นชาวต่างชาติหรือซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรมากกว่า โดยเหตุผลในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม 3 อันดับแรก คือ ใกล้ที่ทำงาน เดินทางสะดวก และสภาพแวดล้อมของโครงการ[i]

ปุลณัช เดชมานนท์ (2556) ศึกษาเรื่อง การตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ในช่วงเวลาจำกัด พบว่า อายุที่มีผลต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดทุกด้าน ส่วนอาชีพมีผลต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด ด้านสถานที่และด้านการส่งเสริมการขาย รายได้เฉลี่ยต่อเดือนมีผลต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด ด้านราคา ด้านสถานที่ และด้านการส่งเสริมการขาย เพราะความสะดวกในการรับสินค้า[ii]

วันดี รัตนกายแก้ว (2554) ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมการซื้อสินค้าในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก : กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร พบว่า เพศ อายุ สถานภาพสมรส รายได้ อาชีพ แตกต่างกัน ความสำคัญต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดต่างกัน แต่ระดับการศึกษาต่างกัน ให้ความสำคัญต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ขายสินค้าในเครือข่ายสังคมออนไลน์ควรพัฒนากลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาดให้เหมาะสมและสามารถตอบสนองความต้องการที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค และ

  1. อายุ รายได้ และอาชีพ ต่างให้ความสำคัญที่ไม่แตกต่างกันกับปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดด้านบุคคล[iii]
  2. เพศ อายุ การศึกษา รายได้และอาชีพต่างให้ความสำคัญที่ไม่แตกต่างกันกับปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด ด้านกระบวนการ[iv]

ปัทมพร คัมภีระ (2558) ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กของนักศึกษาหญิงในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลด้านอายุ และระดับการศึกษาต่างกัน มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กของนักศึกษาหญิงในเขตกรุงเทพมหานครที่แตกต่างกัน[v]

ปัจจัยประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียม[vi] พบว่า

  1. ปัจจัยประชากรศาสตร์ ด้านเพศ พบว่า เพศชาย และเพศหญิง ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียม แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า เพศเป็นปัจจัยที่กำหนดความต้องการซื้อคอนโดมิเนียม เพราะไม่ว่าเพศชาย หรือหญิง ต่างก็มีความต้องการที่อยู่อาศัยเหมือน ๆ กัน เช่น เพื่อพักผ่อนหรือเพื่อทำให้การเดินทางสะดวก เป็นต้น
  2. ปัจจัยประชากรศาสตร์ ด้านอายุ พบว่า อายุที่แตกต่างกัน มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า อายุเป็นปัจจัยที่กำหนดความต้องการซื้อคอนโดมิเนียม อาจเนื่องมาจากประชาชนที่มีอายุเริ่มตั้งแต่น้อยกว่า 25 ปี ถึง 45 ปี ขึ้น ซึ่งอายุดังกล่าวมีทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ การตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมย่อมแตกต่างกันด้วยเช่นกัน
  3. ปัจจัยประชากรศาสตร์ ด้านสถานภาพ พบว่า สถานภาพที่แตกต่างกัน ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า สถานภาพไม่ได้เป็นปัจจัยที่กำหนดความต้องการซื้อคอนโดมิเนียม อาจเนื่องมาจาก ประชาชนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงของผู้บริโภคในเขตนนทบุรี เพราะไม่มีเวลาในการดูแลที่อยู่อาศัยมากนัก ประสบปัญหาการจราจรที่ติดขัด และใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบคล้าย ๆ กัน ส่งผลให้สถานภาพที่แตกต่างกันไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียม
  4. ปัจจัยประชากรศาสตร์ ด้านระดับการศึกษา พบว่า ระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า ระดับการศึกษาไม่ได้เป็นปัจจัยที่กำหนดความต้องการซื้อคอนโดมิเนียม
  5. ปัจจัยประชากรศาสตร์ ด้านรายได้ พบว่า รายได้ที่แตกต่างกัน ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในการศึกษานี้ ซื้อคอนโดมิเนียม เนื่องจาก อยู่ใกล้ที่ทำงานและเป็นห้องขนาดเล็ก ซึ่งเป็นทำเลและขนาดที่เป็นที่สใจของกลุ่มคนวัยทำงานที่มีรายได้ต่อเดือน  
  6. ปัจจัยประชากรศาสตร์ ด้านงบประมาณในการซื้อคอนโดมิเนียม พบว่า งบประมาณในการซื้อที่แตกต่างกัน ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมที่แตกต่างกัน

นฤตย์อร ศรีคงแก้ว (2559) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมของประชาชนในกรุงเทพมหานคร พบว่า การเปรียบเทียบสถานภาพส่วนบุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียม พบว่า เพศ อายุ สถานภาพ สมรส อาชีพ รายได้ ของประชาชนต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[vii]

สมฤทัย ผุยวรรณ (2556) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางสายสีน้ำเงินของผู้บริโภคในเขตฝั่งธนบุรี พบว่า ผู้บริโภคที่มีอายุ อาชีพ และรายได้ต่อเดือนต่างกัน มีการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในด้านการส่งเสริมการตลาดแตกต่างกัน ส่วนผู้บริโภคที่มีสถาภาพต่างกันมีการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมในด้านช่องทางการจัดจำหน่ายแตกต่างกัน แต่ผู้บริโภคที่มีเพศ และระดับการศึกษาต่างกัน มีการตัดสินใจเลือกชอบคอนโดมิเนียมไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ 0.05 และลักษณะทางประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือน มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05[viii]


[i] กัลป์ยกร หุนาปเทศ. (2555). การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษา บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน). การศึกษาค้นคว้าอิสระ (บธ.ม.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์.

[ii] ปุลณัช เดชมานนท์. (2556). การตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านสื่อเครือข่ายออนไลน์ในช่วงเวลาจำกัด. ภาคนิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

[iii] วันดี รัตนกายแก้ว. (2554). พฤติกรรมการซื้อสินค้าในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก : กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

[iv] วันดี รัตนกายแก้ว. (2554). พฤติกรรมการซื้อสินค้าในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก : กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

[v] ปัทมาพร คัมภีระ. (2557). พฟติกรรมการซื้อเครื่องสำอางผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กของนักศึกษาหญิงในเขตกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

[vi] สุภารัตน์ คามบุตร. (2562). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงของผู้บริโภคในเขตนนทบุรี. ภาคนิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์.

[vii] นฤตย์อร ศรีคงแก้ว. (2559ก). ความรู้เกี่ยวกับคอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์.

[viii] สมฤทัย ผุยวรรณ์. (2556). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของผู้บริโภคในเขตฝั่งธนบุรี. สารนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (การจัดการทั่วไป) , มหาวิทยาลัยสยาม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *